รีเซต

ผลศึกษาล็อกดาวน์สิงคโปร์ชี้ชัด แพร่เชื้อไม่รู้ตัวปัญหาใหญ่

ผลศึกษาล็อกดาวน์สิงคโปร์ชี้ชัด แพร่เชื้อไม่รู้ตัวปัญหาใหญ่
ข่าวสด
31 มีนาคม 2563 ( 17:02 )
44
ผลศึกษาล็อกดาวน์สิงคโปร์ชี้ชัด แพร่เชื้อไม่รู้ตัวปัญหาใหญ่

ผลศึกษาล็อกดาวน์สิงคโปร์ชี้ชัด แพร่เชื้อไม่รู้ตัวปัญหาใหญ่

ผลศึกษาล็อกดาวน์สิงคโปร์ชี้ชัด - วันที่ 31 มี.ค. เซาท์ ไชนา มอร์นิง โพสต์รายงานว่า ผลการศึกษามาตรการที่ใช้สำหรับหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาปี 2019 หรือโควิด-19 พบว่าการใช้มาตรการล็อกดาวน์ที่ได้ผลที่สุดต้องครบทุกมิติจึงจะได้ผลดีที่สุด แต่ยังพบว่ามีปัจจัยรบกวนอื่นที่น่าหวาดหวั่นอยู่

ผลการศึกษาดังกล่าวเป็นผลงานจากนักวิจัยมหาวิทยาลัยแห่งชาติของสิงคโปร์ พบว่า มาตรการล็อกดาวน์ที่ได้ผลดีที่สุดในการหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ต้องใช้ทุกมาตรการพร้อมกัน ได้แก่ การกักบริเวณผู้ติดเชื้อ การรักษาระยะห่างจากที่ทำงาน และการปิดสถานศึกษา

แต่การวิจัยมาตรการทั้งหมดจะได้ผลน้อยลงหากมีปริมาณประชากรผู้ติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการจำนวนมากในชุมชน และอัตราการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อที่สูง สะท้อนว่ามาตรการจะได้ผลดีที่สุดก็ต่อเมื่อถูกใช้ตั้งแต่ระยะแรก และเป็นการล็อกดาวน์ครบทุกด้านอย่างสมบูรณ์

รายงานระบุว่า รัฐบาลสิงคโปร์มีนโยบายการหยุดยั้งการระบาดของโรคโควิด-19 ผ่านกระบวนการตรวจหาผู้ติดเชื้อและติดตามเส้นทางการระบาด (testing and tracing) เพื่อหาขอบเขตการระบาดโดยไม่ใช้มาตรการล็อกดาวน์ หรือปิดเมือง แบบในหลายชาติทั่วโลก

ทว่า ล่าสุด รัฐบาลเริ่มมีคำสั่งให้บรรดาสถานบันเทิงและร้านเหล้าปิดให้บริหารชั่วคราว สั่งยกเลิกการรวมตัวกันเพื่อพิธีกรรมทางศาสนา รวมทั้งกิจกรรมหลังเลิกเรียนทั้งหมด หลังพบจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 54 คน รวมยอดสะสม 879 คน และเสียชีวิตแล้ว 3 ราย

สำหรับรายละเอียดการศึกษานั้นได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Lancet Infectious Diseases ถือเป็นการศึกษาโมเดลการระบาดของโรคโควิด-19 ครั้งแรกในสิงคโปร์ โดยผู้ศึกษากำหนดรูปแบบจำลอง 4 แบบ ได้แก่ 1.การกักบริเวณผู้ติดเชื้อ (ที่ตรวจพบ) และครอบครัว

2.แบบแรกบวกกับการปิดสถานศึกษา 3.แบบแรกบวกกับการให้ประชากรวัยทำงานครึ่งหนึ่งอยู่บ้าน และ 4.ใช้มาตรการทั้งหมดที่กล่าวมาพร้อมกันในคราวเดียว โดยใช้เปรียบเทียบกับแบบจำลองควบคุม คือ การที่ไม่มีการแทรกแซงใดๆ ต่อการระบาด (ปล่อยตามยถากรรม)

การศึกษาพบว่า หากปล่อยตามยถากรรม โดยกำหนดให้ผู้ติดเชื้อ 1 คน สามารถทำให้เกิดผู้ติดเชื้อได้ 1.5 คน (ค่าอาร์นอท = 1.5) พบว่า จะมีผู้ติดเชื้อมากถึง 279,000 คน ภายในระยะเวลาเพียง 80 วัน หลังการมีผู้ติดเชื้อ 100 คน คิดเป็นร้อยละ 7.4 ของประชากรสิงคโปร์ทั้งหมด

ผลการศึกษาพบว่า แบบจำลองที่ 4 สามารถลดผู้ติดเชื้อลงได้เหลือเพียง 1,800 คน คือลดทอนผู้ติดเชื้อลงได้ถึงร้อยละ 99.3 อย่างไรก็ดี คณะวิจัยพบว่า หากค่า อาร์นอท (R0) ที่มากขึ้นจะทำให้มาตรการดังกล่าวใช้ได้ผลน้อยลง

ยกตัวอย่างเช่นหากค่าอาร์นอทอยู่ที่ 2.5 จะทำให้แบบปล่อยตามยถากรรมมีผู้ติดเชื้อมากถึง 1.2 ล้านคน ในระยะเวลาเท่ากัน (ร้อยละ 32 ของประชากรสิงคโปร์) และแบบจำลองที่ 4 จะลดทอนผู้ติดเชื้อลงได้เพียงร้อยละ 78.2 เหลือ 258,000 คน

นอกจากนี้ เมื่อผู้วิจัยปรับเปลี่ยนตัวแปร โดยให้มีประชากรกลุ่มติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการเกี่ยวข้องการแพร่เชื้อเพิ่มเป็นร้อยละ 50 ของผู้ติดเชื้อทั้งหมด (จากเดิมร้อยละ 7.5) พบว่า จำนวนผู้ติดเชื้อจะแปรผันตามกัน กล่าวคือ เพิ่มสูงขึ้นอีกกว่าโมเดลจำลองข้างต้น

โดยจากการจำลองผ่านโมเดลที่ 4 นั้นพบว่าจะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มเป็น 277,000 คน ในระยะเวลาเท่ากัน (จากเดิมแค่ 1,800 คน) ทั้งนี้ ปริมาณประชากรสิงคโปร์ หมายถึง ปริมาณประชากรสิงคโปร์ทั้งหมด อ้างอิงจากทางการสิงคโปร์เมื่อปี 2553

ข่าวที่เกี่ยวข้อง