ย้อนอดีตรถไฟมรณะ สลดสุดผู้เสียชีวิตกว่า 50 คน
อุบัติเหตุรถไฟชนรถบัสกฐิน เมื่อช่วงเช้าวันที่ 11 ต.ค.63 ที่ บริเวณสถานีรถไฟแขวงกลั่น หมู่ 7 ต.บางเตย อ.เมืองฉะเชิงเทรา จ.ฉะเชิงเทรา โดยเป็นรถไฟบรรทุกสินค้า (บรรทุกตู้คอนเทนเนอร์) ที่ 852 เดินระหว่างสถานีแหลมฉบัง-สถานีหัวตะเข้ ชนกับรถบัสโดยสาร หมายเลขทะเบียน 30-1476 พระนครศรีอยุธยา นำผู้โดยสารประมาณ 60 คน ไปทอดกฐินวัดบางปลานัก เดินทางมาจาก จ.สมุทรปราการ ที่เกิดเหตุเป็นบริเวณทางผ่าน มีสัญญาณเตือน แต่ไม่มีเครื่องกั้น นั้น
“มติชนออนไลน์” ได้รวบรวมเหตุการณ์อุบัติเหตุรถไฟชนรถบัสครั้งสำคัญๆ นั้นพบว่าไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดหตุสลดในทำนองนี้เกิดขึ้น
โดยพบว่า ในช่วงระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมามีอุบัติเหตุเกิดขึ้นในทำนองนี้หลายครั้ง รุนแรงมากบ้างน้อยบ้างแต่ ครั้งนี้ขอนำส่วนที่เกิดเหตุแรงๆมาให้อ่านกัน
ปี พ.ศ.2522
เหตุการณ์รถไฟชนกันที่ตลิ่งชัน 2522 วันที่ 21 สิงหาคม 2522 ขบวนรถไฟที่ 165 ราชบุรี-ธนบุรี เดินทางมาถึงแยกบริเวณสถานีรถไฟชุมทางตลิ่งชัน มีขบวนรถสินค้า เส้นทาง บางซื่อ-ปาดังเบซาร์ วิ่งฝ่าไฟแดงเข้าไปชนเข้าที่กลางขบวนรถไฟ ขบวนที่ 165 ทำให้รถไฟทั้งสองขบวนตกรางและมีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 51 คน บาดเจ็บ 138 คน ส่วนใหญ่เป้นนักเรียนและพ่อค้าที่นำสินค้ามาขายที่ตลาดข้างสถานีรถไฟธนบุรี
ปี พ.ศ. 2529
เหตุการณ์หัวรถจักรพุ่งชนสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) พ.ศ. 2529 เกิดเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2529 เมื่อขบวนรถไฟประกอบด้วยหัวรถจักรจำนวน 6 คันพ่วงติดกัน ได้แก่หมายเลข 4029, 4042, 4044, 4010, 4006, 4043 กำลังซ่อมบำรุงอยู่ที่โรงเก็บหัวรถจักร สถานีรถไฟชุมทางบางซื่อ พนักงานขับรถไฟได้ติดเครื่องยนต์และลงจากรถโดยไม่ดับเครื่อง และทำท่าคันกลับอาการ (เกียร์ของรถไฟ) ไว้ที่ตำแหน่งเดินหน้า โดยล็อกคันเร่งไว้ที่สูงสุด เนื่องจากรถไฟใช้ระบบลมดูด เมื่อติดเครื่องยนต์ไว้สักครู่ ลมจะหมุนเวียนครบวงจร รถไฟขบวนดังกล่าวจึงวิ่งเข้าสู่รางและวิ่งไปตามเส้นทางผ่านทางแยกตัดกับถนนพระรามที่ 6, ถนนประดิพัทธ์ ผ่านสถานีรถไฟสามเสน, ถนนนครไชยศรี, ถนนราชวิถี, ถนนศรีอยุธยา และถนนเพชรบุรี เป็นระยะทางประมาณ 15 กิโลเมตร ด้วยความเร็วประมาณ 90 กิโลเมตร/ชั่วโมง โดยไม่มีพนักงานขับรถ เหตุการณ์นี้มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 4 คน บาดเจ็บ 4 คน
ปี พ.ศ. 2532
เหตุการณ์รถไฟตกเหวที่จังหวัดลำปาง เกิดเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2532 ขบวนรถเร็วที่ 32 (เชียงใหม่-กรุงเทพฯ) ตกรางช่วงระหว่างสถานีรถไฟปางป๋วย อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง กับสถานีรถไฟผาคัน อำเภอลอง จังหวัดแพร่ (กม.ที่ 585-586) หัวรถจักรชนกับหน้าผาข้างทางอย่างรุนแรง ทำให้พนักงานขับรถไฟเสียชีวิต ส่วนช่างเครื่องและพนักงานรักษารถได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย ขบวนรถไฟได้ตกลงไปในเหว จำนวน 8 คัน จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้มีผู้โดยสารเสียชีวิตทั้งหมด 8 คน ได้รับบาดเจ็บสาหัส 32 คน และบาดเจ็บเล็กน้อย 107 คน สาเหตุของอุบัติเหตุ ระบบห้ามล้อของหัวรถจักรมีปัญหาติดขัด และมีการตรวจซ่อมแก้ไขที่สถานีรถไฟนครลำปางจนใช้การได้ แต่เกิดอาการขัดข้องอีกช่วงผ่านสถานีรถไฟแม่เมาะ เมื่อขบวนรถวิ่งผ่านสถานีรถไฟปางป๋วย เจ้าหน้าที่สังเกตว่าขบวนรถมีอาการสะบัด โคลงตัว และได้แจ้งพนักงานขับรถทราบ และพยายามดึงเบรกฉุกเฉิน ในช่วงนั้นเป็นทางลงเขามีความลาดชัน จากเทปบันทึกการเดินรถในหัวรถจักรระบุว่า ขบวนรถวิ่งด้วยความเร็วถึง 75 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยความเร็วปลอดภัยที่กำหนดไว้เพียง 45 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขบวนรถจึงหลุดจากราง และพุ่งเข้าชนหน้าผา
ปี พ.ศ.2538
เหตุการณ์รถไฟชนกับชนกับรถบรรทุก 10 ล้อ และตกราง เกิดเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2538 ขบวนรถด่วนที่ 13 กรุงเทพฯ-ตรัง (ปัจจุบันคือรถขบวนรถด่วนที่ 83) เกิดที่ระหว่างสถานีรถไฟประจวบคีรีขันธ์และสถานีรถไฟหนองหิน (กม.ที่308) เหตุเกิดจากหัวรถจักรไฟไหม้หลังจากชน ทำให้พนักงานขับรถไฟ และช่างเครื่อง รวมไปถึงคนขับรถบรรทุกเสียชีวิต และมีตู้โดยสารตกรางไปหลายโบกี้ มีผู้โดยสารเสียชีวิตรวมทั้งหมด 17 ราย และได้รับบาดเจ็บอีกจำนวนมาก
ปี พ.ศ.2549
เหตุการณ์รถไฟชนกับรถบรรทุกแล้วตกราง เกิดเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2549 เหตุเกิดที่สถานีรถไฟบ้านคูบัว จังหวัดราชบุรี โดยขบวนรถด่วนพิเศษระหว่างประเทศที่ 36 บัตเตอร์เวิร์ธ-กรุงเทพฯ ทำให้มีผู้บาดเจ็บมากกว่า 50 ราย เสียชีวิต 6 ราย โดยมีรถจักรตัดบัญชีและตู้โดยสารตกราง 6 คัน
ปี พ.ศ. 2550
เหตุการณ์รถไฟชนกัน เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2550 ที่สถานีรถไฟหนองแก โดยขบวนรถเร็วที่ 178 หลังสวน-ธนบุรี ขบวนรถด่วนพิเศษ ดีเซลรางที่ 41 กรุงเทพฯ-ยะลา ทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย บาดเจ็บ 106 ราย
ปี พ.ศ. 2552
เหตุการณ์รถไฟตกราง เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2552 โดยขบวนรถไฟด่วนที่ 84 ตรัง-กรุงเทพฯ เหตุเกิดที่สถานีรถไฟเขาเต่า ทำให้มีผุ้เสียชีวิต 7 ราย และบาดเจ็บ 88 ราย