รีเซต

สงครามคลังอาวุธนิวเคลียร์ เมื่อจีน ‘ปรับ’ คลังอาวุธให้ทันสหรัฐฯ พร้อมเตรียมรับมือหากเกิดการจู่โจม

สงครามคลังอาวุธนิวเคลียร์ เมื่อจีน ‘ปรับ’ คลังอาวุธให้ทันสหรัฐฯ พร้อมเตรียมรับมือหากเกิดการจู่โจม
TNN ช่อง16
20 ตุลาคม 2564 ( 18:31 )
165
สงครามคลังอาวุธนิวเคลียร์ เมื่อจีน ‘ปรับ’ คลังอาวุธให้ทันสหรัฐฯ พร้อมเตรียมรับมือหากเกิดการจู่โจม

จีน” ยังคงเป็นความกังวลของสหรัฐฯ


ผู้สังเกตการณ์ชาวจีน เผยว่า จีนกำลังเสริมคลังอาวุธนิวเคลียร์ เพื่อให้ทัดเทียมกับสหรัฐฯ และยังรับประกันว่า จีนจะรักษาระดับการป้องปรามขั้นต่ำไว้ได้ด้วยอาวุธพลังทำลายล้างสูง


นับเป็นการตอบโต้ของจีน หลังเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ระบุว่า การพัฒนาขีปนาวุธของจีนเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่ง โดยนักวิเคราะห์ เผยว่า กลยุทธ์การป้องปรามของจีน มีการพัฒนาและไม่เหมือนกับเมื่อสามสิบปีก่อน


นักการทูตชาวอเมริกันคนหนึ่ง กล่าวว่า สหรัฐฯ เองก็กำลังตอบสนองต่อข่าวการทดสอบขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิก ในทางทหารของทั้งจีนและรัสเซียเช่นกัน แม้ว่าจีนจะออกมาปฏิเสธภายหลังว่า ไม่ได้ทดสอบก็ตาม


กลยุทธ์การป้องปรามนิวเคลียร์


เน็ด ไพรซ์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวเมื่อวันอังคาร (19 ตุลาคม) ว่า จีนกำลังหันเหจากกลยุทธ์การป้องปรามนิวเคลียร์ขั้นต่ำ มาเป็นระดับสูงมากขึ้น


โดยมีการทดสอบขีปนาวุธนำวิถี 250 ครั้ง ระหว่างเดือนมกราคมถึงกันยายนที่ผ่านมา รวมถึงการเคลื่อนไหวด้านอื่น ๆ ด้วย เช่น การพัฒนาระบบส่งกำลัง


“การพัฒนาเหล่านี้ ตอกย้ำว่า จีนกำลังเบี่ยงเบนไปจากยุทธศาสตร์นิวเคลียร์ที่มีมายาวนานหลายทศวรรษ” ไพรซ์กล่าว


ทั้งนี้ การป้องปรามขั้นต่ำในกลยุทธ์ด้านนิวเคลียร์  หมายถึง การไม่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์เกินความจำเป็น เพื่อยับยั้งการโจมตีด้วยนิวเคลียร์จากฝ่ายตรงข้าม


เร่งเครื่องก้าวสู่การเป็นชาติมหาอำนาจ


หวัง เหวินปิน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน กล่าวว่า การเสริมกำลังทางทหาร มีขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ในการป้องกันเท่านั้น และจีนได้รักษาระดับคลังอาวุธนิวเคลียร์ไว้ที่ระดับต่ำสุดแล้ว


“ตราบใดที่ประเทศอื่น ๆ ไม่คุกคาม รวมถึงทำลายอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดน ก็จะไม่ถูกคุกคามจากการป้องกันประเทศของจีน” เขากล่าว พร้อมเสริมว่า สหรัฐฯ ใช้เงินมหาศาลไปกับอาวุธนิวเคลียร์


ด้าน ชี หยินหง ผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องกันและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของจีน กล่าวว่า จีนต้องรักษา “การป้องปรามขั้นต่ำ” ของตน ให้สอดคล้องกับระบบป้องกันขีปนาวุธของสหรัฐฯ 


“การป้องปรามขั้นต่ำที่จำเป็นเมื่อ 30 ปีที่แล้ว แตกต่างจากในยุคปัจจุบัน” ชีกล่าว และว่า “คลังอาวุธนิวเคลียร์ของจีน ยังต่ำกว่าสหรัฐฯ อย่างมีนัยสำคัญ”


ทั้งนี้ สหรัฐฯ ได้ติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธข้ามทวีปในภูมิภาค เช่น ระบบป้องกันขีปนาวุธ THAAD ในเกาหลีใต้ ซึ่งจุดชนวนให้เกิดการประท้วงจากจีน


สงครามอาวุธนิวเคลียร์ยังไม่ทุเลา


เมื่อวันเสาร์ (16 ตุลาคม) Financial Times รายงานว่า จีนทำการทดสอบระบบขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียง และมีศักยภาพติดหัวรบนิวเคลียร์เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา


ขณะที่ กระทรวงการต่างประเทศของจีน ปฏิเสธว่า ไม่ใช่การทดสอบขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียง เป็นเพียงการทดสอบยานพาหนะที่ใช้งานในอวกาศ เพื่อตรวจสอบความสามารถในการนำเทคโนโลยีกลับมาใช้ใหม่เท่านั้น


โรเบิร์ต วูด เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ กล่าวในการประชุมเรื่องการปลดอาวุธว่า สหรัฐฯ กังวลเกี่ยวกับการใช้ขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกของจีนและรัสเซีย


อย่างไรก็ตาม รายงานระบุไว้ว่า จีนมีหัวรบนิวเคลียร์ 350 ลูก, รัสเซีย 4,630 ลูก และสหรัฐฯ 3,750 ลูก


เร่งพัฒนาให้ทัดเทียมคู่แข่ง


ความกังวลของสหรัฐฯ เกี่ยวกับความสามารถด้านนิวเคลียร์และขีปนาวุธของจีนนั้น ทวีความรุนแรงขึ้น ก่อนที่จีนจะสามารถใช้ขีปนาวุธนิวเคลียร์แบบไฮเปอร์โซนิกได้เสียอีก


ในรายงานฉบับล่าสุด กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ กล่าวว่า จีนอาจพัฒนาความสามารถทางทหาร ได้เหนือกว่าสหรัฐฯ ในด้านการพัฒนาขีปนาวุธ และมีแนวโน้มว่า จะเพิ่มจำนวนหัวรบนิวเคลียร์ในคลังเป็นสองเท่าใน 10 ปีข้างหน้า


อู๋ หลี่เฉียง ผู้เชี่ยวชาญด้านการควบคุมอาวุธ กล่าวว่า สหรัฐฯ ไม่ควร “แปลกใจ” ที่เห็นจีนและรัสเซีย ใช้มาตรการต่อต้านระบบป้องกันขีปนาวุธ


“สหรัฐฯ กล่าวซ้ำ ๆ ว่าจะไม่ยอมรับข้อจำกัดใด ๆ เกี่ยวกับระบบป้องกันขีปนาวุธของตน” เขากล่าว “ที่จริงแล้ว จีนกังวลเกี่ยวกับการนำระบบดังกล่าวไปใช้ในอนาคต จึงจำเป็นต้องเตรียมการล่วงหน้า”


เจรจาอาวุธนิวเคลียร์จีน-สหรัฐฯ ยังไม่คืบ


แนวความคิดเรื่องช่องโหว่ร่วมกัน ถูกมองว่าเป็นการยับยั้งไม่ให้สหรัฐฯ และอดีตสหภาพโซเวียต ทำสงครามนิวเคลียร์ในช่วงสงครามเย็น โดยยอมรับว่า มีความเปราะบางต่อกองกำลังนิวเคลียร์ของอีกฝ่าย


อู๋ กล่าวว่า อุปสรรคสำคัญในการจัดให้มีการเจรจาควบคุมอาวุธนิวเคลียร์ ระหว่างจีนและสหรัฐฯ คือ สหรัฐฯ ไม่ยอมลดคลังอาวุธให้เหลือระดับเดียวกันกับจีน 


“หากสหรัฐฯ กังวลเรื่องการพัฒนานิวเคลียร์ของจีนจริง ๆ ทำไมสหรัฐฯ ถึงไม่ยอมลดคลังอาวุธ” เขากล่าวว่า “มีเพียงการลดคลังอาวุธเท่านั้น ที่ทำให้การเจรจาควบคุมอาวุธนิวเคลียร์เกิดขึ้นได้”


“เป็นความจริงที่ว่า พลังงานนิวเคลียร์ของจีนกำลังเพิ่มขึ้น เนื่องจากสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ทำให้ความต้องการในด้านนี้พุ่งสูงขึ้น” อู๋กล่าว

—————

เรื่อง: พัชรี จันทร์แรม

ภาพ: Chinese Academy of Aerospace Aerodynamics

ข่าวที่เกี่ยวข้อง