รีเซต

จุฬาฯ เผยผลทดสอบวัคซีน ChulaCov-19 ป้องกันโควิดได้ 94% ต้านเชื้อ 4 สายพันธุ์

จุฬาฯ เผยผลทดสอบวัคซีน ChulaCov-19 ป้องกันโควิดได้ 94% ต้านเชื้อ 4 สายพันธุ์
TNN ช่อง16
16 สิงหาคม 2564 ( 12:29 )
49
จุฬาฯ เผยผลทดสอบวัคซีน ChulaCov-19 ป้องกันโควิดได้ 94% ต้านเชื้อ 4 สายพันธุ์

วันนี้ (16 ส.ค.64) ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ และ ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ร่วมกันแถลงผลทดสอบวัคซีน ChulaCov-19 ในอาสาสมัครหลังจาก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกันพัฒนาวัคซีน ChulaCov-19 และทำการทดสอบในอาสาสมัครเมื่อราวกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา 

ศ.นพ.เกียรติ เปิดเผยว่า การฉีดวัคซีน ChulaCov-19 ในอาสาสมัคร ผลเบื้องต้นของระยะที่ 1 นั้น พบว่า ผลของความปลอดภัยและปฏิกิริยาของผลข้างเคียงจาก 36 คนพบว่า ไม่พบผลข้างเคียงที่รุนแรงมีเพียงอาการเจ็บบริเวณแผลที่ฉีดเพียงเล็กน้อย ส่วนผลข้างเคียงที่พบนั้น พบเพียงระดับที่ 1 คือเจ็บปวดบริเวณที่ฉีดเพียงเล็กน้อยถึงปานกลาง มีอาการอ่อนเพลีย มีไข้ หนาวสั่น ปวดกล้ามเนื้อ ส่วนใหญ่มักจะเกิดมากขึ้นในเข็มที่ 2

ส่วนผลของภูมิคุ้มกัน วัคซีน ChulaCov-19 พบว่า สามารถยับยั้งการจับของโปรตีนที่ปุ่มหนามของไวรัสโควิดได้ 94% ขณะที่ วัคซีนของไฟเซอร์ 94% แอสตร้าเซนเนก้า 84% และซิโนแวค 75% 


ส่วนกรณีการตรวจเชื้อไวรัสที่เพาะเลี้ยงแต่ละสายพันธุ์ และดูว่าภูมิคุ้มกันในเลือดสามารถยับยั้งไม่ให้ไวรัสเข้าสู่เซลล์ในหลอดทดลองที่ทำการศึกษาได้หรือไม่ โดยได้ทำการเปรียบเทียบระหว่างเข็ม 1 และเข็ม 2 ระหว่าง ChulaCov-19 และไฟเซอร์ พบว่า 3 อาทิตย์หลังฉีดเข็ม 1 มีภูมิคุ้มกันใกล้เคียงกัน และ 3 อาทิตย์หลังจากฉีดเข็ม 2 พบว่าภูมิคุ้มกันใกล้เคียงกันเช่นกัน


สรุปเบื้องต้นวัคซีน ChulaCov-19 ในเฟสที่ 1 อายุ 18-55 ในอาสาสมัคร 36 คนพบว่า ไม่พบว่ามีผลข้างเคียงรุนแรงใดๆ ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นอยู่ในขั้นเล็กน้อยหรือปานกลางและดีขึ้นภายในประมาณ 1-3 วัน แบ่งผลเป็นดังนี้

1.สามารถกระตุ้นภูมิชนิดแอนตี้บอดี้ได้สูงเทียบได้กับวัคซีน mRNA เช่น ไฟเซอร์

2.กระตุ้นแอนติบอดี้ได้สูงมากในการยับยั้งเชื้อสายพันธุ์ดั้งเดิม

3.แอนติบอดี้ที่สูงนั้น สามารถยับยั้งเชื้อข้ามสายพันธุ์โควิดได้ทั้ง 4 สายพันธุ์ คือ อัลฟ่า เบต้า แกมม่า และเดลต้า

สำหรับขั้นตอนที่วัคซีนดังกล่าวจะสามารถขึ้นทะเบียนได้นั้น ในขณะนี้ยังคงอยู่ในขั้นเฟสที่ 1 แต่เวลาที่กระชั้นกระชิด จึงได้มีการแบ่งทีมดูแลแบ่งเป็น 2 กลุ่ม โดยขณะนี้กำลังคัดอาสาสมัครในเฟสที่ 2 คาดว่าจะเริ่มฉีดก่อนวันที่ 25 สิงหาคม ซึ่งคาดว่า ปีหน้าคนไทยราวร้อยละ 70-80 น่าจะได้รับการฉีดวัคซีนเข็ม 2   ดังนั้น จึงอาจจะเป็นการศึกษาการฉีดวัคซีน ChulaCov-19 สำหรับเป็นเข็มที่ 3

โดยคาดว่าตุลาคมจะมีการผลิตโดยคนไทย ร้อยละ 100 และพร้อมที่จะทดสอบในเฟส 2B หรือถ้าต้องทำตามเกรด 3 ในกติกาของอย.จะเป็นวัคซีนที่ผลิตในประเทศไทย เพราะเนื่องจากปัจจุบันยังคงจ้างสหรัฐอเมริกาในการผลิตสูตร ChulaCov-19 อยู่


นอกจากนี้ จุดเด่นของวัคซีน ChulaCov-19 พบว่า สามารถจัดเก็บได้มากกว่า 3 เดือนในตู้เย็นธรรมดา คือ อุณหภูมิ 2-8 องศา แต่ถ้าอุณหภูมิห้องแอร์ 25 องศา สามารถอยู่ได้ถึง 14 วัน ดังนั้น การขนส่งหรือการนำไปใช้จริง สามารถสบายใจได้ว่ามีระยะเวลาเพียงพอในการจัดเก็บ.



ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง