รีเซต

จริงหรือไม่? นอนตะแคงเล่นมือถือ จะทำให้สายตาเอียง

จริงหรือไม่? นอนตะแคงเล่นมือถือ จะทำให้สายตาเอียง
TNN ช่อง16
23 พฤษภาคม 2565 ( 18:17 )
127

วันนี้( 23 พ.ค.65) ตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูลในประเด็นเรื่องหากนอนตะแคงเล่นมือถือ จะทำให้สายตาเอียง ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยโรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขพบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ

ทางโรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่า การนอนตะแคงเล่นโทรศัพท์มือถือหรืออ่านหนังสือ ไม่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดสายตาเอียง ซึ่งสายตาเอียงเกิดจากค่ากำลังการหักเหของลูกตาในแต่ละแนวไม่เท่ากัน โดยสาเหตุหลักเกิดจากค่าความโค้งของกระจกตา เช่น ความโค้งของกระจกตาในแนวตั้งไม่เท่ากับความโค้งในแนวนอน ทำให้เมื่อแสงเข้าสู่ดวงตา แสงจะเกิดการหักเหและโฟกัสมากกว่า 1 ตำแหน่งที่จอรับภาพ อาการของสายตาเอียง คือ เห็นภาพไม่ชัด เกิดเงาซ้อน มักมีการเข้าใจผิดว่าผู้ที่มีสายตาเอียงจะเห็นภาพบิด เอียง เช่น เห็นไม้บรรทัดเอียงเบี้ยว 

ซึ่งอาการนี้ไม่ใช่อาการของสายตาเอียง อย่างไรก็ตาม การนอนตะแคงเล่นโทรศัพท์มือถือหรืออ่านหนังสือมีผลเสีย คือ เมื่ออยู่ในท่าทางลักษณะนี้นาน ๆ จะเกิดการเกร็งกล้ามเนื้อคอ หลัง แขน ส่งผลให้เกิดการอักเสบของกระดูกคอ เส้นเอ็น กล้ามเนื้อ ซึ่งการใช้โทรศัพท์มือถือนาน ๆ ไม่ว่าในท่าทางใดก็ตามจะทำให้เกิดอาการล้าตา เมื่อยตา ตาพร่า เนื่องจากการใช้โทรศัพท์มือถือเป็นการใช้สายตาในระยะใกล้เป็นเวลานาน อาจมีอาการตาแห้ง แสบตา เคืองตา ตาแดง ปวดรอบกระบอกตา ตาพร่ามัว ดังนั้นวิธีการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพเมื่อต้องใช้โทรศัพท์มือถือ คือ ใช้เท่าที่จำเป็น อยู่ในท่าทางที่เหมาะสม พักสายตาทุก 15-20 นาที หากมีอาการทางตาที่ผิดปกติควรปรึกษาจักษุแพทย์

ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากโรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.dms.go.th หรือโทร 02 5906000

บทสรุปของเรื่องนี้คือ : การนอนตะแคงเล่นโทรศัพท์มือถือหรืออ่านหนังสือ ไม่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดสายตาเอียง ซึ่งสายตาเอียงเกิดจากค่ากำลังการหักเหของลูกตาในแต่ละแนวไม่เท่ากัน โดยสาเหตุหลักเกิดจากค่าความโค้งของกระจกตา



ที่มา ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม

ภาพจาก AFP

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง