รีเซต

ปลดล็อคมาตรการทางการเงิน เข้าถึงสินเชื่อง่าย-จูงใจแบงก์ช่วยลูกหนี้

ปลดล็อคมาตรการทางการเงิน เข้าถึงสินเชื่อง่าย-จูงใจแบงก์ช่วยลูกหนี้
TNN ช่อง16
24 สิงหาคม 2564 ( 14:41 )
107
ปลดล็อคมาตรการทางการเงิน เข้าถึงสินเชื่อง่าย-จูงใจแบงก์ช่วยลูกหนี้

สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด 19 ที่รุนแรง ยาวนาน และมีความเสี่ยงสูง ทำให้มาตรการทางการเงินที่ทำอยู่ไม่เพียงพอ  ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงเดินหน้าผ่อนปรนมาตรการการเงินเพิ่มเติม เช่นเดียวกับมาตรการการคลังที่ต้องทำเพิ่มเรื่องการอัดฉีดเม็ดเงินเพิ่ม 


โดยผ่อนคลายกฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่อ  “ปลดล็อค” ให้ลูกหนี้เข้าถึงสภาพคล่องง่ายขึ้น และ "จูงใจ" สถาบันการเงินแก้หนี้เก่า โดยเน้นปรับโครงสร้างหนี้แบบระยะยาว  รวมถึงการ "แฮร์คัท"  หนี้  ซึ่งธปท.ยืนยันว่า ไม่ได้เป็นมาตรการบังคับ  ส่วนรายละเอียดของมาตรการที่ผ่อนปรนเพิ่มเติมมีอะไรบ้าง ติดตามได้ในรายการเศรษฐกิจอินไซต์วันนี้ 


สถานการณ์ของโควิด 19 กลายพันธุ์ที่พัฒนาเป็นสายพันธุ์เดลต้าที่แพร่กระจายง่ายขึ้นตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อสะสมในช่วงการระบาดระลอกใหม่ ตั้งแต่ 1 เมษายน - 23 สิงหาคม 2564 มีจำนวนทะลุกว่า 1 ล้านคนแล้ว  ระบบสาธารณสุขมีข้อจำกัดมากขึ้น ทำให้มาตรการคุมการระบาดต้องเข้มงวดขึ้น  

มาตรการ lockdown หรือการจำกัดพ้นที่รอบนี้ ยิ่งซ้ำเติมธุรกิจและครัวเรือน ส่งผลให้ฐานะการเงินมีความเปราะบางสูงขึ้น  เพราะเงินออมลดลงทุกครั้งที่การระบาดกลับมา สายป่านของครัวเรือนสั้นลงเรื่อย ๆ สะท้อนจากตัวเลขเงินฝากในบัญชีที่มียอดต่ำกว่า 50,000 บาท ที่ล่าสุด ในเดือนพฤษภาคม 2564 ปรับลดลงเทียบกับปีก่อนเป็นครั้งแรก โดยหดตัวที่ร้อยละ 1.6 ขณะที่เงินฝากในบัญชียอดสูงกว่า 1 ล้านบาทยังขยายตัวได้ที่ร้อยละ 6.0 ใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด  ขณะที่หนี้สินก็มีสัญญาณเพิ่มพูนขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อชดเชยสภาพคล่องที่หายไป


ดังนั้น เพื่อให้มาตรการทางการเงินช่วยบรรเทาผลกระทบได้มากขึ้นในระหว่างที่ต้องใช้เวลาในการแก้ปัญหาด้านสาธารณสุข  ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) จึงมีมติอนุมัติมาตรการเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มเติมเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (19 ส.ค.64) โดยมาตรการที่ออกมาหลักๆ มี 2 ส่วนคือ 

 1. การรักษาสภาพคล่องและเติมเงินใหม่ให้กับลูกหนี้ SMEs และรายย่อย เพื่อให้สามารถหล่อเลี้ยงธุรกิจและเพียงพอต่อการดำรงชีวิต  โดยปรับเกณฑ์สินเชื่อฟื้นฟู  และผ่อนปรนหลักเกณฑ์เกี่ยวกับสินเชื่อลูกหนี้รายย่อย ในส่วนของบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล


2. การแก้ไขหนี้เดิมให้เหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบันและช่วยเหลือลูกหนี้ได้จริง โดยกำหนดแนวทางปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาว  รวมถึงมาตรการที่ธปท. ทำเป็น “เสมือนเสบียง” ส่งต่อให้สถาบันการเงินเพื่อนำส่งเสบียงไปช่วยแก้ไขหนี้เดิมด้วย  เช่น ปรับหลักเกณฑ์การจัดชั้นหนี้ยืดหยุ่นมากกว่า  การขยายระยะเวลานำส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน หรือ เอฟไอดีเอฟ เป็นต้น 

มาดูรายละเอียดแต่ละมาตรการ  เริ่มจากมาตรการการ รักษาสภาพคล่องและเติมเงินใหม่ ให้กับลูกหนี้ SMEs และรายย่อย”  โดย ธปท. ปรับปรุงหลักเกณฑ์สินเชื่อฟื้นฟูสำหรับลูกหนี้ SMEs  แม้ว่าสินเชื่อฟื้นฟูในระยะแรกข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 16 สิงหาคม 2564 ธปท. อนุมัติสินเชื่อฟื้นฟูไปแล้ว รวมทั้งสิ้น 92,316 ล้านบาท และคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายร่วมระหว่าง ธปท. กับสถาบันการเงินที่ 1 แสนล้านบาทได้ภายใน 6 เดือน หรือก่อนเดือนตุลาคม 2564 


แต่ที่ผ่านมา ธปท. ได้หารือกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งผู้ประกอบธุรกิจผ่านสมาคมต่าง ๆ เช่น หอการค้าไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสถาบันการเงินอย่างต่อเนื่อง เพื่อรับฟังปัญหา อุปสรรค และข้อจำกัดต่าง ๆ ของมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู และเห็นควรให้ “ขยายวงเงินสินเชื่อ”  


โดยเฉพาะกลุ่มลูกหนี้ใหม่ หรือลูกหนี้ที่ไม่เคยมีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงินมาก่อน  เนื่องจากใช้เงินตัวเองประกอบธุรกิจ แต่เมื่อประสบปัญหาโควิด ทำให้ทุนส่วนตัวของผู้ประกอบธุรกิจอาจลดลง  ซึ่งจากเกณฑ์เดิมกำหนดวงเงินสินเชื่อฟื้นฟูให้ไม่เกิน 20 ล้านบาท (รวมวงเงินทุกสถาบันการเงิน) ขยับเพดานขึ้นเป็นไม่เกิน 50 ล้านบาท (รวมวงเงินทุกสถาบันการเงิน) เพื่อนำวงเงินสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นเข้าไปช่วยเหลือเพิ่มเติม 


ขณะที่ ลูกหนี้เก่า แต่เป็นกลุ่มที่มีวงเงินสินเชื่อเดิมต่ำ หรือกลุ่มSMEs ขนาดเล็ก (Micro SMEs)  เดิมให้วงเงินสินเชื่อร้อยละ 30 ของวงเงินแต่ละสถาบันการเงิน แต่รวมแล้วไม่เกิน 150 ล้านบาท  เช่น ถ้ามีสินเชื่อวงเงิน 10  ล้านบาท จะขอวงเงินสินเชื่อได้เพียง 3 ล้านบาทของวงเงินแต่ละสถาบันการเงิน  ซึ่งธปท.พบว่า สินเชื่อฟื้นฟูที่ปล่อยให้ Micro SMEs ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการที่มีวงเงินสินเชื่อ 5 ล้านบาท ขณะนี้มีการเบิกใช้เกือบเต็มวงเงิน หรือร้อยละ 80 ของวงเงินสินเชื่อแล้ว   ซึ่งจะเป็นข้อจำกัดหนึ่งที่ทำให้การส่งผ่านความช่วยเหลืออาจไม่เพียงพอ  จึงปรับเกณฑ์ใหม่ว่า ถ้าวงเงินสินเชื่อร้อยละ 30 ของลูกหนี้เดิมไม่ถึง 50 ล้านบาท  ให้ขยับเพดานสินเชื่อได้ถึง 50 ล้านบาท (แต่ละสถาบันการเงิน)  แต่รวมทั้งหมดลูกหนี้จะได้วงเงินสินเชื่อไม่เกิน 150 ล้านบาท


ทั้งนี้ธปท. มั่นใจว่าการปรับเพดานสินเชื่อฟื้นฟูดังกล่าวจะเป็นการลดข้อจำกัดด้านวงเงิน และเอื้อให้กลุ่มเสี่ยงถึงสินเชื่อได้มากขึ้น  ถือเป็นการปรับสภาพคล่องเพิ่มเติมให้ลูกหนี้  อย่างไรก็ดี การปรับเกณฑ์ใหม่นี้เป็นเพดานสูงสุดที่ธปท. กำหนดไว้ ส่วนการพิจารณาสินเชื่อว่าผู้ประกอบแต่ละรายจะได้เท่าไรขึ้นอยู่กับการพิจารณาของสถาบันการเงิน  

นอกจากนี้ ความเสียงด้านเครดิตที่เพิ่มขึ้น จากเศรษฐกิจที่ตกต่ำลง ดังนั้นในส่วนการค้ำประกันสินเชื่อของบรรษัทค้ำประกันสินเชื่อขนาดย่อม (บสย.) ในระยะที่สองของสินเชื่อฟื้นฟู หรือหลังปล่อยสินเชื่อฟื้นฟู 1 แสนล้านบาทแรกครบแล้ว   ธปท.ได้หารือกับกระทรวงการคลังแล้วว่าจะปรับหลักเกณฑ์ให้สอดคล้องกับความเสี่ยงที่เพิ่มสูงขึ้น  


โดยจะ “ลดค่าธรรมเนียมการค้ำประกันรวม” สำหรับลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง ได้แก่ ลูกหนี้ที่มีวงเงินสินเชื่อเดิมไม่เกิน 50 ล้านบาท และได้สินเชื่อไม่เกิน 15 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันค่าธรรมเนียมการค้ำประกันรวมอยู่ที่ร้อยละ 1.4 ต่อปี  แต่จะปรับลดลงเท่าไรขึ้นอยู่กับการพิจารณาของกระทรวงการคลัง 

 

อีกส่วนหนึ่งคือ ลูกหนี้อื่นๆ หรือกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ หรือ ลูกหนี้ที่มีวงเงินสินเชื่อเดิมมากกว่า 50-500 ล้านบาท และได้รับสินเชื่อมากกว่า 15  ล้านบาท  ซึ่งไม่ได้รับการลดค่าธรรมเนียมการค้ำประกัน (ร้อยละ 1.4 ต่อปี)  แต่จะลดอัตราจ่ายในช่วง 2 ปีแรก เพื่อลดภาระลูกหนี้ที่ปัจจุบันกำลังประสบปัญหาเดือดร้อน 


สำหรับการค้ำประกันความเสี่ยงสินเชื่อฟื้นฟูกรณีเกิดความเสียหายโดยรวม ทางบสย. จะค้ำประกันที่ร้อยละ 40 นั้นยังคงเหมือนเดิม  แต่จะปรับในรายละเอียด โดย บสย.จะ “เพิ่มการค้ำประกัน” เป็นรายกรณีสำหรับลูกหนี้กลุ่มเสี่ยง เพื่อให้สถาบันการเงินสามารถปล่อยสินเชื่อให้กับลูกหนี้กลุ่มเป้าหมายที่เปราะบางได้มากขึ้น  และเดิมการชดเชยความเสี่ยง หรือความเสียหายจะไปอยู่ที่ช่วงปีท้ายๆ  กระทรวงการคลังจะปรับใหม่โดยเลื่อนการชดเชยให้เร็วขึ้น เพื่อลดภาระให้สถาบันการเงิน


ทั้งนี้รายละเอียดทั้งหมด กระทรวงการคลังและ บสย. จะออกประกาศเรื่องการค้ำประกันสินเชื่อฟื้นฟูระยะที่สองในช่วงต้นเดือนกันยายนนี้ 

อีกมาตรการที่ธปท.ปลดล็อค เพื่อรักษาสภาพคล่องและเติมเงินใหม่ คือการผ่อนปรนหลักเกณฑ์เกี่ยวกับสินเชื่อลูกหนี้รายย่อย ในส่วนของบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ  โดย คงอัตราการผ่อนชำระขั้นต่ำบัตรเครดิตที่ร้อยละ5  ออกไปจนถึง 31 ธันวาคม 2565 จากเดิมที่ต้องเพิ่มเป็นร้อยละ 8% ในปี2565 และร้อยละ 10 ในปี 2566  และขยายเพดานวงเงินสำหรับบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลสำหรับผู้ที่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่ำกว่า 30,000 บาท เป็นไม่เกิน 2 เท่าของรายได้ จากที่จะครบกำหนดสิ้นปีนี้เป็นถึงสิ้นปี 2565 และไม่จำกัดจำนวนผู้ให้สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ จากเดิมกำหนดไม่เกิน 2 ราย 


สำหรับสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล  ได้ขยายเพดานวงเงินเป็นรายละไม่เกิน 40,000 บาท จากเดิมกำหนดไว้รายละไม่เกิน 20,000 บาท  และขยายระยะเวลาชำระหนี้ของสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลเป็น 12 เดือน จากเดิมอยู่ที่ 6 เดือน   


การผ่อนปรนเกณฑ์ดังกล่าว ธปท.เชื่อว่าจะช่วยบรรเทาภาระการจ่ายชำระหนี้ ตลอดจนเพิ่มสภาพคล่องให้กับลูกหนี้ที่มีความสามารถในการชำระหนี้เป็นการชั่วคราว และช่วยเพิ่มการเข้าถึงสินเชื่อในระบบและลดความจำเป็นของลูกหนี้ที่อาจถูกผลักไปใช้สินเชื่อนอกระบบในระยะต่อไป


สำหรับการ "แก้ไขหนี้เดิม" ให้เหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบันและช่วยเหลือลูกหนี้ได้จริง  ที่ผ่านมาสถานการณ์การระบาดมีความไม่แน่นอนสูง เดิมคาดว่าจะควบคุมได้และคลี่คลายในเวลาไม่นาน ทำให้เน้นการแก้ปัญหาแบบระยะสั้น เช่น การพักชำระหนี้เป็นครั้งคราว หรือปรับโครงสร้างหนี้แบบระยะสั้นเป็นหลัก แต่สถานการณ์มีแนวโน้มยืดเยื้อกว่าที่คาดมาก การแก้ปัญหาแบบเดิมจึงไม่ตอบโจทย์ และไม่ได้ทำให้ลูกหนี้และเจ้าหนี้ได้พูดคุยเพื่อประเมินสถานการณ์ หรือหาทางแก้ไขที่จะช่วยให้ภาระของลูกหนี้ลดลงจริง  


ภายใต้สถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ธปท. จึงส่งเสริมให้เกิดการแก้ไขหนี้เดิมอย่างยั่งยืน โดยเน้นให้สถาบันการเงินช่วยเหลือลูกหนี้ผ่านการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แบบระยะยาว ซึ่งจะช่วยทำให้ลูกหนี้มองเห็นภาระหนี้ตัวเองและวางแผนทางการเงินได้ชัดเจนขึ้น รวมทั้งลดค่าใช้จ่ายและบริหารจัดการของสถาบันการเงินได้มาก 


โดย ธปท. กำหนดแนวทางการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่จะเป็นประโยชน์ต่อลูกหนี้  จะคำนึงถึงหลักการดังต่อไปนี้  “มองยาว”   คือ มองสถานการณ์ระยะยาว โดยกำหนดการจ่ายคืนหนี้ให้สอดคล้องกับรายได้ปัจจุบันที่ลดลงมากและทยอยจ่ายเพิ่มขึ้นเมื่อรายได้กลับมา เมื่อเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นไปสู่ระดับก่อนโควิด


“ทำกว้าง”  คือ สามารถช่วยลูกหนี้จำนวนมากได้เร็ว โดยสถาบันการเงินอาจทำเป็นโปรแกรม และนำเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อให้การพิจารณาและอนุมัติสินเชื่อหรือการปรับโครงสร้างหนี้ทำได้โดยไม่ต้องมาที่สาขา ทำให้สะดวก และรวดเร็วมากขึ้น


“ตรงจุด”  คือ ให้เหมาะกับอาการ และปัญหาของลูกหนี้แต่ละรายที่มีปัญหาและการฟื้นตัวต่างกัน   


และ “รอดไปด้วยกัน”  คือเป็นธรรมกับทั้งลูกหนี้และเจ้าหนี้ เพื่อให้ทุกฝ่ายผ่านความยากลำบากไปด้วยกัน 


นอกจากนี้ ต้องไม่สร้างแรงจูงใจที่ไม่เหมาะสม (moral hazard) ให้กับลูกหนี้ที่ไม่ได้รับผลกระทบ เพื่อให้ความช่วยเหลือไปสู่กลุ่มลูกหนี้ที่เป็นเป้าหมายที่แท้จริงอย่างได้ผล และรักษาสมดุลและเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินโดยรวม



ดังนั้นเพื่อเอื้อให้สถาบันการเงินและลูกหนี้มีเวลาเพียงพอในการพิจารณาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิผลในระยะยาว ธปท. จึงคงความยืดหยุ่นการบังคับใช้หลักเกณฑ์เพื่อส่งเสริมการปรับปรุงโครงสร้างหนี้   โดยสถาบันการเงินสามารถ “คงการจัดชั้น” สำหรับลูกหนี้รายย่อย และ SMEs ที่เข้าสู่กระบวนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้ว ได้จนถึง 31 มีนาคม 2565 


และการใช้หลักเกณฑ์การจัดชั้นและการกันเงินสำรองอย่างยืดหยุ่น ที่ดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563 จะหมดอายุสิ้นปีนี้ ก็ขยายไปอีก 2 ปี จนถึงสิ้นปี 2566  เพื่อลดภาระต้นทุนสำหรับสถาบันการเงินที่ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้อย่างยั่งยืน *** นอกจากนี้จะปรับ “ความยืดหยุ่นเพิ่มขึ้นอีก” เพื่อเป็นเสบียงเพิ่มเติมให้สถาบันการเงิน สำหรับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ทำวิธีนอกเหนือไปจากการขยายเวลาการชำระหนี้เพียงอย่างเดียว เช่น การเปลี่ยนโครงสร้างสินเชื่อจากระยะสั้นเป็นระยะยาวร่วมกับการปรับโครงสร้างหนี้วิธีอื่น ๆ //  การปรับโครงสร้างหนี้ที่มีการให้สินเชื่อเพิ่มเติมเพื่อเยียวยาและฟื้นฟูกิจการลูกหนี้ รวมถึง “การลดภาระการผ่อนชำระ” ให้ลูกหนี้ หรือการ “แฮร์คัท” (Haircut)  หนี้ ซึ่งจะช่วยจูงใจให้เกิดการส่งผ่านความช่วยเหลือไปยังลูกหนี้ได้อย่างเต็มศักยภาพ


ทั้งนี้ธปท.จะออกรายละเอียดเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การจัดชั้นและการกันสำรองอย่างหยุ่น สำหรับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ทำวิธีนอกเหนือไปจากการขยายเวลาการชำระหนี้เพียงอย่างเดียว ช่วงต้นเดือนกันยายนนี้ 


นอกจากนี้ ธปท.ได้ขยายระยะเวลาปรับลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน หรือ  FIDF เหลือร้อยละ 0.23 จากร้อยละ 0.46 ต่อปี ที่จะสิ้นสุดสิ้นปี 2564 นี้ ออกไปจนถึงสิ้นปี 2565 เพื่อให้สถาบันการเงินสามารถส่งผ่านต้นทุนที่ลดลงไปในการบรรเทาผลกระทบต่อภาคธุรกิจและประชาชนได้อย่างต่อเนื่องภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ที่ยังส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง


ทั้งนี้ประเด็น “การลดภาระการผ่อนชำระ” ให้ลูกหนี้  หรือ การแฮร์คัทหนี้  ธปท. โดย คุณสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2 ธปท. ยืนยันว่าธปท.ไม่ได้สั่งให้สถาบันการเงินแฮร์คัทหนี้กับลูกหนี้ทุกรายเป็นการทั่วไป  แต่ขึ้นอยู่กับสถาบันการเงินจะพิจารณาตามความเหมาะสมในการแก้ปัญหาลูกหนี้เป็นรายกรณี  เนื่องจากลูกหนี้แต่ละรายมีปัญหาหนักเบาแตกต่างกัน 

แต่หากสถาบันการเงินให้ความช่วยเหลือลูกหนี้โดยการแฮร์คัทหนี้  หรือ การเปลี่ยนโครงสร้างสินเชื่อจากระยะสั้นเป็นระยะยาวร่วมกับการปรับโครงสร้างหนี้วิธีอื่น ๆ  หรือ การปรับโครงสร้างหนี้ที่มีการให้สินเชื่อเพิ่มเติมเพื่อเยียวยาและฟื้นฟูกิจการลูกหนี้  เป็นต้น  จะได้แรงจูงใจเพิ่มขึ้นคือ การจัดชั้นและการกันสำรองจะมีความยืดหยุ่นมากกว่าการปรับโครงสร้างหนี้ที่เน้นขยายระยะเวลาการชำระหนี้เท่านั้น 


ดังนั้นกรณีที่สมาคมธนาคารไทยได้แสดงความกังวลก่อนหน้านี้ว่าการแฮร์คัทหนี้จะเป็นมาตรการบังคับนั้น น่าจะเป็นการเข้าใจที่คาดเคลื่อน  อย่างไรก็ดี ธปท.จะหารือรายละเอียดกับทางธนาคารพาณิชย์อีกครั้งหนึ่ง  


ทั้งนี้การผ่อนปรนมาตรการทางการเงินเพิ่มเติมรอบนี้ คงต้องติดตามรายละเอียดต่างๆ ที่ธปท. และกระทรวงการคลังจะประกาศออกมาช่วงตั้นเดือนหน้า  รวมถึงต้องติดตามว่าการผ่อนปรนมาตรการต่างๆ ในรอบนี้จะ "ปลดล็อก" ช่วยลูกหนี้ได้ตรงตามอาการและในวงกว้างมากน้อยแค่ไหน 



ข่าวที่เกี่ยวข้อง