ทดสอบรถไฟกรุงเทพ- เวียงจันทน์ คึกคัก หวังกระตุ้นท่องเที่ยว
หลังจากที่การรถไฟแห่งประเทศไทย จะมีการเปิดให้บริการขบวนรถโดยสารระหว่างประเทศกรุงเทพ-เวียงจันทน์ เที่ยวแรกในวันที่ 19 ก.ค.2567 เชื่อมต่อระหว่างสองประเทศ ไทย- ลาว โดยในวันนี้ (13 ก.ค.67) ได้มีการทดสอบการเดินรถและประชาสัมพันธ์การเดินขบวนรถระหว่าประเทศ เส้นทางกรุงเทพอภิวัฒน์-เวียงจันทน์ (คำสะหวาด) นายสมภพ สมิตะสิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย, นายชาญชัย คงทัน รองผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย, พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน บริษัททัวร์ท่องเที่ยว ได้ร่วมกันเดินทางไปกับขบวนทดสอบนี้ด้วย ทุกคนได้ขึ้นรถไฟที่สถานีรถไฟหนองคายพร้อมหนังสือเดินทางเดินทางมุ่งหน้าไปยังสถานีคำสะหวาด เวียงจันทน์ สปป.ลาว
สำหรับขบวนรถโดยสารระหว่างประเทศ กรุงเทพ- เวียงจันทน์ เริ่มจำหน่ายตั๋วแล้วตั้งแต่วันที่ 10 ก.ค.67 ที่ผ่านมา ขบวนแรกจะให้บริการในวันที่ 19 ก.ค.นี้ เปิดบริการไป-กลับ ประกอบด้วยรถธรรมดาชั้น 3 (พัดลม) มีจำนวน 152 นั่งที่ ราคาตั๋ว 281 บาท, รถนั่งปรับอากาศ ชั้น 2 จำนวน 64 ที่นั่ง ราคา 574 บาท, รถนั่งและรถนอนปรับอากาศ ชั้น 2 จำนวน 30 ที่นั่ง เตียงบนราคา 784 บาท เตียงล่างราคา 874 บาท โดยจะพ่วงไปกับขบวนรถเร็วที่ 133/134 ซึ่งราคานี้เป็นราคาต้นทางสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์เป็นราคาสูงสุด หากขึ้นสถานีอื่นรายทางราคาจะลดหลั่นลงมาตามระยะทาง และยังเปิดให้บริการเส้นทางอุดรธานี-เวียงจันทน์(คำสะหวาด)-อุดรธานี ไป-กลับ อีก 2 ขบวน เป็นขบวนรถเร็ว 147/148 รวมเป็น 4 ขบวนต่อวัน ราคาตั๋วอุดรธานี-เวียงจันทน์ รถพัดลม 100 บาท รถแอร์ 200 บาท, อุดรธานี-หนองคาย รถพัดลม 30 บาท รถแอร์ 80 บาท, หนองคาย-เวียงจันทน์ รถพัดลม 70 บาท รถแอร์ 120 บาท
ประชาชนที่สนใจเดินทางขบวนรถโดยสารระหว่างประเทศกรุงเทพ-เวียงจันทน์ สามารถติดต่อซื้อตั๋วโดยสารและสำรองที่นั่งล่วงหน้าสูงสุด 180 วัน ที่สถานีรถไฟทุกแห่งทั่วประเทศ ซึ่งผู้โดยสารจะต้องมีหนังสือเดินทาง หรือ หนังสือผ่านแดน เพื่อใช้ในการทำพิธีการทางศุลกากรและตรวจคนเข้าเมือง ที่สถานีหนองคายและสถานีเวียงจันทน์(คำสะหวาด) ก่อนการเดินทางข้ามประเทศทุกครั้ง ส่วนนักท่องเที่ยว สมาคมผู้ประกอบการขนส่งที่เวียงจันทน์ จะมีการจัดรถโดยสารรับ-ส่ง อำนวยความสะดวกในการเดินทางไปยังแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ด้วย
การเปิดเดินขบวนรถโดยสารระหว่างประเทศไทย – สปป.ลาว การรถไฟแห่งประเทศไทยมุ่งหวังอำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชนทั้งสองประเทศ ช่วยยกระดับระบบการขนส่งโลจิสติกส์ไทยให้กลายเป็นศูนย์กลางภูมิภาค ช่วยสนับสนุนการค้าชายแดนระหว่างไทย-ลาว ให้มีการขยายตัวมากขึ้น พร้อมขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยวในประเทศด้วย
ภาพข่าว ผู้สื่อข่าวจังหวัดหนองคาย