รีเซต

เปิดสถิติใบสั่งความเร็ว 1 ปี มี 11 ล้านใบ

เปิดสถิติใบสั่งความเร็ว 1 ปี มี 11 ล้านใบ
TNN ช่อง16
30 มีนาคม 2564 ( 19:55 )
692

ใบสั่งความเร็ว มากกว่า 120 กม./ชม. เป็นความเร็วใหญ่ ที่ถูกตำรวจดำเนินคดี และส่งเอกสารเรียกเก็บค่าปรับถึงบ้าน พล.ต.ต.เอกราช ลิ้มสังกาศ ผู้บังคับการตำรวจทางหลวง ระบุว่า ด้วยความเร็วที่วิ่งเกินกฎหมายกำหนด 90 กม./ชม. ทำให้ใน 1 ปี ไทยมีใบสั่งความเร็วถึงหลักล้าน 

หากดูจากสถิติที่บันทึกไว้ พบว่า ปี 2562 เกิดใบสั่งกว่า 11 ล้านใบ มีจ่ายค่าปรับแค่ 2 ล้านใบ และไม่จ่ายอีกกว่า 9 ล้านใบ แต่พอปี 2563 ข้อมูล 6 เดือนแรก พบว่า เกิดใบสั่ง 4.6 ล้านใบ มีจ่ายค่าปรับ 1.3 ล้านใบ และไม่จ่าย 3.3 ล้านใบ ซึ่งตัวเลขปี 63 ทำให้เห็นแนวโน้มว่า คนไทย เริ่มหันมาจ่ายค่าปรับมากขึ้น นั่นเป็นเพราะการบังคับใช้กฎหมาย "งดออกป้ายภาษีประจำปี" หากไม่ชำระค่าปรับ 

พล.ต.ต.เอกราช กล่าวว่า ทางตำรวจได้มีการร่วมทำ MOU กับกรมการขนส่งทางบก เพื่อบังคับใช้กฎหมายมาตรา 141/1 หรือการงดออกป้ายวงกลมหรือป้ายภาษีประจำปี ซึ่งตรงนี้อาจมีผลทางจิตวิทยาต่อผู้ขับขี่ และทำให้มีการมาเสียค่าปรับเพิ่มมากขึ้น 

แม้กลุ่มผู้ยังไม่จ่ายค่าปรับปี 2563 จะน้อย อยู่ที่ 3.3 ล้านใบ ซึ่งคิดเป็น 71% แต่ยังน่าห่วง เพราะนี่เป็นกลุ่ม กระทำผิดซ้ำ หมายถึง หนึ่งคนมีมากกว่า 1 ใบสั่ง บางคนมากถึง 100 ใบสั่งขึ้นไป นับเป็นข้อกังวล ที่อาจก่อเหตุซ้ำในช่วงเทศกาลสงกรานต์  ซึ่ฃอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุหนักทางถนนตามมา ดังนั้นตำรวจทางหลวงจึงมีแนวคิดจะออกหนังสือเตือนกลุ่มนี้ ให้มารับทราบข้อมูลก่อนสงกรานต์ หากไม่ไปจะถูกออกหมายเรียกและหมายจับตามลำดับ 

"เรื่องสำคัญมีอีกถึง 70% ที่ยังละเลิก เพิกเฉย ไม่ชำระใบสั่ง และกระทำผิดซ้ำต่อเนื่อง ตำรวจจึงมีแนวคิดออกหนังสือเตือนมารับทราบข้อมูลว่าพฤติกรรมการขับขี่เริ่มมีผลกระทบต่อสังคม หากไม่มาอาจจะต้องมีการดำเนินคดีอย่างเด็ดขาด เพื่อมาดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป" พล.ต.ต.เอกราช กล่าว

ขณะที่ ชายคนหนึ่ง เป็นหนึ่งในคนที่เลือกไม่จ่ายค่าปรับ ใบสั่งความเร็วเกินกำหนด เขาบอกเหตุผลที่ไม่จ่าย เป็นเพราะ เคยจ่ายไม่ทัน แต่กลับต่อป้ายภาษีรถยนต์ได้เช่นเดิม ทำให้พอได้ใบสั่งครั้งต่อมา จึงเลือกไม่ไปจ่ายค่าปรับ 

"ผมเคยขับประมาณ 124 บ้าง 130 บ้าง ซึ่งโดนใบสั่งให้ไปจ่ายค่าปรับ 500 บาท แต่ส่วนมากไม่ค่อยรู้เพราะส่งไปที่บ้านต่างจังหวัด แต่กลับไปบ้านไปเห็นพบว่าเลยกำหนดเวลามาแล้ว ก็ไม่ได้จ่าย หลังจากนั้นก็ไปต่อทะเบียนที่ขนส่งฯ ตามปกติ ไม่ได้มีปัญหาอะไร ซึ่งหลังจากที่ไปต่อทะเบียนก็ได้รับใบสั่งมาอีก แต่ก็ไม่เคยไปจ่ายค่าปรับ เพราะถึงไม่จ่ายก็ไม่มีผลอะไร" ชายรายหนึ่ง กล่าว

ส่วนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ที่คนเดินทางถนนสายเอเชียจะได้เริ่มใช้ความเร็วไม่เกิน 120 กม./ชม. ผู้บังคับการตำรวจทางหลวง อธิบายว่า ช่วงที่สามารถใช้ความเร็ว 120 กม./ชม. มีระยะทางประมาณ 46 กิโลเมตร บนถนนสายเอเชียสายเดียวเท่านั้น ช่วง จ.พระนครอยุธยา-จ.อ่างทอง เริ่มที่ หลักกิโลเมตรที่ 4+ 100 ถึง หลักกิโลเมตรที่ 50 ซึ่งจะมี 4 ช่องทางจราจร โดยช่องขวาสุด วิ่งได้ ต่ำสุด 100 และ ไม่เกิน 120 กม./ชม. ช่องซ้ายสุด วิ่งได้แค่ 80 กม./ชม. และสองช่องกลาง วิ่งได้ไม่เกิน 100 กม./ชม. 

โดยตลอดเส้นทางจะมีกล้องตรวจจับความเร็วเช่นเดิม ส่วนถนนเส้นอื่นทั่วประเทศ ยังคงใช้กฎหมายเดิม คือ ใช้ความเร็วไม่เกิน 90 กม./ชม. ซึ่งช่วงเทศกาล ตำรวจยังคงตั้งด่านตรวจความเร็วเช่นเดิม เพื่อป้องกันอุบัติเหตุทางถนน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง