รีเซต

นักวิจัยคิดค้นวัคซีนรักษา "โรคหอบหืด" พร้อมพัฒนาเพื่อใช้ในมนุษย์

นักวิจัยคิดค้นวัคซีนรักษา "โรคหอบหืด" พร้อมพัฒนาเพื่อใช้ในมนุษย์
TNN ช่อง16
18 พฤษภาคม 2564 ( 21:54 )
191

หอบหืด (Asthma) หนึ่งในโรคเรื้อรังที่เกิดขึ้นบ่อยกับเด็กและอาจเรื้อรังมาจนถึงวัยผู้ใหญ่ แม้จะมีรายงานถึงการเสียชีวิตไม่มาก แต่เมื่ออาการกำเริบก็ยากที่จะคาดเดาความรุนแรงได้ คงจะดีไม่น้อยหากสามารถรักษาโรคนี้ให้หายขาดได้ในผู้ป่วยทุกราย


นักวิจัยจากสถาบันวิจัยโรคติดเชื้อแห่งเมืองตูลูส ประเทศฝรั่งเศส ได้ทดลองวัคซีนเพื่อใช้ในการรักษาโรคหอบหืด โดยขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการทดลองกับสัตว์ แต่คาดว่าจะสามารถพัฒนาเพื่อนำมาใช้กับมนุษย์ได้ในที่สุด




เดิมการรักษาโรคหอบหืดให้ผู้ป่วยหายขาดจากโรค หรือมีอาการหอบหืดน้อยที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ นิยมใช้ยากลุ่ม Monoclonal antibody เพื่อป้องกันไม่ให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นรุนแรงจนเป็นเหตุให้หลอดลมตีบ และนำไปสู่โรคหอบหืดในที่สุด 


อย่างไรก็ตาม ยากลุ่ม Monoclonal antibody มีราคาค่อนข้างแพงและต้องรักษาอย่างต่อเนื่อง การพัฒนาวัคซีนจะช่วยลดระยะเวลาในการรักษา และมีผลในการป้องกันระยะยาว อย่างน้อยที่สุดคือจะช่วยลดอาการรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต หรือในบางรายอาจจะหายขาดจากหอบหืดไปเลยยิ่งดี


วัคซีนที่นักวิจัยพัฒนาขึ้นใช้สารผสมที่เรียกว่า ไคนอยด์ (Kinoid) มีฤทธิ์กระตุ้นการสร้างสารแอนติบอดีที่ช่วยทำลายสารกระตุ้นการอักเสบ ป้องกันไม่ให้เกิดการตอบสนองของภูมิคุ้มกันที่รุนแรงเกินไป 


ที่มาของภาพ https://www.sciencealert.com/experimental-asthma-vaccine-works-in-mice-gives-new-hope-to-human-patients 

 


จากการทดลองในหนู หลังจากฉีดวัคซีนไปแล้ว 6 สัปดาห์ หนูเหล่านี้มีแอนติบอดีต่อสารกระตุ้นการอักเสบกว่า 90% และเมื่อเวลาผ่านไป 1 ปี มีหนูจำนวน 60% ที่ยังมีปริมาณแอนติบอดีสูง 


ซึ่งในช่วงเวลาของการทดลอง นักวิจัยได้ใช้สารกระตุ้นจากไรฝุ่นกับหนู ซึ่งเป็นสารก่อภูมิแพ้ที่พบบ่อยในมนุษย์และมักกระตุ้นให้หอบหืดกำเริบ ปรากฏว่าแอนติบอดีจากวัคซีนสามารถกำจัดการกระตุ้นการอักเสบได้ และหนูเหล่านี้ไม่ได้แสดงอาการของโรคหอบหืดแต่อย่างใด


แม้จะได้ผลลัพธ์ที่ดีในหนูทดลอง แต่นักวิจัยยังคงต้องศึกษาและพัฒนาต่อไปก่อนนำมาใช้กับมนุษย์ ซึ่งหากวัคซีนให้ผลลัพธ์ที่ดีก็จะกลายเป็นอีกหนึ่งวิธีการรักษาที่มีประโยชน์มหาศาลต่อผู้ป่วยโรคหอบหืด


ขอขอบคุณข้อมูลจาก Science Alert


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง