รีเซต

โควิด-19 : ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารช่วยเสริมภูมิคุ้มกันให้ร่างกายได้จริงหรือ

โควิด-19 : ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารช่วยเสริมภูมิคุ้มกันให้ร่างกายได้จริงหรือ
บีบีซี ไทย
23 เมษายน 2563 ( 13:43 )
136
Reuters

 

ท่ามกลางระบาดครั้งใหญ่ของโรคโควิด-19 วิตามินหรือเครื่องดื่มสมุนไพรหลากหลายแขนงที่อ้างว่าช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน กำลังได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้น แต่อาหารเสริมเหล่านี้มอบผลลัพธ์อย่างที่โฆษณาไว้หรือไม่

 

Getty Images
ผู้เชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยกย่องให้ คอมบูชา หรือ ชาหมัก เป็นเครื่องดื่มมากสรรพคุณ แต่ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ใดที่ยืนยันว่าเครื่องดื่มนี้ป้องกันหรือรักษาโรคใดใด รวมทั้งโควิด-19

หลังเกิดการระบาดของไวรัสโคโรนา หนึ่งในข่าวลือแปลกประหลาดที่วนเวียนอยู่บนโลกอินเทอร์เน็ตและสื่อสังคมออนไลน์ คือ การสำเร็จความใคร่ด่วยตัวเองบ่อยครั้งจะช่วยเพิ่มจำนวนเซลล์เม็ดเลือดขาว ซึ่งมีหน้าที่กำจัดเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาในร่างกายมนุษย์

 

นอกจากนี้ ยังมีคำแนะนำด้านโภชนาการให้รับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินซีและสารต้านอนุมูลอิสระ ด้านนักวิทยาศาสตร์กำมะลอก็จุดกระแสสินค้าอย่าง คอมบูชา หรือ ชาหมัก รวมถึง โปรไบโอติกส์ (probiotics) จุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย

 

อย่างไรก็ตาม ไม่มียาหรืออาหารเสริมตัวไหนที่เป็นทางลัดไปสู่การมีระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง อันที่จริงแล้ว ความเชื่อที่ว่ามนุษย์สามารถ "เสริม" ระบบภูมิคุ้มกันของตัวเองได้นั้นก็ปราศจากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มารับรอง

 

Getty Images
สารต้ายอนุมูลอิสระพบได้ในผักผลไม้สีสันสดใส

ไม่ควรมีใครอยาก "เสริม" ภูมิคุ้มกัน

"ระบบภูมิคุ้มกันประกอบไปด้วยสามส่วน" อิวาซากิ อะกิโกะ ศาสตราจารย์ด้านภูมิคุ้มกันวิทยาจากมหาวิทยาลัยเยล อธิบาย "ผิวหนัง ทางเดินหายใจ และเยื่อบุผิว เป็นเหมือนกำแพงด่านแรก แต่ถ้าไวรัสข้ามผ่านเข้าไปแล้วก็ต้องใช้ภูมิคุ้มกันภายในแทน" โดยเซลล์และสารเคมีในร่างกายจะมีกลไกตามธรรมชาติเพื่อกำจัดสิ่งแปลกปลอม

 

"ทว่าหากไม่ได้ผล เราก็จะนำภูมิคุ้มกันแบบจำเพาะมาใช้สู้" ศาสตราจารย์อิวาซากิกล่าว ก่อนจะอธิบายต่อไปว่า ต้องอาศัยเวลาสองถึงสามวันกว่าร่างกายจะผลิตแอนติบอดีออกมาต่อกรกับเชื้อร้ายแบบเฉพาะเจาะจง "ยกตัวอย่างเช่น เซลล์เม็ดเลือดขาวที่จัดการโรคโควิด-19 ได้ ก็จะไม่ตอบสนองต่อโรคไข้หวัดใหญ่ หรือไวรัสอื่น ๆ"

 

ดังนั้น หากอยาก "เสริม" การทำงานของระบบภูมิคุ้มกันแล้วก็คงหมายความว่าต้องกระตุ้นให้กระบวนการข้างต้นเป็นไปอย่างเข้มข้นมากยิ่งขึ้น แต่รับรองว่าไม่มีใครอยากทำเช่นนี้ในสถานการณ์จริงอย่างแน่นอน

 

ลองนึกถึงอาการป่วยต่าง ๆ เช่น หนาวสั่น ปวดเมื่อยร่างกาย เป็นไข้สูง มึนหัว น้ำมูกไหล มีเสมหะ ดูก่อน ส่วนใหญ่แล้วปัญหาเหล่านี้แท้จริงเกิดจากการที่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายกำลังพยายามต่อสู้กับเชื้อโรค ไม่ใช่อาการจากเชื้อไวรัสแต่อย่างใด

 

เสมหะและน้ำมูกช่วยขจัดเชื้อโรคออกไป ส่วนอาการไข้ก็ทำให้ร่างกายร้อนรุ่มจนกลายเป็นภาชนะที่ไม่เหมาะสมให้เชื้อโรคได้เจริญเติบโต ความปวดเมื่อยและวิงเวียนก็เป็นผลมาจากสารเคมีที่ก่อให้เกิดอาการอักเสบกำลังไหลเวียนไปตามเส้นเลือดแล้วคอยสื่อสารให้เซลล์ภูมิคุ้มกันทราบว่าควรปฏิบัติตัวอย่างไรและเดินทางไปขจัดเชื้อโรคตรงจุดไหนดี ยังไม่นับว่าอาการป่วยเหล่านี้ส่งสัญญาณเตือนไปยังสมองให้รู้ว่าควรหยุดพักผ่อนอีกด้วย

 

จะเห็นได้ว่าหากร่างกายตอบสนองกับเชื้อโรคเช่นนี้ ก็หมายความว่าระบบภูมิคุ้มกันแข็งแรงและมั่นคงดีอยู่แล้ว แต่กระบวนการนั้นเต็มไปด้วยความยากลำบาก จึงไม่ควรมีใครอยากกระตุ้นการทำงานของมันตลอดเวลา และไวรัสเกือบทุกประเภทรวมทั้งโควิด-19 ก็จะไปจุดชนวนกลไกนี้ตามธรรมชาติเอง

 

ที่สำคัญ หากนำสมุนไพรหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมา "เสริมภูมิคุ้มกัน" แล้วส่งผลลัพธ์ที่แท้จริงตามสรรพคุณ ผู้ที่รับประทานก็น่าจะมีอาการป่วย เช่น น้ำมูกไหล ไม่ใช่ยังคงแข็งแรงหรือเปล่งปลั่งยิ่งกว่าเดิม เรื่องตลก คือ อาหารเสริมเหล่านี้กลับอ้างว่าช่วยลดอาการอักเสบของร่างกายเสียด้วยซ้ำ

 

ดังนั้นเมื่อเห็นผลิตภัณฑ์ที่ระบุว่า "เสริมภูมิคุ้มกัน" จึงควรสงสัยไว้ก่อน และอนุมานว่ามันสามารถช่วยบรรเทาอาการป่วยไข้ต่าง ๆ ตอนที่กลไกตามธรรมชาติของร่างกายเริ่มทำงาน แต่ไม่ใช่การติดเกราะให้ระบบภูมิคุ้มกันของเรา อิวาซากิยังกล่าวว่า "อีกปัญหาหนึ่ง คือ ส่วนใหญ่แล้วอาหารเสริมเหล่านี้ไม่มีงานวิจัยที่น่าเชื่อถือมารองรับ"

 

ระหว่างการระบาดใหญ่ของไข้หวัดสเปนปี 1918 ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไป 500 ล้านคน หรือ 1/4 ของประชากรโลกขณะนั้น มีนักฉวยโอกาสขายผลิตภัณฑ์ที่อวดอ้างสรรพคุณมากมาย แต่่แท้จริงแล้วกลับไร้ประโยชน์ และเป็นอันตรายต่อร่างกาย

 

วิตามินดีช่วยได้

วิตามินเสริมหลายตัวอ้างว่าช่วย "เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน" หรือ "รักษาภูมิคุ้มกันให้ทำงานได้ดี" อยางไรก็ตาม สำหรับคนที่สุขภาพร่างกายแข็งแรงอยู่แล้ว การรับประทานผลิตภัณฑ์ชนิดนี้ไม่ได้ก่อให้เกิดผลลัพธ์อะไร แถมอาจเป็นอันตรายในบางกรณีอีกด้วย

 

ยกตัวอย่าง เช่น วิตามินซี ซึ่งหลายคนเชื่อว่ามีสรรพคุณช่วยต้านทานโรคหวัดทั่วไป กลับมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เพียงไม่กี่ชิ้นมารับรองเท่านั้น นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญหลายคนยังมองว่า สินค้าดังกล่าวอวดอ้างเกินจริงไปพอสมควร

 

เนื่องจากปัจจุบัน ผู้คนส่วนใหญ่โดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้วมักได้รับวิตามินซีในปริมาณที่เพียงพอจากมื้ออาหารในแต่ละวันอยู่แล้ว ในอังกฤษ จำนวนผู้ป่วยด้วยโรคลักปิดลักเปิดหรือโรคขาดวิตามินซีมีเพียง 128 คนเท่านั้นระหว่างปี 2016 - 2017 ที่สำคัญ หากรับวิตามินซีมากเกินไป อาจทำให้ป่วยเป็นโรคนิ่วในไตอีกด้วย

 

อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์อิวาซากิกล่าวว่า หนึ่งในข้อยกเว้น คือ วิตามินดี การรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารตัวนี้ก็เป็นความคิดที่ดี

 

งานวิจัยหลายชิ้นพบความเชื่อมโยงระหว่างปริมาณวิตามินดีต่ำกับความเสี่ยงที่จะป่วยด้วยโรคการติดเชื้อทางระบบทางเดินหายใจ นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยที่พบว่า วิตามินดีมีบทบาทสำคัญทั้งในการทำงานของภูมิคุ้มกันแต่กำเนิด และภูมิคุ้มกันแบบจำเพาะ

 

ปัจจุบัน หลายประเทศที่แม้ว่าจะพัฒนาก้าวหน้ามากแล้วก็ยังพบผู้ขาดวิตามินดีอยู่ สถิติปี 2012 ประเมินว่ามีผู้ขาดวิตามินดีถึงหนึ่งพันล้านคนทั่วโลก ส่วนขณะนี้ ในเวลานี้ที่มีมาตรการให้ประชาชนอยู่บ้านเพื่อชะลอการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา การไม่ได้สัมผัสแสงแดด ก็อาจทำให้มีผู้ขาดวิตามินดีเป็นจำนวนมาก

 

Getty Images

แล้วจะ "เสริม" ภูมิคุ้มกันอย่างไร

ศาสตราจารย์อิวาซากิกล่าวว่า ส่วนใหญ่แล้วความเชื่อข้างต้นไม่ได้เป็นอันตรายมากมาย อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ควรระวัง คือ การรับประทานแล้วหลงนึกว่าตัวเองจะปลอดภัยจากเชื้อไวรัส

 

"สิ่งหนึ่งที่ฉันคอยเตือนเสมอ คือ เวลาที่ผู้คนรู้สึกว่าตัวเองได้รับการปกป้องแล้ว พวกเขาไม่ควรทึกทักไปว่าสามารถออกไปเดินข้างนอกบ้าน หรือจัดปาร์ตี้สังสรรค์กับเพื่อนฝูงได้"

 

วิธีการที่สามารถช่วยสนับสนุนการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันได้นั้นมีอยู่จริง แต่มันไม่ได้ถูกจับใส่ขวดโหลแล้ววางขาย หรือได้รับการเอ่ยถึงจากอินฟลูเอนเซอร์ หรือไอดอลบนสื่อสังคมออนไลน์บ่อยครั้งเท่าไหร่นัก

 

วิธีเหล่านี้ที่ล้วนได้รับการพิสูจน์มาแล้วว่าได้ผลชะงัก คือ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกาย รับประทานอาหารให้ครบหมู่ และพยายามผ่อนคลายความเครียด

 

แต่ถ้าหากไม่สามารถปฏิบัติตามได้ อีกหนทางหนึ่งที่จะช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันได้อย่างแท้จริงก็คือ การฉีดวัคซีน ซึ่งสำหรับเชื้อไวรัสโคโรนาแล้วอาจต้องรอคอยอย่างน้อยหนึ่งถึงสองปีเลยทีเดียว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง