รีเซต

แพทย์ชี้วัคซีนเข็ม 3 ต้องได้ทุกคน คาดเริ่มต.ค. กำชับกลุ่มเสี่ยง 608 ต้องฉีด

แพทย์ชี้วัคซีนเข็ม 3 ต้องได้ทุกคน คาดเริ่มต.ค. กำชับกลุ่มเสี่ยง 608 ต้องฉีด
มติชน
25 กรกฎาคม 2564 ( 15:13 )
76
แพทย์ชี้วัคซีนเข็ม 3 ต้องได้ทุกคน คาดเริ่มต.ค. กำชับกลุ่มเสี่ยง 608 ต้องฉีด

 

หลังจากที่ประเทศไทยได้เริ่มฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ตั้งแต่เดือน ก.พ.64 ซึ่งในขณะนั้น เป็นการฉีดในพื้นที่ระบาด เช่น สมุทรสาคร เขตบางแค ชุมชนคลองเตย รวมถึงพื้นที่เสี่ยงในกรุงเทพมหานคร(กทม.) ประชาชนผู้ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็ม มาระยะเวลาหนึ่งแล้ว มีความกังวลและอยากทราบว่าตนเองจะได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น หรือเข็มที่ 3 หรือไม่อย่างไร เพื่อสร้างความปลอดภัย และความมั่นใจในการใช้ชีวิต

 

 

เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า ในขณะนั้นเป็นการระบาดโควิด-19 สายพันธุ์ดั้งเดิม รวมถึงสายพันธุ์อัลฟ่า(อังกฤษ) ซึ่งข้อมูลพบว่า วัคซีนซิโนแวค มีประสิทธิภาพดี แต่เมื่อมาเจอสายพันธุ์เดลต้า(อินเดีย) ดูเหมือนภูมิต้านทานโรคจะลดลง แต่ก็ไม่ได้หมดไปทีเดียว ที่สำคัญคือ ยังลดอัตราการป่วยหนักถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยเกิดขึ้นในทุกวัคซีน หลายประเทศก็พบปัญหานี้ เช่น สหรัฐอเมริกา สิงคโปร อิสราเอล รวมถึงทั่วโลกด้วย ดังนั้น สถานการณ์ช่วงที่เราฉีดซิโนแวค ก็มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ตอนนั้น

 

 

 

นพ.โอภาส กล่าวว่า กรณีการฉีดเข็มบูสเตอร์โดส(Booster dose) มีความเห็นตรงกันว่าต้องบูสเตอร์ ซึ่งมีประเด็นพิจารณาคือ 1.บูสเตอร์ด้วยวัคซีนอะไร 2.จะบูสเมื่อไหร่ ซึ่งต้องรอข้อมูลวิชาการ แต่จะต่างกับกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ที่ต้องเจอผู้ป่วยทุกวัน มีความเสี่ยงสูง จึงจำเป็นต้องบูสเตอร์ให้ก่อน เพื่อป้องกันการติดเชื้อและป้องกันผลกระทบในการดูแลผู้ป่วย ทั้งนี้ ผลการฉีดบูสเตอร์เข็มที่ 3 เป็นวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ให้กลุ่มบุคลากรแล้วเราเจาะเลือดตรวจแล็บ พบว่าภูมิต้านทานขึ้นสูงมาก ค่อนข้างดี ค่อนข้างมั่นใจ แต่สำหรับวัคซีนไฟเซอร์เรายังไม่มีข้อมูลว่า การฉีดซิโนแวค 2 เข็ม แล้วตามด้วยไฟเซอร์เป็นเข็มที่ 3 ภูมิฯ จะดีแค่ไหน ซึ่งต้องรอดูผลอีกระยะหนึ่ง ดังนั้น ไม่ได้แปลว่า บูสเตอร์ด้วยแอสตร้าฯ ไม่ดี ให้ผลที่ดีมาก แต่จะฉีดเมื่อไหร่ ต้องรอดูอีกระยะหนึ่ง รวมถึงในขณะนี้ ก็ยังมีประชาชนที่ยังไม่รับวัคซีนเข็มที่ 1 เราจึงต้องบริหารในส่วนนี้ด้วย

 

 

 

“แต่แนวโน้มสำหรับประชาชนทั่วไป ก็จะบูสเตอร์แน่นอน แต่จะเมื่อไหร่ก็ขอให้รอข้อมูลก่อน ส่วนตัวคิดว่าเข็มที่ 3 ก็คาดว่าอาจเป็นไตรมาสที่ 4 ที่เรามีวัคซีนจำนวนมากขึ้นแล้ว รวมถึงประชาชนกลุ่มอื่นก็น่าจะได้วัคซีนเข็มที่ 1 มากเพียงพอแล้ว จริงๆ ตอนนี้คนต่างจังหวัดเสียสละให้คนกรุงเทพฯ มาก ทำให้กทม.ฉีดได้กว่า 50-60% เรามีวัคซีนฉีดแล้ว 15 ล้านโดส เป็นคนกรุงเทพฯ เกือบ 6 ล้านโดส คิดเป็น 1 ใน 3 ของจำนวน เป็นไปตามเป้าหมายที่เราจะฉีดอย่างน้อย 5 ล้านคนภายในเดือนมิ.ย.-ก.ค. ทุกอย่างเป็นไปตามเป้า ส่วนกลุ่มสูงอายุก็ฉีดได้ 70% แล้ว คาดว่าสัปดาห์นี้ก็จะฉีดได้ถึง 80% ตามเป้าหมาย” นพ.โอภาส กล่าว

 

 

 

นพ.โอภาส กล่าวว่า สำหรับประชาชนในต่างจังหวัด เราต้องเร่งฉีดให้ได้ตามกลุ่มเสี่ยง 608 คือ กลุ่มสูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้มีโรคประจำตัว 7 โรคบวกกับหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งจริงๆ ในพื้นที่ต่างจังหวัดกลุ่มนี้จะเข้าถึงโรงพยาบาลยาก เพราะต้องมีคนพามา ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุข จึงเน้นย้ำการฉีดในกลุ่มเป้าหมายนี้ให้สำเร็จ โดยสัปดาห์หน้าจะให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมูบ้าน จูงกลุ่มเป้าหมายมาฉีดวัคซีนให้ได้ เพื่อให้เป้าหมายได้รับอย่างครบถ้วน รวมถึงขณะนี้เราได้วัคซีนค่อนข้างตามแผน แนวโน้มดีขึ้นเรื่อยๆ เช่น วัคซีนแอสตร้าฯ ก็มีความชัดเจนเบื้องต้นว่า จะส่งมอบวัคซีนให้เราเดือนละ 5-6 ล้านโดสและเปิดช่องให้เราได้เจรจาต่อเพื่อให้ได้จำนวนที่มากขึ้น เราก็พยายามเจรจาต่อเนื่อง

 

 

 

เมื่อถามว่าพื้นที่กรุงเทพฯ ยังพบผู้ติดเชื้อจำนวนมากในชุมชน นพ.โอภาส กล่าวว่า ปัญหาที่เราพบตอนนี้ คือ การติดเชื้อในบ้าน คนในครอบครัว และจากข้อมูลพบว่า ผู้ป่วยส่วนหนึ่งยังไม่ได้รับวัคซีน หรือได้รับเข็มที่ 1 ฉะนั้น ต้องเข้าใจว่าการฉีดวัคซีนไม่ได้ป้องกัน 100% แต่อย่างน้อยก็ทำให้อาการป่วยน้อยลง สิ่งสำคัญคือ อยู่บ้านให้มากที่สุด หรือและเมื่ออยู่บ้านหรือที่ทำงาน ต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมือ รับประทานอาหารคนเดียว โดยเฉพาะการอยู่บ้านร่วมกับผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว ยิ่งต้องระมัดระวัง เพราะส่วนใหญ่เราจะเผลอกับคนใกล้ชิด คนที่เราไว้ใจ ทำให้เกิดการติดเชื้อ

 

 

“การระบาดค่อนข้างกว้างขวาง การสอบสวนควบคุมโรคก็จะมีประโยชน์น้อยลง แต่จะมีประโยชน์คือ ทุกคนทำเหมือนกัน สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ เว้นระยะห่าง ทุกคนต้องทำเหมือนกัน คนกรุงเทพฯ ต้องทำเหมือนกัน แม้กระทั่งอยู่ที่บ้านกับคนในครอบครัว หรือแม้กระทั่งในที่ทำงาน กินข้าวก็นั่งแยกคนเดียว เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อสู่คนใกล้ชิด ซึ่งจะต้องปฏิบัติเข้มงวดต่อไปอีก 1-2 เดือน” นพ.โอภาส กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง