4 ประเภทหลุมดำ เกิดขึ้นจากอะไรบ้าง ?
รู้หรือไม่ ? นักฟิสิกส์ทฤษฎีชื่อก้องโลกอย่างอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Eistien) เคยเชื่อว่าหลุมดำไม่มีอยู่จริง ! นั่นก็เพราะในสมัยนั้นยังไม่มีเครื่องมือทางดาราศาสตร์ที่สามารถจับภาพของหลุมดำได้ และยังขาดองค์ความรู้ที่จะมาสนับสนุนทฤษฎีการมีอยู่ของหลุมดำ แต่ปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีแล้วว่าหลุมดำนั้นมีอยู่จริง โดยนักดาราศาสตร์แบ่งประเภทของหลุมดำออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้
หลุมดำจิ๋ว (Mini Black Hole)
หลุมดำจิ๋ว (Mini Black Hole) เป็นหลุมดำที่มีมวลน้อยกว่า 1 เท่าของมวลดวงอาทิตย์ นักดาราศาสตร์สันนิษฐานว่าหลุมดำจิ๋วเกิดขึ้นในยุคแรกเริ่มของเอกภพที่มีความหนาแน่นสูง จึงทำให้มีแรงดันมาก ส่งผลกระทบให้สสารบางส่วนในเอกภพ ณ ขณะนั้น ถูกบีบอัดจนกลายเป็นหลุมดำ
หลุมดำดาวฤกษ์ (Stellar-Mass Black Hole)
หลุมดำดาวฤกษ์ (Stellar-Mass Black Hole) เป็นหลุมดำที่มีมวลตั้งแต่ 5 - 10 เท่าของมวลดวงอาทิตย์ นักดาราศาสตร์สันนิษฐานว่าหลุมดำดาวฤกษ์เกิดจากดาวฤกษ์อายุมากที่สูญเสียปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชัน ซึ่งปกติแล้ว ดาวฤกษ์มีสถานะเป็นพลาสมา มันสามารถคงรูปร่างเกือบกลมไว้ได้ด้วยแรงจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชันที่ต้านกับแรงโน้มถ่วงบริเวณใจกลางของดาว เมื่อดาวฤกษ์สูญเสียแรงจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชัน จึงทำให้แรงโน้มถ่วงบริเวณใจกลางของดาวชนะ มวลของดาวฤกษ์ทั้งหมดจึงถูกบีบอัดด้วยแรงโน้มถ่วงของตัวมันเอง จนกลายเป็นหลุมดำในที่สุด
หลุมดำมวลปานกลาง (Intermediate Black Hole)
หลุมดำมวลปานกลาง (Intermediate Black Hole) มีมวลตั้งแต่ 105 - 1010 เท่าของมวลดวงอาทิตย์ นักดาราศาสตร์สันนิษฐานว่าหลุมดำมวลปานกลางเกิดจากการที่หลุมดำดาวฤกษ์มากกว่า 1 โคจรปะทะและหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน
หลุมดำมวลยิ่งยวด (Supermassive Black Hole)
หลุมดำมวลยิ่งยวด (Supermassive Black Hole) มีมวลตั้งแต่ 106 เท่าของมวลดวงอาทิตย์เป็นต้นไป นักดาราศาสตร์สันนิษฐานว่า หลุมดำมวลยิ่งยวดเกิดจากการที่หลุมดำมวลปานกลางเคลื่อนที่ไปรวมตัวกันที่ใจกลางของกาแล็กซี เนื่องจากมวลที่มากของมัน คล้ายกับการที่ก้อนหินจมดิ่งไปรวมกันอยู่ที่ก้นแก้ว เมื่อหลุมดำมวลปานกลางโคจรมาชนและรวมตัวกัน จึงเกิดเป็นหลุมดำมวลยิ่งยวด ซึ่งนักดาราศาสตร์เชื่อว่า ณ ใจกลางของกาแล็กซีทุกกาแล็กซีมีหลุมดำมวลยิ่งยวดอยู่
ข้อมูลจาก NASA