รีเซต

ไม่ได้มีแค่อากงจุน ! พบ 6 เศรษฐีด้านเทคโนโลยีผู้ใจบุญจากเอเชียที่บริจาคกันเพียบ

ไม่ได้มีแค่อากงจุน ! พบ 6 เศรษฐีด้านเทคโนโลยีผู้ใจบุญจากเอเชียที่บริจาคกันเพียบ
TNN ช่อง16
14 ธันวาคม 2565 ( 13:37 )
52

ชื่อของ “อากงจุน” หรือคุณจุน วนวิทย์ ผู้ก่อตั้งบริษัทพัดลมฮาตาริ (Hatari) กลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง หลังนิตยสารฟอบส์ (Forbes) ได้จัดอันดับเศรษฐีผู้ใจบุญแห่งเอเชีย (Asia’s 2022 Heroes of Philanthropy) โดยมีชื่อของอากงจุนติดอยู่ในฐานะเศรษฐีคนเดียวของไทย และเมื่อ TNN Tech เข้าไปสำรวจรายชื่อดังกล่าว ก็พบมหาเศรษฐีแวดวงของเทคโนโลยีในเอเชียติดอันดับถึง 6 รายด้วยกัน




กัวตัม อาดานี (Gautam Adani) มหาเศรษฐีอันดับ 1 ของอินเดีย เจ้าของกลุ่มธุรกิจอาดานี (Adani Group) ที่ครอบคลุมไปถึงศูนย์ข้อมูล (Data Center) ธุรกิจฟินเทค (Fintech) หรือแม้แต่เจ้าของซลาร์ฟาร์มที่ใหญ่ที่สุดในโลก ได้บริจาคเงินกว่า 7,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2.7 แสนล้านบาท ในการพัฒนาประเทศ การศึกษา และระบบสาธารณสุข 


ในการจัดอันดับนี้ยังมีมหาเศรษฐีอีก 2 คน จากอินเดียด้วย ได้แก่ ชีพ นาดาร์ (Shiv Nadar) มหาเศรษฐีใจบุญจาก HCL Technologies ด้วยยอดบริจาคกว่า 4,900 ล้านบาท และอาชอต สุตา (Ashok Soota) จาก Happiest Minds บริษัทที่ปรึกษาด้าน IT ชื่อดังของอินเดีย ติดอันดับด้วยเงินบริจาคกว่า 2,600 ล้านบาท


นอกจากอินเดียแล้วก็ยังมี เมลานี เพอร์กินส์ และคลิฟฟ์ โอเบรชต์ (Melanie Perkins & Cliff Obrecht) คู่สามีภรรยาเจ้าของและผู้บริหารแคนวา (Canva) แพลตฟอร์มออกแบบชิ้นงานออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกจากออสเตรเลียติดอันดับด้วยเช่นกัน ทั้งคู่ได้บริจาคเงินกว่า 200 ล้านดอลลาร์ ในการตั้งมูลนิธิเพื่อการศึกษาและเปิดให้ใช้บริการแคนวา (Canva) แบบพรีเมี่ยมฟรีในหลายองค์กรด้านการศึกษา พร้อมทั้งสัญญาว่าจะยกหุ้นของพวกตนกว่า 30% ของบริษัท ให้กับการกุศลในอนาคต โดยปัจจุบัน บริษัทมีมูลค่าอยู่ที่ 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว ๆ 1.3 ล้านล้านบาท 


ลี กาชิง (Li Ka-Shing) มหาเศรษฐีอันดับ 1 ของเขตปกครองพิเศษฮ่องกงเองก็ติดอันดับด้วยเช่นกัน ในฐานะนักลงทุนและนักธุรกิจด้านโทรคมนาคมของฮ่องกงก็ได้บริจาคเงินไปกว่า 4,500 ล้านบาท ให้กับประเทศจีนและทั่วโลกในการวิจัยเพื่อพัฒนาระบบสาธารณสุข


และขยับออกจากเขตฮ่องกงไปก็มีฮิโรชิ มิกิทานิ (Hiroshi Mikitani) มหาเศรษฐีจากญี่ปุ่น เจ้าของอาณาจักรราคุเทน (Rakuten) แพลตฟอร์มสินค้าและบริการออนไลน์ชื่อดังก็ติดอันดับมาด้วย โดยเจ้าตัวได้เลือกช่วยเหลือฝั่งยูเครนในด้านมนุษยธรรมไปกว่า 7.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 250 ล้านบาท พร้อมกับช่วยสนับสนุนการใช้แอปไวเบอร์ (Viber) แอปสื่อสารของบริษัทภายในเขตยูเครนให้สามารถใช้งานได้ในทุกฟีเชอร์ของตัวแอปพลิเคชันโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ 


ทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่างของมหาเศรษฐีที่เลือกจะนำทรัพย์สินของตนไปให้กับผู้อื่น แม้ว่าการเลือกเก็บทรัพย์สินไว้กับตนจะไม่ใช้เรื่องผิด แต่การเลือกยกทรัพย์สินตนเองให้กับผู้ด้อยโอกาสนั้นถือเป็นสิ่งที่ควรค่าแก่การยกย่องอย่างแท้จริง



ที่มาข้อมูล Forbes

ที่มารูปภาพ Shiv Nadar Foundation, มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง, Adani Group, Wikipedia

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง