รีเซต

#dek63 : เว็บไซต์ TCAS ที่ล่มกับอนาคตเด็ก ม.6 ที่ไม่แน่นอน ปัญหาที่มีมาทุกปี

#dek63 : เว็บไซต์ TCAS ที่ล่มกับอนาคตเด็ก ม.6 ที่ไม่แน่นอน ปัญหาที่มีมาทุกปี
บีบีซี ไทย
18 เมษายน 2563 ( 10:39 )
109
#dek63 : เว็บไซต์ TCAS ที่ล่มกับอนาคตเด็ก ม.6 ที่ไม่แน่นอน ปัญหาที่มีมาทุกปี

Getty Images

เว็บไซต์ล่ม เข้าระบบไม่ได้ หาคณะไม่เจอ เหล่านี้คือปัญหาซึ่งนักเรียนชั้น ม.6 ที่พยายามสมัครเข้ามหาวิทยาลัยกำลังเผชิญอยู่ ส่งผลให้แฮชแท็ก #dek63 ซึ่งหมายถึงเด็กที่สอบเข้ารุ่นปี 2563 กำลังติดเทรนด์อันดับต้น ๆ ในทวิตเตอร์อยู่ช่วงสายและบ่ายของวันที่ 17 เม.ย.

จากระบบเอ็นทรานซ์ ผ่านระบบแอดมิชชั่น สู่ระบบ TCAS (ระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา หรือ Thai University Center Admission System) ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบัน บทสนทนาของเด็กมัธยมปีที่ 6 ที่เกิดขึ้นในโลกโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะทวิตเตอร์ ไม่ใช่ "ยังหาสิ่งที่ชอบไม่เจอ" หรือ "ไม่รู้โตขึ้นอยากเป็นอะไร" แต่เป็นการโพสต์รูปจากเว็บไซต์ myTCAS ของที่ ทปอ. (ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย) ว่าพวกเขาไม่สามารถล็อกอินเข้าระบบได้ หรือบางคนเข้าได้ แต่ค้นหาไม่เจอคณะที่ตัวเองต้องการเข้า

ขณะนี้ เด็กมัธยมเหล่านี้อยู่ในขั้นตอนการสมัครที่ 3 หรือ TCAS 3 จากทั้งหมด 5 ขั้นตอน ซึ่งเป็นการเลือกคณะที่อยากเข้าได้ 6 ลำดับ แต่อนาคตของเด็กหลายคนต้องพบกับความไม่แน่นอนอยู่ในขณะนี้เพราะปัญหาต่าง ๆ ในเว็บไซต์

https://www.facebook.com/search/top/?q=tcas&epa=SEARCH_BOX

ขพล แสงแก้ว นักเรียนชั้นม.6 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ให้สัมภาษณ์บีบีซีไทยเรื่องการเปิดให้ลงทะเบียนเป็นวันแรกว่า การเลือกอันดับคณะที่สนใจทำได้ยากมาก เนื่องจากมีช่องการให้ค้นหาแต่ใช้ไม่ได้จริง

"อย่างของจุฬาฯ มันมีคณะให้เราเลือกเยอะมาก ถ้าเราสนใจคณะไหนก็ต้องมาไล่หาเอาเอง ไปพิมพ์ค้นหาก็หาไม่เจอ"

ล่าสุด เฟซบุ๊ก myTCAS ของ ทปอ. ได้ออกประกาศขอปิดระบบชั่วคราวแล้ว "เพื่ออัปเดตฐานข้อมูลหลักสูตรและเงื่อนไขคุณสมบัติของผู้สมัคร ระบบจะเปิดให้ใช้งานในวันที่ 18 เมษายน 2563 ตั้งแต่เวลา 06.00 น. เป็นต้นไป"

อย่างไรก็ดี นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เว็บไซต์ของ TCAS เกิดความขัดข้อง ย้อนไปในปี 2561 ซึ่งเป็นปีแรกที่เริ่มใช้ระบบ เว็บไซต์ข่าวคมชัดลึกรายงานว่าเว็บไซต์เกิดล่มในวันรับสมัครรอบที่ 3 วันแรก ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมาย

ต่อมาในปีที่แล้ว เว็บไซต์ข่าวไทยพีบีเอสรายงานว่า ในวันแรกของการเปิดลงทะเบียน TCAS ปีการศึกษา 2562 มีนักเรียนบางส่วนโพสต์ข้อความในทวิตเตอร์ เพื่อสะท้อนถึงปัญหาระบบลงทะเบียน TCAS ปีการศึกษา 2562 เช่น ไม่มีข้อมูลผู้สมัครในระบบ ไม่ได้รับอีเมลตั้งรหัสผ่าน ชื่อ นามสกุล ชื่อโรงเรียนผิด และเข้าระบบไม่ได้ แต่ทาง ทปอ. ยืนยันว่าเว็บไซต์ไม่ได้ล่ม แต่บางส่วนเกิดจากนักเรียนกรอกข้อมูลผิดเอง

https://twitter.com/AnunyaKitanuns1/status/1251046927665225729

ล่าสุด แอดมินเพจเฟซบุ๊ก TCAS ได้ตอบคำถามจากบีบีซีไทยเรื่อง "เว็บไซต์ล่ม" ว่า "ต้องนิยามคำว่าล่มก่อนครับ เว็บไซต์ที่ล่ม คือ ระบบพังไม่สามารถใช้งานได้ แต่ เว็บไซต์ของ ทปอ. ไม่ได้พังครับ เพราะเราตั้งใจปิดการใช้งานเองครับ เพราะมีปัญหาในการเลือกสาขาวิชาสมัครของน้องบางคนครับ"

นอกจากนี้ TCAS ยังบอกอีกว่า ปีนี้ระบบมีการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครตามที่สาขาวิชากำหนด ถ้าไม่มีคุณสมบัติ ก็ไม่สามารถเลือกสมัครได้ และบางสาขารับนักเรียนหลายกลุ่ม เช่น นักเรียนหลักสูตรแกนกลาง หรือ นักเรียนอาชีวะ แต่บางมหาวิทยาลัยส่งข้อมูลเงื่อนไขผิดประเภทเข้าระบบ ทำให้น้องไม่สามารถสมัครได้ เราจึงต้องปิดระบบ เพื่อจัดการฐานข้อมูลหลักสูตรและเงื่อนไขการรับของสาขาวิชาให้เรียบร้อยครับ

5 ขั้นตอน

ก่อนจะมาเลือกคณะที่อยากเข้า 6 คณะในขั้นตอนที่ 3 ขั้นตอนที่ 1 ของ TCAS เป็นการให้นักเรียนยื่นแฟ้มสะสมผลงาน หรือ portfolio เข้าสมัครกับมหาวิทยาลัยโดยตรง เป็นรอบของนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษและไม่มีการใช้ผลคะแนนการสอบวิชาการ

ส่วนขั้นที่ 2 เป็นระบบโควตาพื้นที่ เครือข่ายโครงการพิเศษเขตพิเศษของประเทศโดยใช้คะแนนวิชาสามัญ 9 วิชา, GAT (การทดสอบความถนัดทั่วไป), PAT (การทดสอบวิชาความถนัดทางวิชาการและวิชาชีพ) และ O-NET (การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน)

หากยังไม่ได้รับเข้าเรียนจากขั้นที่ 3 นักเรียนสามารถพยายามเลือกได้อีก 4 อันดับคณะที่อยากเข้าในขั้นที่ 4 ก่อนที่ขั้นที่ 5 จะเป็นการยื่นสมัครกับสถาบันอุดมศึกษาโดยตรง

ข้อมูจากเว็บไซต์ของ ทปอ. ระบุว่า วัตถุประสงค์ของการจัดสอบ TCAS มีเพื่อให้ 1.นักเรียนอยู่ในห้องเรียนจนจบภาคการศึกษา 2.นักเรียน 1คน มี 1 สิทธิ์ และ 3. นักเรียนไม่ตระเวนสอบ

AFP/Getty Images

ทปอ. ยังอธิบายเรื่องวิวัฒนาการการเปลี่ยนรูปแบบการสอบอีกว่า ระบบเอ็นทรานซ์ที่เริ่มในปี 2504 มีเพื่อแก้ปัญหาเด็กเก่งตระเวนสอบแย่งสิทธิ์ ระบบแอดมิชชั่นในปี 2549 มีเพื่อแก้ปัญหากวดวิชา ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างเด็กเมืองและชนบท และปรับระบบแอดมิชชั่นอีกครั้งในปี 2553 เพื่อแก้ปัญหาโรงเรียนปล่อยเกรด ก่อนที่จะมาถึงยุค TCAS ในปี 2561 ที่ "ฟื้นเอนทรานซ์" อีกครั้ง ไม่อนุญาตให้มหาวิทยาลัยรับตรง

https://twitter.com/seulgiqqq/status/1250330270013652994

คะแนนผิด

กัลยาณี หนูวรรณะ นักเรียนจากโรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย สุพรรณบุรี บอกกับบีบีซีไทยว่าเธอเข้าระบบไปแต่ค้นหาสาขาไม่ได้ มีคนแนะนำให้เลือกมหาวิทยาลัยก่อน แล้วค่อยเลื่อนหาคณะดู แต่สุดท้ายก็หาไม่เจอ ระบบล่มเสียก่อน

นอกจากนี้ กัลยาณี ยังบอกว่าก่อนหน้านี้ มีปัญหาเรื่องประกาศคะแนน GAT และ PAT ออกมา "ผิดหมดเลย ต้องร้องเรียน ตรวจคะแนนใหม่อีกรอบหนึ่ง บางคนผิดเป็น 70-80 คะแนน" และเมื่อประกาศคะแนนเป็นครั้งที่ 2 ออกมาแล้วก็ไม่สามารถร้องเรียนได้อีก และก็ไม่มีการตีพิมพ์เฉลยข้อสอบออกมาอย่างเป็นทางการ

คำบอกเล่าข้างต้นคล้ายคลึงกับสิ่งที่ ภูมินทร์ พานิชกุล นักเรียนชั้นม. 6 จากโรงเรียนสภาราชินี บอกกับบีบีซีไทย เธอบอกว่าคะแนนที่ขึ้นในระบบก็ยังไม่ถูกต้องกับความเป็นจริง และก็เจอปัญหาคล้ายกับคนอื่นที่ไม่เจอข้อมูลของตน เมื่อเข้าไปได้ก็ไม่สามารถเลือกคณะที่ต้องการได้

"ระบบมันทำความเข้าใจยากมาก แต่ละรอบก็ใช้เวลานานมาก" ภูมินทร์ กล่าว "อีกอย่างค่าสมัครก็แพงเกินไป ยังไม่รวมค่า GAT/PAT หรือ 9 วิชาสามัญ"

หากจะสมัครครบ 6 คณะ นักเรียนต้องจ่ายเงิน 650 บาท ซึ่งภูมินทร์มองว่าแสดงถึงความเหลื่อมล้ำ "แบบคนที่รวยกว่าก็ซื้ออันดับได้มากกว่าคนอื่นที่งบน้อย"

กัลยาณี บอกว่าเธอเองก็ได้ยินเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องค่าสมัครเช่นกัน เนื่องจากช่วงนี้เศรษฐกิจไม่ค่อยดีจากวิกฤตโควิด-19 ด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง