รีเซต

เปิดหนังสือ ‘เส้นทางชีวิต CEO นักยุทธศาสตร์ไทย’ สัมผัสตัวตน ‘สุพันธุ์ มงคลสุธี’

เปิดหนังสือ ‘เส้นทางชีวิต CEO นักยุทธศาสตร์ไทย’ สัมผัสตัวตน ‘สุพันธุ์ มงคลสุธี’
มติชน
27 มีนาคม 2565 ( 12:02 )
150
เปิดหนังสือ ‘เส้นทางชีวิต CEO นักยุทธศาสตร์ไทย’ สัมผัสตัวตน ‘สุพันธุ์ มงคลสุธี’

ย้อนกลับไปช่วงต้นปี 2557 หลายคนไม่รู้จักนักธุรกิจโลว์โปรไฟล์ ที่ชื่อ “สุพันธุ์ มงคลสุธี” ผู้กำชัยชนะจากสนามเลือกตั้ง ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) องค์กรภาคเอกชนชั้นนำของประเทศ ที่ยุคนั้นเต็มไปด้วยความขัดแย้ง แย่งชิงอำนาจ

 

ค้นโปรไฟล์ผู้ชายคนนี้อย่างจริงจังพบความไม่ธรรมดา เพราะเขาเป็น ซีอีโอ หรือประธานกรรมการบริษัท ถึง 2 บริษัท คือ บริษัท ซินเน็ค (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ที.เค.เอส เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน)

 

ซีอีโอตัวจริงไม่ใช่มือปืนรับจ้าง เพราะเขาเป็นเจ้าของบริษัทที่สานต่อธุรกิจครอบครัวจากหลักสิบล้าน ผสมผสานมุมคิดแบบสตาร์ตอัพ จนสามารถผลักดันบริษัทให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด ปัจจุบันทั้ง 2 บริษัทเป็นอาณาจักรธุรกิจยิ่งใหญ่ ด้วยรายได้รวมกันเกือบ 4 หมื่นล้านบาท และคาดว่าปี 2566 จะทะลุ 4 หมื่นล้านบาทอย่างแน่นอน

 

หนังสือ เส้นทางชีวิต CEO นักยุทธศาสตร์ไทย “สุพันธุ์ มงคลสุธี” จึงเป็นหนังสือที่จะบอกเล่าเรื่องราวชีวิตของซีอีโอหนุ่มใหญ่วัย 63 ปี ที่บาลานซ์ชีวิตได้อย่างลงตัว ผ่านร้อนผ่านหนาว จากยุคสมัยที่พบผ่าน ฝ่าฟันจนชีวิตประสบความสำเร็จ เพราะความเป็นนักยุทธศาสตร์ไทย

 

เพียงหน้าแรกก็พบกับความพิเศษของหนังสือเล่มนี้ เพราะได้บุคคลชั้นนำในประเทศ คือ “อานันท์ ปันยารชุน” อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตประธาน ส.อ.ท. เขียนคำปรารภ ที่ชื่นชมความสามารถของซีอีโอ สุพันธุ์ ที่เริ่มต้นจากธุรกิจส่วนตัวขนาดเล็กสู่ธุรกิจหลายหมื่นล้านบาท

 

อีกคนที่น่าจะสนใจคือ “ชวน หลีกภัย” ประธานรัฐสภา เขียนคำนิยม ที่ระบุถึงตัวตนพิเศษของ ประธานสุพันธุ์ ที่แสดงความเห็นด้านต่างๆ สะท้อนประสบการณ์และความสำเร็จในอาชีพอย่างสมบูรณ์ รวมทั้งได้ “พลเอก มงคล อัมพรพิสิฏฐ์” อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด ร่วมเขียนคำนิยมด้วย

“มติชน” ร่วมพูดคุยกับ “สุพันธุ์ มงคลสุธี” ถึงหนังสือเล่มสำคัญเล่มนี้!

“สุพันธุ์” เล่าว่า เหตุผลที่ตัดสินใจทำหนังสือเกี่ยวกับชีวิตการทำงานของตัวเองครั้งนี้ เพราะอยากแบ่งปันประสบการณ์ แบ่งปันแนวคิดการทำงานที่คนเราควรมียุทธศาสตร์ เพื่อเป็นวิทยาทานกับคนรุ่นต่อๆ ไป โดยรายได้จากการขายหนังสือทั้งหมดโดยไม่หักค่าใช้จ่ายจะมอบให้กับ มูลนิธิกองทุนนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรม ซึ่งเขาคือกำลังหลักในการก่อตั้งเพื่อขับเคลื่อนเอสเอ็มอีไทย

ส่วนตัวผมมองว่าทุกอย่างต้องมียุทธศาสตร์ อย่างการทำงานต่างๆ ถ้าจะทำให้สำเร็จต้องมียุทธวิธี มองเป้าหมาย มีจุดประสงค์ให้เกิดความสำเร็จ ถ้าเดินหน้าผลักดันแต่ไร้ยุทธวิธีก็ไม่ได้ผล ดังนั้นยุทธศาสตร์จึงสำคัญ

ทุกครั้งที่ผมทำงานไม่ว่าจะเป็นบริษัทตัวเอง หรือทำงาน ส.อ.ท. ผมจะมียุทธศาสตร์การทำงานในทุกยุคสมัย ยุคนี้ทำอะไร เป้าหมายเป็นอย่างไร ขณะที่การทำงานของบริษัท ทุกปีผมจะจัดประชุมพนักงานบริษัท 1-2 ครั้ง เพื่อกำหนดเป้าหมายบริษัท จะไปทางไหน ยุทธศาสตร์คืออะไร จะเดินไปทางไหน

หลักการบริหารงานท่อง 3 คำ
ธุรกิจผมเกิดมาจากคนตัวเล็กๆ ที่บ้านประกอบธุรกิจขนาดเล็ก วันนี้เมื่อผมรู้สึกว่าประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง จึงอยากทำหนังสือเพื่อเป็นวิทยาทานให้กับคนรุ่นต่อไป ว่าวิธีการคิด วิธีการทำธุรกิจควรจะเป็นอย่างไร ผมเติบโตจากครอบครัวคนจีน ได้รับการปลูกฝังให้รับช่วงต่อจากคุณพ่อคุณแม่ ซึ่งธุรกิจมีการปรับเปลี่ยนตลอดเวลา ดังนั้น จะทำอย่างไรให้ธุรกิจปรับตัวทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดเวลา โดยผมจะมีหลักการบริหารงานคือ ซื่อสัตย์ ยุติธรรม นวัตกรรมก้าวไกล

ที่มาของหลักการบริหารดังกล่าว เพราะคุณพ่อและคุณแม่สอนสั่งให้ทำธุรกิจอย่างตรงไปตรงมา ความเชื่อถือเป็นเรื่องสำคัญ การจะทำให้ลูกค้าเชื่อถือได้ เราต้องมีความซื่อสัตย์ ความยุติธรรมเวลาดูแลลูกน้อง อีกสิ่งที่สำคัญคือการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจที่เกิดขึ้นตลอดเวลา ดังนั้นเราต้องมีนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาสอดแทรกในวิธีการทำงาน การผลิตสินค้า เพื่อให้ทุกคนรับรู้ว่าบริษัทเรามีอะไรใหม่ๆ ตลอดเวลา

เส้นทางชีวิต CEO สัมผัสงานตั้งแต่ 10 ขวบ
ผมเป็นลูกชายคนเดียวของตระกูล “มงคลสุธี” หรือสกุลเดิม “แซ่แต้” คนไทยเชื้อสายจีน เกิดในครอบครัวชาวจีน เขาจึงได้รับดีเอ็นเอด้านการทำงานจากคุณพ่อ (เกียง มงคลสุธี) หรือ “เกียงบั๊ก แซ่เต้” และคุณแม่ (สุชาดา มงคลสุธี) หรือ “โซวงิ้ม แซ่แต้” โดยเริ่มทำงานช่วยธุรกิจโรงพิมพ์สมุดของครอบครัว ตั้งแต่อายุ 10 ขวบ ทั้งช่วงพักเที่ยง และวันหยุด

ประสบการณ์วัยเยาว์ได้หล่อหลอมให้เขากลายเป็นนักบริหารมือฉมัง สามารถทำรายได้เติบโตเป็นกอบเป็นกำ ก่อนจะส่งต่อหน้าที่บริหารให้ลูกๆ และให้ตัวเองทำหน้าที่นักยุทธศาสตร์ให้กับบริษัท พร้อมทั้งใช้ความสามารถดังกล่าวบริหาร ส.อ.ท.ถึง 3 สมัย ก่อนจะเตรียมอำลาตำแหน่งในเร็วๆ นี้

ความผูกพันกับคุณแม่ แรงผลักดันสำคัญจนมีวันนี้
ด้วยความเป็นลูกคนเดียว พวกท่านไปไหนผมก็ตามไปด้วยตลอด ธุรกิจที่พวกท่านสร้างขึ้นเหมือนจิ๊กซอว์ต่อกัน คุณพ่อนั่งดูผมออกไปติดต่อประสานงานธุรกิจข้างนอก คุณแม่ดูด้านบัญชี การเงิน ดูแลหลังบ้านทั้งหมด ช่วยเหลือคุณพ่อ

ผมใกล้ชิดคุณแม่เห็นความประหยัด มัธยัสถ์ ถือเป็นคนประหยัดมากที่สุดเท่าที่ผมเจอมาในโลกนี้ก็ว่าได้ (ยิ้ม) ขณะที่คุณพ่อผมถือเป็นคนที่ดุมากที่สุดคนหนึ่งที่เคยเจอมา จึงได้เห็นข้อแตกต่างของสองท่าน และทำให้ผมนำมาใช้ นำมาปรับตัว

ผมทำงานพร้อมกับเรียนหนังสือไปด้วยตั้งแต่เด็ก ช่วงปิดเทอมต้องมาช่วยที่บ้านทำงาน โรงงานคุณพ่อเริ่มจากทำสมุด เข้าเล่ม นับกระดาษ เป็นโรงงานเล็กๆ คุณพ่อคุณแม่มีวิธีเลี้ยงดู ถ้าผมทำงานก็ได้ค่าขนมเพิ่มขึ้น ครั้งละ 5 บาท 10 บาท ผลจากการทำงานตั้งแต่เด็กผมจึงอินกับการทำงานไปโดยปริยาย พอเริ่มโตขึ้นก็อยากช่วยงานมากขึ้น จึงเริ่มขายสินค้าของโรงงาน ไปเป็นเซลส์ให้กับบริษัท ไม่บอกลูกค้าว่าเป็นลูกเจ้าของบริษัท มีความรู้ด้านการขายมากขึ้น คุณแม่ก็ดูแลการเงินให้ประหยัดจนบริษัทสร้างกำไรขึ้นมาได้

รับดีเอ็นเอจากคุณพ่อคุณแม่มาโดยตรง
อยากบอกว่าผมรับดีเอ็นเอเรื่องการทำงาน การค้าขาย มาจากพวกท่านโดยตรงก็ว่าได้ และผมเองก็ชอบทางนี้ด้วย ผมพยายามเรียนรู้งานจากผู้คนที่มาติดต่อธุรกิจ ถามประสบการณ์จากเซลส์ ถามเทคนิคการขายของ จะเสนองานยังไง ปรับปรุงอย่างไรให้ทันสมัย

นอกจากนี้ ผมเป็นนักธุรกิจรายแรกๆ ที่นำเอาคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้งานกับบริษัท ย้อนเวลาไปก็กว่า 40 ปีที่แล้ว นานมากนะ ยอมลงทุน สมัยนั้นราคาแพงแสนกว่าบาท คุณพ่อก็เชื่อมั่น ยอมให้ซื้อ พอนำมาใช้งานยิ่งรู้ว่าดีจริง

การทำงานของผมจะเน้นการหาความรู้ พยายามศึกษาด้วยตนเอง ทำงานคล้ายสตาร์ตอัพสมัยนี้ ศึกษาวิธีการใหม่ๆ เข้าอบรมคอร์สต่างๆ ชอบเรียนรู้ทุกเรื่อง ผมไม่ได้จบบัญชีก็ไปอบรมด้านบัญชี ไม่ได้จบการขายก็ไปเรียนการขาย หลักสูตรไหนเปิดผมไปเรียนหมด ได้ทั้งความรู้และได้เพื่อน

 

เห็นอนาคต…บุกตลาดอุปกรณ์คอมพิวเตอร์
อย่างคอมพิวเตอร์ ตอนนั้นผมเชื่อว่าเครื่องมือนี้จะมีบทบาทสำคัญต่อการทำธุรกิจในอนาคต ผมถึงกล้าลงทุน เพราะคอมพิวเตอร์คือเครื่องมือเพิ่มความสะดวก ผู้คนจะหันมาใช้มากขึ้น ทำให้ผมขยายกิจการที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์มากขึ้น จากธุรกิจเครื่องเขียน สมุดนักเรียน ก็มาทำเรื่องกระดาษคอมพิวเตอร์ รวมทั้งทำซัพพลายเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ จากก่อนหน้าทำเกี่ยวกับผ้าหมึกพิมพ์ดีด ก็ทำมาหมึกเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ แผ่นดิสก์เก็ต

บริษัทผมเป็นยุคแรกที่ทำเกี่ยวกับอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ผมน่าจะเป็นคนแรกที่ทำ อย่างจอกรองแสง แผ่นดิสก์เก็ต กล่องใส่ดิสก์เก็ต ปลั๊ก น้ำยาทำความสะอาดคอมพิวเตอร์ ยุคนั้นคู่แข่งไม่มี จึงมีโอกาสทำกำไรได้มาก สินค้าต่างๆ นำเข้าจากต่างประเทศ ผมได้เรียนรู้การนำเข้าสินค้า เรียนรู้งานจากบริษัทใหญ่ สร้างพันธมิตรทางธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้ธุรกิจผมเติบโตอย่างรวดเร็ว

การทำงานที่เริ่มต้นจากธุรกิจครอบครัว บริษัทของคุณพ่อ ที่ผมรับมาสานต่อ เวลานั้นยอดขายประมาณ 20 ล้าน เป็นธุรกิจกลุ่มเครื่องเขียนขายส่ง เป็นกิจการขนาดกลาง ขณะที่ยอดขายปัจจุบันของทั้งกรุ๊ปน่าจะเกือบ 4 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นยอดขายซินเน็ก กว่า 3 หมื่นล้านบาท และที.เค.เอส.กว่า 1หมื่นล้านบาท และยังมีเครือต่างๆ ปีหน้า(2566) ยอดขายน่าจะเกิน 4 หมื่นล้านบาท

 

ส่งต่อดีเอ็นเอให้ลูกหลาน
ผมทำธุรกิจก็พยายามให้พวกเขาซึมซับการทำงาน อย่างลูกสาวคนโต (สุธิดา มงคลสุธี) หลังจบปริญญาตรีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และต่อปริญญาโท ตอนนั้นผมเปิดโอกาสให้ลูกไปทำงานข้างนอกก่อน ซึ่งเขาทำงานเป็นนักวิเคราะห์ด้านการเงิน จึงชวนให้มาทำงานกับบริษัท ช่วงแรกให้ทำฝ่ายการเงินบริษัท พยายามฝึกลูกอย่างที่คุณพ่อกับคุณแม่ฝึกผม ซึ่งลูกสาวคนนี้ทำได้ดี วันนี้ผมจึงมอบหน้าที่ดูแลซินเน็คกับลูกคนนี้

ด้วยความที่ผมมีลูกหลายคน แต่ละคนมีความชอบต่างกัน ลูกชายคนที่สาม (จุติพันธุ์ มงคลสุธี) เก่งไอที ทำบริษัทไอที ซอฟต์แวร์ จนเป็นที่นิยม ผมก็ดึงมาทำด้านนี้โดยตรง ช่วยบริษัททำเรื่องสิ่งพิมพ์ งานพิมพ์

ส่วนลูกสาวคนรอง (สุพรรณษา อารยะสกุล) ปัจจุบันก็ดูแลครอบครัวของเขา และอีก 2 คน คือ ลูกสาว (ศรุตา มงคลสุธี) และลูกชาย (พันธุ์ธัช มงคลสุธี) กำลังศึกษาอยู่

อีกตัวตนที่ซ่อนอยู่
อีกมุมในตัวผมที่ถ่ายทอดในหนังสือเล่มนี้ คือ การเป็นนักสะสม สมัยเด็กๆ ผมสะสมแสตมป์ เพราะมีคุณแม่เป็นต้นแบบ ปัจจุบันผมสะสมไวน์ และวิสกี้ ผมเคยบอกแบรนด์ไทยชื่อดังรายหนึ่งให้ออกสินค้าพรีเมียม ปีละไม่กี่ลัง มีเบอร์ชัดเจน ใส่ขวดคริสตัลสวยๆ แล้วกล้าตั้งราคา ผมว่าขายขวดเป็นหมื่นยังได้ คนกล้าซื้อ อย่างน้อยก็ผมคนหนึ่งละ(ยิ้ม)

หมวกประธานส.อ.ท.รอส่งต่อคนใหม่
ตลอดเวลาที่ทำงานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) 3 สมัย ผมคิดเสมอว่าอยากใช้ความสามารถในการช่วยสังคม พอทำงานไปเรื่อยๆ ก็อิน มีเพื่อน มีพรรคพวก ทำให้รู้ว่ายังมีเรื่องให้เรียนรู้อีกมากจากผู้คนที่เราพบเจอในสภา ทำให้ช่วยสังคมได้มากขึ้นด้วย ที่สำคัญผมสามารถทำให้ ส.อ.ท.กลับมากลมเกลียวได้สำเร็จ แข็งแกร่งขจัดความขัดแย้งที่เคยเกิดขึ้นในอดีต

เรื่องความอินในการทำงาน ส่วนหนึ่งคงเพราะประสบการณ์ตรงของผมที่เริ่มการเป็นเอสเอ็มอีมาก่อน ทำให้ผมได้รู้คอขวดของธุรกิจคืออะไร รู้ปัญหา เข้าใจธุรกิจรายย่อย เมื่อมีโอกาสรับตำแหน่งประธานสภา ผมจึงพยายามแก้ปัญหาให้ธุรกิจเอสเอ็มอี เพราะผมโตมาจากเอสเอ็มอี

ในมุมของผมเชื่อว่าถ้าประเทศไทยมีเอสเอ็มอีแบบผมเยอะๆ ประเทศจะแข็งแรง ไม่จำต้องมีแค่บริษัทใหญ่ระดับแสนล้านบาท ประเทศควรมีบริษัทขนาดกลางถึงใหญ่ที่เติบโตจากรายเล็กๆ มาก่อน ถ้าบริษัทเหล่านี้เติบโต 20-30% จะทำให้เศรษฐกิจไทยมีความแข็งแกร่งอย่างมาก อย่างบริษัทในต่างประเทศที่ผมเคยสัมผัส อย่างไต้หวัน ก็เติบโตมาจากเอสเอ็มอี จนปัจจุบันมีบริษัทดังระดับโลกจำนวนมาก

สำหรับประธาน ส.อ.ท.คนใหม่ ผมคิดว่าสิ่งที่ควรทำต่อคือ การเป็นเซอร์วิส ออแกไนเซชั่น คือ การทำให้สภาเป็นศูนย์พัฒนา ช่วยเหลือ สมาชิกให้แข็งแรง ผมเชื่อว่าประธานคนใหม่จะทำต่อ เพราะการทำให้สภาแข็งแรง จะทำให้แรงผลักดันเรื่องต่างๆ สำเร็จยิ่งขึ้น การสะท้อนความเห็น ความต้องการของภาคเอกชนไปถึงรัฐจะได้รับการรับฟัง ตอบสนอง ปรับปรุงแก้ไขตามที่สภาชี้แจง

นอกจากนี้ สิ่งที่ ส.อ.ท.ต้องเดินหน้าต่อ คือ ความร่วมมือกับภาครัฐ เรื่องนี้จำเป็นอย่างมาก รัฐและเอกชนต้องเดินไปด้วยกัน 2 สิ่งนี้สำคัญ เอกชนถ้าไปเดี่ยวก็ไปได้ไม่ไกล รัฐไปเดี่ยวก็ไม่ไกลเช่นกัน ความร่วมมือรัฐและเอกชนจะคลี่คลายมุมมองด้านแย่ๆ ที่เคยมีต่อกัน อาทิ เอกชนมองรัฐเชื่องช้า มีเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น ส่วนรัฐมองเอกชนเน้นผลประโยชน์ตัวเอง มุมมองพวกนี้ต้องเอาออก และทำงานร่วมกัน เพื่อให้ทุกฝ่ายแข็งแรงและเดินไปข้างหน้าด้วยกัน

ก้าวต่อไปของ ‘สุพันธุ์ มงคลสุธี’
หลังพ้นตำแหน่งประธาน ส.อ.ท. ผมจะทำหน้าที่ประธานสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (APEC Business Advisory Council – ABAC) หรือ ABAC ให้เสร็จสิ้น เป็นส่วนหนึ่งของการประชุมเอเปคของประเทศไทย และทำหน้าที่กรรมการหน่วยงานต่างๆ ที่ได้เชิญเป็นการส่วนตัว ส่วนเรื่องอื่นในอนาคตก็ต้องมาดูกันอีกที (ยิ้ม)


หนังสือ เส้นทางชีวิต CEO นักยุทธศาสตร์ไทย “สุพันธุ์ มงคลสุธี” วางจำหน่ายครั้งแรกในงานสัปดาห์แห่งชาติ ครั้งที่ 50 ปี 2565 ระหว่างวันที่ 26 มีนาคม-6 เมษายน โดย สุพันธุ์ มงคลสุธี จะไปแจกลายเซ็นวันที่ 3 เมษายน เวลา 14.00-15.00 น. บูธมติชน บูธ A16

เนื้อหาในหนังสือแบ่งออกเป็น 5 พาร์ต

พาร์ตแรก Born to be เรื่องราวชีวิตวัยเด็ก การเริ่มต้นทำงานกับครอบครัว ความเห็นที่แตกต่างระหว่างพ่อลูก โดยมีผู้เป็นแม่เป็นผู้ประสานสิบทิศ

พาร์ตสอง CEO “หมื่นล้าน” ประสบการณ์การทำธุรกิจทั้งการต่อยอดของครอบครัว และการตั้งบริษัทขึ้นมาเพิ่มเพื่อบริหารงานด้วยตัวเอง เปรียบเสมือนสตาร์ตอัพยุคบุกเบิก เมื่อธุรกิจเริ่มเติบโตยุทธศาสตร์ต้องสำคัญ รวมทั้งการเล่าถึงมุมมองธุรกิจที่ต่างจากคนอื่น จากแนวคิด 1+1 ต้องมากกว่า 2

พาร์ตสาม สนาม ส.อ.ท. จุดเริ่มต้นการทำงานให้ ส.อ.ท. ที่เริ่มจากการทำงานให้จังหวัดเพชรบุรี เพราะโรงงานไปตั้งในจังหวัดเพื่อให้ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากรัฐบาล การผลักดันให้ ส.อ.ท.จังหวัดมีชื่อเสียง จนไปสู่การลงสนาม ส.อ.ท.ส่วนกลาง การก้าวสู่ตำแหน่งประธาน ส.อ.ท. และกลยุทธ์ประสานรอยร้าวใน ส.อ.ท.

พาร์ตสี่ เวที สนช.เพื่อชาติ ประสบการณ์การทำงานในฐานะสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่โชว์ผลงานแก้กฎหมายสำคัญอย่างกฎหมายกรมศุลกากร ให้มีความทันสมัย ลดปัญหาคอร์รัปชั่น

พาร์ตห้า สไตล์ “สุพันธุ์ มงคลสุธี” ฉายภาพกลยุทธ์นักยุทธศาสตร์ที่แฝงไปด้วยอารมณ์ขัน ผลงานขับเคลื่อนเอสเอ็มอี และไลฟ์สไตล์ส่วนตัวที่แม้ทำธุรกิจด้านเทคโนโลยี แต่ชีวิตส่วนตัวกลับไม่นิยมเทคโนโลยี โดยเฉพาะโลกโซเชียล

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง