รีเซต

สเก็ตบอร์ด (Skateboards) คิดจะขาย...ต้องรู้ไว้! ไม่งั้นถูกปรับเงินอื้อ

สเก็ตบอร์ด (Skateboards) คิดจะขาย...ต้องรู้ไว้! ไม่งั้นถูกปรับเงินอื้อ
TeaC
21 มิถุนายน 2564 ( 13:12 )
1.5K

สเก็ตบอร์ด (Skateboards) อุปกรณ์ 4 ล้อ พร้อมแผ่นกระดานให้ยืนได้และมีลูกล้อรองรับ เคลื่อนที่ได้อย่างลื่นไหลแค่เพียงใช้เท้าข้างหนึ่งข้างใดผลัก ส่วนเท้าอีกข้างควบคุมบอร์ดไว้ตามทิศทางที่ต้องการ ทั้งการไถพื้นราบ การดีดีขึ้นราว หรือทางครึ่งวงกลม หรือนั่งบนสเก็ตบอร์ด กลายเป็นกิจกรรมจนมาเป็นกีฬาที่ฮอตฮิตในหมู่กลุ่มวัยรุ่นที่ชื่นชอบ แถมด้วยลวดลายที่สวยงามตามยุคสมัยกลับกลายเป็นสินค้าที่ดึงดูดเม็ดเงินได้ไม่น้อยเลยทีเดียว

 

แต่รู้หรือไม่ว่า เครื่องเล่นชนิดมีล้อเลื่อน เช่น รองเท้าสเก็ต โรลเลอร์เบลด สเก็ตบอร์ด รถสกูตเตอร์ขนาดเล็ก ฯลฯ เป็นสินค้าควบคุมฉลาก วันนี้ TrueID รวบรวมข้อมูลมาให้ศึกษากัน ทั้งนี้ เครื่องเล่นชนิดมีล้อเลื่อนตามที่กลาวข้างต้น ถือเป็นสินค้าควบคุมฉลาก ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ฉบับที่ 16 (พ.ศ. 2547) เรื่อง ให้เครื่องเล่นชนิดที่มีล้อเลื่อนเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก

 

จากข้อมูลพบว่า เครื่องเล่นชนิดที่มีล้อเลื่อน หมายความว่า สิ่งที่ใช้เพื่อการกีฬาหรือสำหรับเล่นหรืออุปกรณ์ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการทำให้ร่างกายเคลื่อนที่ โดยต้องมีองค์ประกอบคือ ล้อหมุน และส่วนที่ใช้ยึดติด หรือประสานกับส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย เช่น รองเท้าสเก็ตชนิดมีล้อ, โรลเลอร์สเก็ต, โรลเลอร์เบลด, สเก็ตบอร์ด และรถสกู๊ตเตอร์ขนาดเล็ก ให้เครื่องเล่นชนิดที่มีล้อเลื่อนเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก


มาดูกันว่ากฎหมายว่าอย่างไร? ฉลากของสินค้าที่ควบคุมฉลากตามข้อ 2 ให้ปฏิบัติตามข้อ 1 ถึงข้อ 3 แห่งประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก เรื่อง ลักษณะของฉลากสินค้าที่ควบคุมฉลาก พ.ศ. 2541 ลงวันที่ 23 กันยายน 2541 และให้ระบุข้อความดังต่อไปนี้ไว้ในฉลากด้วย

 


(1) ข้อแนะนำในการใช้ ต้องระบุดังต่อไปนี้

(ก) ไม่เหมาะสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 4 ปี

(ข) การเล่นต้องใส่อุปกรณ์เสริมความปลอดภัยทุกครั้ง ประกอบด้วยหมวกนิรภัย สนับข้อมือ สนับศอก สนับเข่า

(ค) ผู้เริ่มฝึกหัดใช้ต้องมีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด

(ง) ต้องเล่นในพื้นที่ที่เหมาะสมกับการเล่นโดยเฉพาะ

 

(2) คำเตือน ต้องระบุว่า “ถ้าไม่ใส่อุปกรณ์เสริมความปลอดภัย อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต”

ข้อความที่เป็น “คำเตือน” ต้องใช้ตัวอักษรสีแดงขนาดไม่ต่ำกว่า 3 มิลลิเมตร และติดไว้ที่ตัวสินค้า

 

สำหรับใครที่สนใจขายสเก็ตบอร์ด หรือขายอยู่แต่ยังทำไม่ถูกต้องสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.ocpb.go.th หรือโทรสายด่วน สคบ. 1166

 

 

Skateboard VS Surf Skate เหมือนกันหรือต่างกันแน่!

 

สเก็ตบอร์ด มีที่มาไม่แน่ชัด แต่จากการค้นหาพบว่าน่าจะเกิดในคริสต์ทศวรรษ 1940–1950 ขณะที่ รูปร่างของสเกตบอร์ดในสมัยก่อนจะมีลักษณะแบบเซิร์ฟบอร์ด ไม่ค่อยมีส่วนเว้ามากและทำจากไม้ทึบ พลาสติก หรือโลหะ ส่วนล้อมักทำจากส่วนประกอบจากดินหรือเหล็ก ใน ค.ศ. 1973 ได้มีการใช้วงล้อยูรีเทนในการกีฬา ซึ่งทำให้มีความปลอดภัยและคล่องตัวกว่า มีขนาดกว้างมากขึ้น จากระยะ 16 เซนติเมตร เป็นกว่า 23 เซนติเมตร เพื่อให้ความมั่นคงที่ดีกว่า ในการเล่น Vert

 

ส่วนการเล่นหรือใช้งานนั้น จะเน้นการเคลื่อนที่ด้วยการออกแรงไถไปข้างหน้าด้วยเท้า จึงไปข้างหน้าได้เร็ว คล่องตัว ผสมผสานกับท่าต่าง ๆ ที่มีความยากและซับซ้อนกว่า เมื่อเทียบกับ Surf skate

 

สำหรับ Surf skate นั้น เป็นเทรนด์ฮอตฮิตในช่วงโควิดอย่างมาก กลุ่มวัยรุ่นหรือแม้กระทั่งวัยทำงานต่างให้ความสนใจ นิยมหาซื้อ Surf skate เซิร์ฟสเก็ต มาเล่น ด้วยรูปร่างหน้าตาลวดลวยถือว่าฮิตมาก ๆ โดยเป็นกีฬาที่มีมานานแล้วเช่นกัน เป็นการผสมระหว่างบอร์ดดั้งเดิมและกีฬาเซิร์ฟที่ให้ความรู้สึกเหมือนได้เล่นเซิร์ฟบอร์ดในทะเลมากกว่าเล่นแบบ สเก็ตบอร์ด 

 

สิ่งที่ Surf skate แตกต่าง Skateboard นั่นคือ ตัวล้อที่ขยับได้อย่างคล่องตัว เคลื่อนไหวด้วยแรงเหวี่ยงของการบิดสะโพกไปมาคล้ายกำลังโต้คลื่นในทะเลยังไงยังงั้น 

 

และด้วยความนิยมกลายเป็นสินค้าตามเทรนด์ ตามกระแสที่หลายคนอยากเป็นเจ้าของ หรือของต้องมีนี้เองจึงทำให้สินค้า Surf skate หรือแม้กระทั่ง Skateboard เป็นที่ต้องการอย่างมาก และยังสร้างให้เกิดพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว เพื่อดูดเม็ดเงินได้ก้อนโต เพราะราคาขึ้นอยู่กับลวดลวย ฟังก์ชั่นที่ดึงดูด และการพัมนาสินค้าให้ทันความต้องการ 

 

ดังนั้น เมื่อคิดจะเป็นพ่อค้าแม่ค้ากันแล้วอย่าลืมสำรวจดูว่าสินค้าที่เราขายหรือลงทุนนั้นทำตามกฎหมายที่ถูกต้องหรือไม่ ไม่อย่างนั้นอาจถูกจับ ถูกปรับ แทนที่จะสร้างรายได้ กลับกลายเป็นต้องเสียเงินทดแทน เช่นกรณีข่าวดังเมื่อหนุ่มพ่อค้าสเก็ตบอร์ดรายหนึ่ง ได้โพสต์ถึงประสบการณ์โดนจับกุมดังกล่าว ว่า “ฝากถึงพี่ ๆ ร่วมอาชีพที่เป็นเจ้าของธุรกิจร้านขายสเก็ตบอร์ด ในรูปนี้ ผมโดนจับกุม!! โดยถูกกล่าวหาว่า ขายสินค้าที่ควบคุมฉลากโดยไม่มีฉลาก (ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522)ประกอบกับประกาศคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฉบับที่ 16 (พ.ศ.2547) เรื่อง ให้เครื่องเล่นชนิดที่มีล้อเลื่อนเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก เพื่อให้ไม่ต้องเสียเงิน ต้องรู้ทันกฎหมายกันด้วยนะ 

 

เอาจริง ๆ แล้วข้อกฎหมายพวกนี้ก็เพิ่งรู้ว่ามันมีอยู่ สามารถยึดสินค้าเราไปได้เลย สามารถจับกุมตัวเราไปได้เลย โดยไม่มีการตักเตือนก่อน!!!!! ก็อยากให้พวกพี่ๆร่วมอาชีพ ออกมาช่วยกันแก้ไขปัญหานี้ เพื่อทำให้มันถูกต้อง เพราะผิดทั้งผู้ผลิตจนถึงผู้จำหน่าย ตอนนี้ผมได้ประกันตัวออกมาแล้วครับ ด้วยเงินจำนวนนึงซึ่งก็ไม่มากเท่าไหร่ แต่กว่าจะหามาได้ก็ต้องทำงานกันหนักพอสมควร เสียทั้งเงิน เสียทั้งเวลา ต้องเดินทางไปขึ้นศาลอีก สินค้าที่ถูกยึดก็ต้องรอศาลตัดสินกว่าจะได้คืน”

 

 

ข้อมูล : สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง