เปิด 5 มาตรการแพทย์-สาธารณสุข รับ "ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์" พร้อมแผนเผชิญเหตุระบาด
รองโฆษกรัฐบาล เปิด 5 มาตรการทางการแพทย์-สาธารณสุข รองรับ "ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์" พร้อมแผนเผชิญเหตุระบาด 5 ระดับ
เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ไตรศุลี ไตรสรกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันที่ 1 ก.ค. 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม พร้อมคณะ ลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ตเพื่อติดตามความพร้อมของมาตรการด้านต่างๆ ในการรองรับการเปิดรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ตามโมเดล "ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์" ซึ่งระหว่างการประชุมระหว่างนายกรัฐมนตรีพร้อมคณะกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง นพ.พิทักษ์พล บุณยมาลิก ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 11 ได้รายงานถึงความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุข หากดำเนินการได้ราบรื่น ประสบความสำเร็จจะเป็นแนวทางการการดำเนินการด้านสาธารณสุขสำหรับพื้นที่ที่จะเปิดรับนักท่องเที่ยวอื่นๆ ในประเทศต่อไป ซึ่งจะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับทั้งนักท่องเที่ยวและประชาชน
น.ส.ไตรศุลี กล่าวต่อว่า มาตรการทางการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อรองรับ "ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์" ประกอบด้วย 5 มาตรการ ประกอบด้วย มาตรการที่ 1 ด้านวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้กับประชาชน โดยรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขได้จัดสรรวัคซีนเพื่อฉีดให้กับประชาชนชาวภูเก็ตที่มีอยู่ประมาณ 540,000 คน รวมถึงประชากรแฝง กลุ่มแรงงานที่อพยพเข้ามาทำงาน ทั้งถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมาย ซึ่งภายในสิ้นเดือน มิ.ย. จะฉีดได้ตามเป้าหมายคือร้อยละ 70 ซึ่งเป็นเป้าหมายเบื้องต้นก่อนเปิดเมือง
มาตรการที่ 2 การคัดกรองคนเข้าเมือง โดยผู้ที่มาจากต่างจังหวัดและพื้นที่เสี่ยงทั้งด่านอากาศ ด่านบก และด่านท่าเรือ โดยกระทรวงสาธารณสุขร่วมกับ ฝ่ายความมั่นคง ซึ่งผู้เดินทางเข้าจังหวัดภูเก็ต จะต้องได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มหรือมีผลตรวจคัดกรองโควิด-19 ในเวลา 72 ชั่วโมง ซึ่งอาจปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของประเทศ หรือขึ้นอยู่กับคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด เพื่อป้องกันการเล็ดลอดของเชื้อเข้ามาในจังหวัวภูเก็ต
มาตรการที่ 3 การเฝ้าระวังเชิงรุกในกลุ่มเสี่ยงและชุมชนเสี่ยง โดยเฉพาะชุมชนที่มีผู้ได้รับวัคซีนน้อยกว่าเกณฑ์ เช่น ในโรงเรียน ซึ่ง จ.ภูเก็ต มีโรงเรียนจำนวน 12 แห่ง มีขนาดตั้งแต่ 500 ถึง 2,000 กว่าคน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดได้คัดกรองในระบบ Sentinel Surveillance สุ่มตรวจต่อเนื่องอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 คร้ัง
มาตรการที่ 4 มีความพร้อมในการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อตรวจนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับวัคซีน ตามเงื่อนไขหรือมีผลตรวจเชื้อโควิด-19 เป็นเวลา 72 ชั่วโมง ที่เดินทางมาถึงประเทศไทยแล้วยังคงต้องตรวจหาเชื้อซ้ำ อีก 3 คร้ังคือวันแรกที่เดินทางมาถึง วันที่ 3-5 และวันที่ 13-14 โดยห้องปฏิบัติการสามารถตรวจหาเชื้อได้ประมาณวันละ 1,500 ตัวอย่าง และจะประสานกับเอกชนเพิ่มปริมาณตรวจหาเชื้อ สามารถตรวจได้ถึงวันละ 3,000 คน นอกจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะช่วยสนับสนุนในด้านเทคนิคในการตรวจหาเชื้อกลายพันธุ์ได้ภายใน 24 ชั่วโมง
มาตรการที่ 5 ด้านการรักษาพยาบาล โดยกระทรวงสาธารณสุขมีข้อสั่งการด้านการเตรียมเตียงและห้องไอซียู รองรับผู้ป่วยประสิทธิภาพสูงเทียบเท่าโรงพยาบาลขนาดใหญ่และCohort ICU เพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการและมีความพร้อมในการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามได้ภายใน 48 ชั่วโมง
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ในส่วนของแผนเผชิญเหตุกรณีเกิดการแพร่ระบาดขึ้นนั้นจะพิจารณาดำเนินการตั้งแต่ปรับลดกิจกรรมลง, กำหนดให้เที่ยวในเส้นทางที่กำหนด, ให้ทำกิจกรรมในพื้นที่ที่พัก ไปจนถึงยุติโครงการ ตามเงื่อนไขสถานการณ์ 5 ระดับ ได้แก่ 1.กรณีที่พบผู้ติดเชื้อจำนวนน้อยกว่า 90 รายต่อสัปดาห์ 2.ลักษณะการกระจายของโรคทั้ง 3 อำเภอและมากกว่า 6 ตำบล 3.มีผู้ติดเชื้อครองเตียงมากกว่า 80% ของศักยภาพของจังหวัด 4.มีการระบาดมากกว่า 3 คลัสเตอร์หรือมีการระบาดในวงกว้างหรือหาความเชื่อมโยงไม่ได้ และ 5.พบการระบาดของเชื้อกลายพันธุ์แบบวงกว้าง ควบคุมไม่ได้
น.ส.ไตรศุลี กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ได้มีการเสริมศักยภาพทางการแพทย์และสาธารณสุขให้มีความพร้อมทุกด้าน ซึ่งปัจจุบันในส่วนเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด-19 มีดังนี้ 1) เตียงรับผู้ป่วยวิกฤต สีแดง เขตสุขภาพที่11 มีจำนวนทั้งสิ้น 89 เตียง ในจังหวัดภูเก็ตมี 26 เตียง ใช้ไป 9 คงเหลือ 17 เตียง 2) เตียงรับผู้ป่วยอาการปานกลาง สีเหลือง เขตสุขภาพที่ 11 มีจำนวนทั้งสิ้น 2,092 เตียง ในจังหวัดภูเก็ตมี 195 เตียง ใช้ไป 27 คงเหลือ 168 เตียง 3) เตียงรับผู้ป่วยอาการน้อย สีเขียว เขตสุขภาพที่ 11 มีจำนวนทั้งสิ้น 2,058 เตียง โดยในจังหวัดภูเก็ตมี 435 เตียง ใช้ไป 15 คงเหลือ 420 เตียง
ทางด้านเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ ทุกรายการได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงสาธารณสุขทำให้มีสต๊อกได้เกิน 1 เดือน ยารักษาโควิด-19 ฟาวิพิราเวียร์ 200 มิลลิกรัม มีการตรวจเช็คแบบเรียลไทม์ ซึ่งปัจจุบันภูเก็ตมีการจ่ายยาเพื่อรักษา 50 เม็ด/วัน ปัจจุบันคงเหลือ 3,772 เม็ด แต่ในส่วนของเขตสุขภาพที่ 11 ทั้งหมดมีการจ่าย 1,020 เม็ด/วัน คงเหลือ 21,864 เม็ด
ทางด้านศักยภาพของทีมสอบสวนโรค ในจังหวัดภูเก็ตมี 23 ทีม ขณะที่ทั้งเขตสุขภาพที่ 11 มี 120 ทีม ขณะที่ศักยภาพในการตรวจทางห้องปฏิบัติการ มีศูนย์บริการนักท่องเที่ยวตรวจ RT-PCR นอกโรงพยาบาล จำนวน 5 จุด ประกอบด้วย คลินิกเวชกรรมภูเก็ตไม้ขาว(โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต) คลินิกเวชกรรมลากูน่าภูเก็ต (โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต) ศูนย์การค้าเซนทรัลภูเก็ต(โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต) ศูนย์การค้าจังซีลอน(โรงพยาบาลกรุงเทพสิริโรจน์) และกะตะเซ็นเตอร์ (โรงพยาบาลมิชชั่นภูเก็ต)