รีเซต

ภาพกาแล็กซี่แอนโดรเมด้าใหม่ล่าสุด เหมือนดอกกุหลาบสีแดง

ภาพกาแล็กซี่แอนโดรเมด้าใหม่ล่าสุด เหมือนดอกกุหลาบสีแดง
TNN ช่อง16
12 กันยายน 2567 ( 15:21 )
45
ภาพกาแล็กซี่แอนโดรเมด้าใหม่ล่าสุด เหมือนดอกกุหลาบสีแดง

กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลเผยภาพถ่ายใหม่ล่าสุดของ "กาแล็กซีแอนโดรเมด้า (Andromeda Galaxy)" ที่มองเห็นเป็นแสงสีแดง และจัดเรียงตัวกันจนทำให้ปรากฏภาพคล้ายดอกกุหลาบสีแดง โดยภาพถ่ายดังกล่าวถูกเผยแพร่เมื่อวันที่ 30 สิงหาคมที่ผ่านมา นับว่าเป็นหนึ่งในกาแล็กซีที่สวยงาม และอยู่ใกล้กับกาแล็กซี่ทางช้างเผือกมากที่สุด 




สำหรับกาแล็กซีแอนโดรเมด้า (Andromeda Galaxy) มีระยะห่างจากโลก 2.5 ล้านปีแสง หรือระยะทางที่แสงใช้เวลาเดินทาง 2.5 ล้านปี เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 152,000 ปีแสง หรือระยะทางที่แสงใช้เวลาเดินทาง 152,000 ล้านปี โดยปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์คำนวณว่าความเร็วแสงเท่ากับ 300,000 กิโลเมตรต่อวินาที




นักวิทยาศาสตร์คาดว่ากาแล็กซีแอนโดรเมด้ามีมวลเกือบเท่ากับกาแล็กซีทางช้างเผือกของเรา โดยตำแหน่งของภาพถ่ายอยู่บริเวณตะวันออกเฉียงเหนือของกาแล็กซีแอนโดรเมด้า รวมถึงแขนก้นหอยของกาแล็กซี่ ที่ถักทอกันอย่างซับซ้อนและก๊าซไอออนจำนวนมาก ซึ่งคาดว่าเป็นแหล่งในการก่อตัวของดวงดาวดวงต่าง ๆ




ภาพถ่ายดังกล่าวนอกจากมีความสวยงามแล้ว ยังช่วยให้นักดาราศาสตร์ สามารถศึกษาการก่อตัวของดวงดาว และการระเบิดของซูเปอร์โนวาขนาดใหญ่ ซึ่งกระตุ้นการเคลื่อนตัวของก๊าซไฮโดรเจนในบริเวณรอบ ๆ ทำให้มีลักษณะการจัดเรียงตัวกันจนให้ภาพคล้ายกับกลีบของดอกกุหลาบ 




สำหรับเหตุผลที่ทำให้ก๊าซไฮโดรเจนมีสีแดงในอวกาศ มาจากไฮโดรเจนในอวกาศ ที่ถูกกระตุ้นโดยพลังงานจากแหล่งต่าง ๆ ทำให้ปล่อยแสงออกมาในช่วงความยาวคลื่นประมาณ 656.3 นาโนเมตร กระบวนการนี้เรียกว่า H-alpha emission หรือการเปล่งแสงแบบ H-alpha ซึ่งทำให้เรามองเห็นก๊าซไฮโดรเจนในอวกาศเป็นสีแดง




"ภาพถ่ายช่วยให้ขอบเขตของการศึกษาครอบคลุมดวงดาวหลากหลายชนิด ซึ่งไม่เพียงให้มุมมองที่ชัดเจนเกี่ยวกับประวัติ และความหลากหลายของดวงดาวในกาแล็กซีแอนโดรเมด้า แต่ยังให้ข้อมูลเชิงลึกเพิ่มเติมเกี่ยวกับการก่อตัวของดวงดาวและวิวัฒนาการโดยรวมอีกด้วย" เจ้าหน้าที่ของนาซาเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับภาพถ่ายเพิ่มเติม




ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์เชื่อกันว่ากาแล็กซีแอนโดรเมด้า (Andromeda Galaxy) กำลังเคลื่อนตัวเข้าใกล้ทางช้างเผือก เนื่องมาจากแรงโน้มถ่วงระหว่างกาแล็กซีทั้งสองและมวลสารมืดที่มองไม่เห็น ซึ่งอยู่รอบ ๆ กาแล็กซีทั้งสอง โดยคาดว่าจะเกิดการชนกันในอีกประมาณ 2,000-4,000 ล้านปีข้างหน้า ซึ่งจะทำให้โครงสร้างของทั้งกาแล็กซีแอนโดรเมด้าและทางช้างเผือกในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก อย่างไรก็ตาม งานวิจัยใหม่ๆ บางส่วนยังคงตั้งคำถามเกี่ยวกับทฤษฎีการชนกันนี้ และอาจต้องใช้เวลาพิสูจน์ความถูกต้องเพิ่มเติม




ที่มาของข้อมูล Space.com


ที่มาของภาพ NASA/Catholic University of America

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง