รีเซต

โปแลนด์เสี่ยงออกจากสหภาพยุโรป? หลังศาลวินิจฉัยกฎหมาย EU ขัดรัฐธรรมนูญ

โปแลนด์เสี่ยงออกจากสหภาพยุโรป? หลังศาลวินิจฉัยกฎหมาย EU ขัดรัฐธรรมนูญ
TNN ช่อง16
20 ตุลาคม 2564 ( 10:24 )
250

ความความร้าวฉานระหว่างสหภาพยุโรป หรือ EU และโปแลนด์เริ่มขึ้น หลังจากศาลรัฐธรรมนูญโปแลนด์ มีคำวินิจฉัย เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ที่ผ่านมาว่า กฎหมายบางส่วนของ EU ขัดกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันของโปแลนด์  


คำวินิจฉัยดังกล่าวถือว่าลดทอน หลักการกฎหมายที่สมาชิกทั้ง 27 ประเทศมีร่วมกัน และยังนับเป็นจุดเปลี่ยนสถานการณ์ระหว่างสหภาพยุโรปกับรัฐบาลโปแลนด์ให้แย่ลงไปอีก หลังทั้งสองฝ่ายมีความตึงเครียดต่อกันมาหลายปี นับตั้งแต่พรรค PiS ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านอนุรักษ์นิยมของโปแลนด์ มีนโยบายต่อต้านสหภาพยุโรป และคัดค้านการรับผู้อพยพของ EU เข้าสู่อำนาจเมื่อปี 2015


ล่าสุด นายกรัฐมนตรี มาเตอุซ โมราเวียสกี ผู้นำโปแลนด์ กล่าวหาว่า EU แบล็คเมล์ ในการอภิปรายอย่างดุเดือดกับนางเออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว

ฟอน เดอร์ เลเยน ระบุว่าเธอจะทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้โปแลนด์บ่อนทำลายค่านิยมของสหภาพยุโรป


◾◾◾

🔴 'ความท้าทายโดยตรง'


นางฟอน เดอร์ เลเยน บอกกับรัฐสภายุโรปเมื่อวานนี้ (19 ตุลาคม) ว่าคณะกรรมาธิการยุโรป ซึ่งเป็นผู้บริหารของสหภาพยุโรป กำลัง "ประเมินคำตัดสินนี้อย่างรอบคอบ" และสถานการณ์ดังกล่าวต้องได้รับการแก้ไข


พร้อมกับยืนยันว่า "การพิจารณาคดีนี้ เรียกร้องให้มีการตั้งคำถามถึงรากฐานของสหภาพยุโรป มันเป็นความท้าทายโดยตรงต่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ของคำสั่งทางกฎหมายของยุโรป"


เธอ ได้กำหนด 3 วิธีที่คณะกรรมาธิการยุโรป สามารถตอบโต้ ต่อคำตัดสินของศาลโปแลนด์ได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ได้แก่การระงับเงินทุนของสหภาพยุโรป และระงับสิทธิบางอย่างของโปแลนด์ในฐานะประเทศสมาชิก


คณะกรรมาธิการยุโรปยังไม่ได้อนุมัติเงิน 57,000 ล้านยูโรของกองทุนฟื้นฟูโควิด-19 ที่จัดสรรสำหรับโปแลนด์ และอาจจะระงับไว้จนกว่าข้อพิพาทจะยุติลง


นายโมราเวียสกี ตอบโต้ว่าโปแลนด์กำลังผู้นำสหภาพยุโรปโจมตี และเป็นเรื่อง ยอมรับไม่ได้ที่จะพูดถึงบทลงโทษทางการเงิน และกล่าวหาว่า EU แบล็คเมล์โปแลนด์และใช้อำนาจเกินกำลัง

พร้อมกับระบุว่า คำตัดสินของศาลโปแลนด์เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ถูกเข้าใจผิด และได้ตั้งคำถามเพียงประเด็นเดียวในสนธิสัญญาของสหภาพยุโรป ว่า สนธิสัญญาของสหภาพยุโรปต้องไม่คุกคามรัฐธรรมนูญของประเทศสมาชิก ที่มีร่างกฎหมายและหลักการที่ระบุว่าควรปกครองประเทศอย่างไร


อย่างไรก็ตามโมราเวียสกี ยืนยันต่อรัฐสภายุโรปหลายครั้งว่า โปแลนด์ไม่มีแผนจะออกจากการเป็นสมาชิกสภาพยุโรป และกล่าวว่า "เราไม่ควรเผยแพร่เรื่องเท็จเกี่ยวกับ Polexit"


◾◾◾

🔴 ชาวโปแลนด์ประท้วง ไม่เอา ‘Polexit’


ความขัดแย้งระหว่างโปแลนด์กับสหภาพยุโรปในประเด็นดังกล่าว ทำให้ชาวโปแลนด์จำนวนมากกังวลว่า โปแลนด์จะออกจากการเป็นสมาชิก EU เหมือนกับสหราชอาณาจักร หรือเรียกว่า ‘Polexit’


ทำให้เมื่อวันที่ 10 ตุลาคมที่ผ่านมา ชาวโปแลนด์มากกว่า 100,000 คนร่วมชุมนุม เดินขบวนสนับสนุนการเป็นสมาชิกแห่งสหภาพยุโรปต่อไป จุดที่มีการชุมนุมคับคั่งที่สุด คือ กรุงวอร์ซอ เมืองหลวงของประเทศ ผู้ชุมนุมบางคนชูธงชาติโปแลนด์และธงอียูร่วมกัน พร้อมตะโกนว่า "พวกเราจะยังอยู่” ซึ่งหมายถึงการอยู่ใน EU


มีรายงานว่าผู้ประท้วงอย่างน้อย 4 คนถูกจับกุม นึ่งในนั้นมีหลานชายของ นายกรัฐมนตรีโปแลนด์รวมอยู่ด้วย ด้วยข้อหาทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่


สำนักข่าว BBC รายงานว่า ผลสำรวจความคิดเห็นของประชนชนชี้ว่า พวกเขาสนับสนุนในการเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพยุโรปอย่างท่วมท้น และระบุว่า รัฐบาลชาตินิยมฝ่ายขวาของโปแลนด์ มีความขัดแย้งมากขึ้นกับสหภาพยุโรปในประเด็นต่าง ๆ ตั้งแต่สิทธิของ LGBT ไปจนถึงความเป็นอิสระของศาล จนล่าสุดมาถึงการพิจารณาคดีที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน อย่างเช่นคดีนี้


◾◾◾

🔴 ปฏิกิริยาชาติต่าง ๆ


นางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ออกมาเรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายมีการประนีประนอมกัน


ขณะที่ ไมเคิล รอธ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการยุโรปของเยอรมนี ระบุว่า EU จะต้องไม่ประนีประนอมกับค่านิยมการก่อตั้งของตน


ฌอง อัสเซลบอร์น รัฐมนตรีต่างประเทศของลักเซมเบิร์ก กล่าวว่า การปะทะกันระหว่างผู้นำ EU กับ นายกรัฐมนตรีโปแลนด์ คุกคามการมีอยู่ของสหภาพยุโรป


แต่ประธานาธิบดี กิตานัส นาวเซดา แห่งลิทัวเนีย ระบุว่าการเชื่อมโยงประเด็นหลักนิติธรรมกับเงินทุนนั้น เสี่ยงที่จะก่อให้เกิดอันตรายที่ไม่อาจจินตนาการได้ต่อความสามัคคีของสหภาพยุโรป และเสนอให้มีการไกล่เกลี่ยกัน หลังจากเข้าพบกับประธานาธิบดีอันด์แชย์ ดูดา ของโปแลนด์


◾◾◾

🔴 ความเห็นนักวิเคราะห์


เจสสิกา พาร์คเกอร์ ผู้สื่อข่าวประจำกรุงบรัสเซลส์ของ BBC วิเคราะห์ว่า แม้จะมีการโต้เถียงที่ร้อนแรง ด้วยมุมมองทางกฎหมาย การเมืองและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน แต่โอกาสที่จะเกิด Polexit หรือ การที่โปแลนด์จะออกจากการเป็นสมาชิก EU นั้นไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน


ขณะที่ประเด็นดังกล่าว ก็เป็นบททดสอบสำคัญสำหรับนางเออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ที่ต้องสร้างความประทับใจต่อสมาชิกรัฐสภายุโรป และอาจต้องใช้วิธีแข็งกร้าวหากจำเป็น


อย่างไรก็ตาม มีเสียงโต้แย้ง หากสหภาพยุโรปเลือกที่จะใช้ไม้แข็งกับโปแลนด์ ก็อาจทำให้วิกฤตบานปลายและผลักดันโปแลนด์ให้ไปไกลกว่านั้นได้


แต่ถ้าตัดสินใจใช้วิธีประนีประนอมมากขึ้น จะทำให้สหภาพยุโรปดูอ่อนแอและบ่อนทำลายพื้นฐานทางกฎหมายทั้งหมดหรือไม่ ก็เป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป

—————

เรื่อง: สุภาพร เอ็ลเดรจ

ภาพ: EUBulletin

ข่าวที่เกี่ยวข้อง