รีเซต

‘ทุเรียน-มังคุด’ ดัดหลังไวรัส จีนชิงสั่ง-ราคาพุ่ง

‘ทุเรียน-มังคุด’ ดัดหลังไวรัส จีนชิงสั่ง-ราคาพุ่ง
มติชน
3 พฤษภาคม 2563 ( 07:59 )
986
4
‘ทุเรียน-มังคุด’ ดัดหลังไวรัส จีนชิงสั่ง-ราคาพุ่ง

‘ทุเรียน-มังคุด’ ดัดหลังไวรัส จีนชิงสั่ง-ราคาพุ่ง

ดัดหลังไวรัส – จากสถานการณ์ปัจจุบันที่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19 อย่างหนักโดยเฉพาะในช่วงต้นฤดูกาลผลผลิตผลไม้ส่งออกสำคัญคือ ทุเรียน และมังคุด ส่งผลทำให้เกษตรกรชาวสวน ผู้ประกอบการส่งออก เกิดความวิตกกังวลว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของผลไม้ไทย โดยเฉพาะตลาดใหญ่ที่สุดอย่างประเทศจีนต้นตอของไวรัสโควิด-19

แต่ภาพรวมจากตัวเลขการส่งออกผลไม้ โดยเฉพาะทุเรียนไปยังประเทศจีนปีนี้กลับไม่ได้เกิดผลกระทบอย่างที่หลายคนวิตกกังวล ซ้ำยังทำให้ ราคาทุเรียนหน้าสวนช่วงต้นฤดูกาลถีบตัวขึ้นสูงถึงกิโลกรัมละ 150 บาท อันเนื่องจากการแข่งขันทางการตลาดที่ผู้ประกอบการผลไม้ส่งออกบุกทำการตลาดโดยเข้าทำการซื้อขายโดยตรงกับชาวสวน

นายปิยะ สมัครพงศ์ เกษตรจังหวัดจันทบุรี เปิดเผยว่า ทุเรียน คาดว่าปีนี้จะให้ผลผลิตประมาณ 380,446 ตัน มังคุด คาดว่าปีนี้จะให้ผลผลิตประมาณ 146,375 ตัน โดยขณะนี้ผลผลิตทุเรียนออกสู่ตลาดแล้ว 43.88% ผลผลิตมังคุดออกสู่ตลาดแล้ว 27.81%

“ภาพรวมสถานการณ์ราคาผลผลิตผลไม้ที่เกษตรกรขายได้ในปีนี้ถือว่าได้ราคาดีกว่าทุกปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะทุเรียน ส่วนมังคุดอาจต้องเฝ้าระวังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส ที่อาจจะส่งผลต่อสภาพการผลิตผลไม้ในหลายด้าน เช่น การขาดแคลนแรงงาน การขนส่งสินค้า รวมไปถึงความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค ซึ่งทางสำนักงานเกษตรจังหวัดจันทบุรีจะดำเนินการวิเคราะห์และสรุปสถานการณ์โดยรวมต่อไป” นายปิยะกล่าว

นางทองคำ สิงขรณ์ ชาวสวนผลไม้ อ.มะขาม จ.จันทบุรี เปิดเผยว่า ผลผลิตผลไม้ในสวนปีนี้ราคาดีขึ้นกว่าทุกปีที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าจะมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส โดยเฉพาะทุเรียนตั้งแต่เริ่มฤดูกาลจนถึงปัจจุบัน ขายได้ราคาสูงเฉลี่ยกิโลกรัมละ 103-115 บาท โดยจะมีผู้มาเสนอราคารับซื้อกันถึงหน้าสวน ซึ่งแล้วแต่จะมีการตกลงราคา ส่วนที่ออกไปเร่ขายตามตลาดค้าส่งจะมีส่วนน้อย เนื่องจากมีพ่อค้าออกมาแย่งซื้อผลไม้กันตั้งแต่หน้าสวน ทำให้มีผลผลิตที่ไปถึงตลาดจะมีส่วนน้อย ทั้งนี้ ชาวจีนและชาวไทยเข้ามาเปิดล้งรับซื้อในพื้นที่จำนวนมากเพื่อให้ได้ผลไม้ส่งออก ประกอบกับยังมีกลุ่มผู้ประกอบการค้าผลไม้ในประเทศอย่างตลาดไทยและสี่มุมเมืองเข้ามาทำรับซื้อผลไม้จากชาวสวนด้วยเช่นกัน ทำให้มีการแข่งขันด้านราคาที่สูงกว่าทุกปี

นายวันชัย เจริญใจ เกษตรอำเภอเขาสมิง บอกว่า “วันนี้ล้งและลูกล้งที่มารับซื้อผลไม้ในจังหวัดตราดมาจากจังหวัดจันทบุรีเป็นหลัก ที่ จ.ตราด มีเพียง 5 แห่งที่มีกำลังรับซื้อไม่เพียงพอกับปริมาณผลไม้ของ จ.ตราด ที่มีมาก ซึ่งทุเรียนของ จ.ตราด ราคาดีอยู่ระหว่าง 100-120 บาท/กก.และยังมีความต้องการสูง เพราะประเทศจีนยังคงรับซื้อโดยไม่จำกัดจำนวน อีกทั้งทุเรียนค่อยๆ ทยอยออก อีกทั้งจีนยังเพิ่มด่านนำเข้าผลไม้เพิ่มขึ้นอีก 2 แห่ง วันนี้เกษตรกรที่ปลูกทุเรียนจึงเหมือนกับคนถูกหวยเพราะขายแต่ละครั้งมีเงิน 5-6 ล้าน/ปีทีเดียว ขณะที่มังคุดปีนี้น่าจะเป็นปีที่แย่เพราะมีผลผลิตล้นตลาด ซึ่งเพิ่มกว่าปีที่ผ่านมา 30% จึงทำให้ราคามังคุดตกลงต่อเนื่อง แต่หากเป็นมังคุดคัดมีผลใหญ่ราคาอยู่ระหว่าง 40-60 บาท/กก. แต่มังคุดคละจะได้ราคาเพียง 20-30 บาท/กก. ซึ่งมังคุดลูกจะเล็กเพราะอากาศร้อน มังคุดคุณภาพคงไม่น่ามีปัญหา แต่มังคุดลูกเล็กอาจจะต้องแก้ไขให้ดีด้วยการส่งออกไปยังนอกพื้นที่ผลิต การส่งจำหน่ายออนไลน์น่าจะเป็นทางออกที่ดี เพราะทางสหกรณ์ตราดได้ประสานงานกับผู้ซื้อไปบ้างแล้ว

“สำนักงานเกษตรจังหวัดตราดสนับสนุนกล่องบรรจุทุเรียนขนาดบรรจุ 2 ผล/กล่อง จำนวน 1,800 กล่อง ให้แก่เกษตรกรที่ขายผลผลิตออนไลน์ และสนับสนุนกล่องใส่ผลไม้ขนาดบรรจุประมาณ 5 กิโลกรัม จำนวน 2,500 กล่อง (อยู่ระหว่างจัดซื้อจัดจ้าง) สนับสนุนให้แก่เกษตรกรที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP รวมทั้งสนับสนุนตะกร้าหูเหล็ก จำนวน 800 ใบ (อยู่ระหว่างจัดซื้อจัดจ้าง) สนับสนุนให้แก่กลุ่มประมูลมังคุด ขณะที่สำนักงานเกษตรจังหวัดตราดสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนจากกองทุนพัฒนาสหกรณ์ 22 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 แก่สหกรณ์ผู้รวบรวมผลผลิตผลไม้สหกรณ์ จำนวน 5 แห่ง รวม 333.14 ตัน” นายวันชัยระบุ

นายวุฒิพงศ์ รัตนมณฑ์ ประธานกรรมการหอการค้าจังหวัดตราด กล่าวว่า ปัจจุบันยังมีทางเลือกสำหรับเกษตรกรชาวสวนผลไม้ในการทำตลาดคือ ช่องทางตลาดออนไลน์ ซึ่งเกษตรกรควรปรับบทบาทของตนเองจากเดิมที่ทำการผลิตสินค้าเกษตรเพียงอย่างเดียว ควรหันมาใช้ช่องทางตลาดออนไลน์ในการจำหน่ายผลผลิต ทั้งเฟซบุ๊ก ไลน์ โดยเฉพาะผลไม้คุณภาพ ผลไม้ออร์แกนิค หรือผลไม้ที่ได้รับมาตรฐาน GAP จะได้เปรียบในการทำตลาด อย่างไรก็ตาม เนื่องจากปีนี้สภาพอากาศค่อนข้างร้อนจึงส่งผลกระทบต่อเรื่องคุณภาพของผลไม้และทำให้ผลไม้สุกได้ไวกว่าปีที่ผ่านมา ดังนั้นเกษตรกรที่สนใจทำตลาดออนไลน์เองจึงควรที่จะมีการเตรียมความพร้อมที่ดีโดยเฉพาะการคาดคะเนความสุกของผลไม้ให้พอดีสำหรับการบริโภคเมื่อส่งถึงมือลูกค้า

นายประพบ โกสุมสวัสดิ์ เจ้าของแผงทุเรียนประพบ เจ๊จันทร์ จ.จันทบุรี ที่เป็นล้งรายใหญ่ที่เข้ามารับซื้อทุเรียนที่ จ.ตราด เปิดเผยว่า ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมามีการแข่งขันซื้อทุเรียนจากล้งขนาดใหญ่ที่มีทุนหนาจากประเทศจีนที่มีเครือข่ายอยู่ในจันทบุรี ได้ออกไปรับซื้อถึงในสวนทุเรียน ทำให้ราคาทุเรียนสูงถึง 140 บาท/กก. แต่วันนี้ราคาลดลงเหลือ 90 บาท แต่ชาวสวนต่อรองไม่ให้ต่ำกว่า 100 บาท ถึง 120 บาท ทำให้ล้งที่เป็นคนไทยรับซื้อได้น้อยลง แต่ทุกวันทุเรียนที่ จ.ตราด มีจำนวน 1,000 ตัน เป็นอย่างน้อย

“ปีนี้การค้าทุเรียนส่งออกมีปัญหาการแข่งขันกันมาก โดยล้งจีนที่มีทุนหนาและร่วมมือกับล้งไทยเข้าไปกว้านซื้อทุเรียนแข่งกับล้งคนไทยที่มีทุนไม่มาก แต่เรามีความใกล้ชิดกับชาวสวนมากกว่าทำให้สามารถรับซื้อทุเรียนได้ดี อย่างไรก็ตาม หากล้งไทยได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากภาครัฐจะทำให้สู้ล้งจีนได้ แต่ก็มีปัญหาการขนส่งเพราะเป็นช่วงการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 การเดินทางมาตราดยากขึ้นและล่าช้าจากการตรวจคัดกรอง รวมทั้งการส่งออกไปยังประเทศจีนที่วันนี้การขนส่งทางอากาศยังไม่สามารถเดินทางไปได้รวดเร็ว แม้จะมีการขนส่งทางรถยนต์แต่ยังไม่ดีมากนักเพราะมีการตรวจสอบสูง” นายประพบกล่าว

อย่างน้อยการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ก็ไม่ได้กระทบต่อชาวสวนผลไม้ แต่ยังทำให้ผลไม้โดยเฉพาะ “ทุเรียน” มีราคาดี สามารถลืมตาอ้าปากในภาวะวิกฤตได้…

ข่าวที่เกี่ยวข้อง