รีเซต

"บัตรคนจนรอบใหม่" เช็กคุณสมบัติ 8 ข้อ ก่อนลงทะเบียน ถ้ามีครบได้สิทธิชัวร์!

"บัตรคนจนรอบใหม่" เช็กคุณสมบัติ 8 ข้อ ก่อนลงทะเบียน ถ้ามีครบได้สิทธิชัวร์!
TNN ช่อง16
16 สิงหาคม 2565 ( 21:34 )
224
"บัตรคนจนรอบใหม่" เช็กคุณสมบัติ 8 ข้อ ก่อนลงทะเบียน ถ้ามีครบได้สิทธิชัวร์!



บัตรคนจนรอบใหม่ /  คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในหลักการโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ (โครงการฯ) ปี 2565 เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565  และคณะกรรมการประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม มีมติเห็นชอบการกำหนดระยะเวลาในการดำเนินโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565  เมื่อวันที่ 11 สิงหาคมที่ผ่านมา  


แต่การเปิดลงทะเบียนโครงการฯ  บัตรคนจนรอบใหม่   รอบนี้    มีการปรับปรุงฐานข้อมูลผู้มีรายได้น้อยให้เป็นปัจจุบัน ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดสรรสวัสดิการให้แก่ประชาชนที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย และมีการเพิ่มเติมคุณสมบัติในการคัดกรองเพื่อเพิ่มความแม่นยำในการระบุตัวตนผู้มีรายได้น้อยให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น  


และเพื่อให้มั่นใจว่า ผู้ลงทะเบียน  บัตรคนจนรอบใหม่   มีคุณสมบัติเป็นผู้มีรายได้น้อยตัวจริงที่สมควรได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐ ตลอดจนเป็นการช่วยให้รัฐบาลใช้งบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพในการจัดสรรสวัสดิการให้แก่ผู้ที่ต้องการได้รับความช่วยเหลืออย่างแท้จริง  โครงการฯ ได้รับความร่วมจากหน่วยงานอีก 47 หน่วยงาน ซึ่งจะเป็นหน่วยงานรับลงทะเบียนและหน่วยงานที่ช่วยในการตรวจสอบคุณสมบัติความเป็นผู้มีรายได้น้อยตามหลักเกณฑ์ที่โครงการฯ กำหนด


ไปดูรายละเอียดมีดังนี้ 



รายละเอียด "บัตรคนจนรอบใหม่" 2565 


เริ่มจากระยะเวลาในการเปิดรับลงทะเบียน  โครงการฯ จะเริ่มเปิดรับลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 5 กันยายน – 19 ตุลาคม 2565  โดยให้ลงทะเบียนผ่านทางเว็บไซต์ https://บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ.mof.go.th หรือ http://welfare.mof.go.th   และลงทะเบียน ณ หน่วยงานรับลงทะเบียนในพื้นที่ทั่วประเทศ ได้แก่ สำนักงานคลังจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ ทุกอำเภอ สำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร สำนักงานเมืองพัทยา  และสาขาธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สาขาธนาคารออมสิน และสาขาธนาคารกรุงไทย จํากัด (มหาชน)  ทั้งนี้รวมจุดให้บริการทั้งหมดมากกว่า 7,000 แห่ง 


สำหรับช่วงเวลาในการเปิดรับลงทะเบียน หากตรงกับวันเสาร์ - วันอาทิตย์ หรือวันหยุดราชการ จะขึ้นอยู่กับการพิจารณาของหน่วยงานรับลงทะเบียนแต่ละแห่ง


สำหรับการลงทะเบียนรอบนี้จะมีการจ้างนักศึกษาระดับปริญญาตรี ปวช. และปวส. มาช่วยดูแลการลงทะเบียนประมาณ 45 วัน ตำบลละ 5 คน ทั่วประเทศ 35,000 คน โดยใช้งบประมาณกว่า 750 ล้านบาท 



การประกาศผลการตรวจสอบคุณสมบัติ


เมื่อมีการลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว  จะมีการตรวจสอบคุณสมบัติผู้ลงทะเบียน โดยครั้งนี้จะนำระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI ) ที่เชื่อมโยงกับหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ที่เข้ามาช่วยตรวจสอบคุณสมบัติเพิ่มเติม จาก 47 หน่วยงานของภาครัฐ รวมถึงขั้นตอนการอุทธรณ์สิทธิ์ด้วย 


โดยกระทรวงการคลังจะประกาศผลการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ลงทะเบียนภายในเดือนมกราคม 2566 ผ่านทางเว็บไซต์ https://บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ.mof.go.th หรือ http://welfare.mof.go.th โดยมีรายละเอียด  ดังนี้


สำหรับผู้ลงทะเบียนที่ผ่านคุณสมบัติของโครงการฯ จะต้องยืนยันตัวตนด้วยบัตรประจำตัวประชาชน เพื่อเข้าร่วมโครงการฯ ที่ ธ.ก.ส. ธนาคารออมสิน หรือธนาคารกรุงไทยฯ โดยสามารถยืนยันตัวตนได้ตั้งแต่วันที่ประกาศผลการตรวจสอบคุณสมบัติช่วงเดือนมกราคม 2566 


สำหรับผู้ลงทะเบียนที่ไม่ผ่านคุณสมบัติของโครงการฯ สามารถดำเนินการยื่นเรื่องอุทธรณ์ผ่านทางเว็บไซต์ https://บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ.mof.go.th หรือช่องทางที่กระทรวงการคลังกำหนดได้ตั้งแต่วันที่ประกาศผลการตรวจสอบคุณสมบัติช่วงเดือนมกราคม 2566


ทั้งนี้ กระทรวงการคลังคาดว่า จะสามารถเริ่มใช้สิทธิโครงการฯ รอบใหม่ได้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 




การใช้สิทธิ "บัตรคนจนรอบใหม่"



ส่วนการใช้สิทธิสวัสดิการแห่งรัฐ ผู้ลงทะเบียนที่ผ่านคุณสมบัติ และยืนยันตัวตนเรียบร้อยแล้ว จะสามารถเริ่มใช้สิทธิตามโครงการฯ ได้ โดยเป็นการใช้สิทธิผ่านบัตรประจำตัวประชาชน  ดังนั้น ประชาชนที่บัตรประจำตัวประชาชนหมดอายุหรือมีบัตรประจำตัวประชาชนที่ไม่ใช่แบบอเนกประสงค์  หรือ Smart Card ให้เปลี่ยนเป็นบัตรประจำตัวประชาชนแบบSmart Card และในส่วนของวันที่จะเริ่มใช้สิทธิสวัสดิการแห่งรัฐ กระทรวงการคลังจะประกาศให้ทราบต่อไป 


ทั้งนี้ ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในปัจจุบันจะยังคงใช้สิทธิผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐได้จนถึงวันสุดท้ายก่อนที่จะมีการเริ่มใช้สิทธิใหม่ผ่านบัตรประจำตัวประชาชนสำหรับผู้ผ่านคุณสมบัติโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ  ปี 2565






คุณสมบัติ "บัตรคนจนรอบใหม่" 2565


คุณสมบัติของผู้ลงทะเบียนและสมาชิกในครอบครัวของผู้ลงทะเบียนโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565 มีดังนี้  


1. มีสัญชาติไทย  

2. มีอายุตั้งแต่ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป  

3. ไม่เป็นบุคคล ดังต่อไปนี้ ภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช ผู้ต้องขัง ผู้ถูกกักกัน ผู้ต้องกักขัง บุคคลที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ของหน่วยงานของรัฐ ข้าราชการ พนักงานราชการ พนักงาน ลูกจ้าง เจ้าหน้าที่ หรือผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐ ผู้รับบำเหน็จรายเดือน ผู้รับบำนาญปกติ หรือเบี้ยหวัดจากส่วนราชการ ข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา


4. รายได้ของผู้ลงทะเบียนไม่เกิน 100,000 บาทต่อคนต่อปี ในช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง และหากมีครอบครัวรายได้เฉลี่ยของครอบครัวของผู้ลงทะเบียนไม่เกิน 100,000 บาทต่อคนต่อปี  ในช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง  


ทั้งนี้ การตรวจสอบเกณฑ์ครอบครัวหมายถึง การตรวจสอบของผู้ลงทะเบียนและครอบครัว  (การคำนวณรายได้เฉลี่ยของครอบครัวของผู้ลงทะเบียนคำนวณได้จากการรวมรายได้ของผู้ลงทะเบียน และสมาชิกในครอบครัวของผู้ลงทะเบียน หารด้วยจำนวนบุคคลทั้งหมดในครอบครัว 


5. ทรัพย์สินทางการเงิน ได้แก่ เงินฝาก สลาก พันธบัตร และตราสารหนี้ภาครัฐ ของผู้ลงทะเบียนต้องมีมูลค่าไม่เกิน 100,000 บาทต่อคน ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง และหากมีครอบครัว ทรัพย์สินทางการเงินเฉลี่ยของครอบครัวของผู้ลงทะเบียนมีมูลค่าไม่เกิน 100,000 บาทต่อคน ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง


ทั้งนี้ การตรวจสอบเกณฑ์ครอบครัวหมายถึง การตรวจสอบของผู้ลงทะเบียนและครอบครัว  (การคำนวณทรัพย์สินทางการเงินเฉลี่ยของครอบครัวของผู้ลงทะเบียนคำนวณได้จากการรวมมูลค่าทรัพย์สินทางการเงินของผู้ลงทะเบียน และสมาชิกในครอบครัวของผู้ลงทะเบียน หารด้วยจำนวนบุคคลทั้งหมดในครอบครัว)


6. อสังหาริมทรัพย์ ไม่มีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ หรือมีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้


6.1 กรณีผู้ลงทะเบียนไม่มีครอบครัว

 1) ที่อยู่อาศัยที่เป็นที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (บ้านพร้อมที่ดิน) : กรณีอยู่อาศัยอย่างเดียว : เป็นห้องชุดต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 35 ตารางเมตร   และ/หรือบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ ห้องแถว และตึกแถว ต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 25 ตารางวา   ในกรณีเป็นที่อยู่อาศัย และใช้ประโยชน์จากที่ดินเพื่อการเกษตรต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 10 ไร่ หรือในกรณีที่ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการอื่นที่ไม่ใช่เพื่อการเกษตรจะต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 1 ไร่


2) ที่ดินแยกจากที่อยู่อาศัย: ในกรณีที่ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการเกษตรต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 10 ไร่หรือในกรณีที่ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการอื่นที่ไม่ใช่เพื่อการเกษตรต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 1 ไร่


6.2 กรณีผู้ลงทะเบียนมีครอบครัว

 1) ที่อยู่อาศัยที่เป็นที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (บ้านพร้อมที่ดิน)

 1.1) กรณีอยู่อาศัยอย่างเดียว  กรณีผู้ลงทะเบียนและคู่สมรสเป็นเจ้าของห้องชุด “แยกจากกัน”  ไม่ว่าจะมีบุคคลอื่นเป็นเจ้าของรวมด้วยหรือไม่ก็ตาม ส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ในห้องชุดของผู้ลงทะเบียนและคู่สมรสแต่ละคนต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 35 ตารางเมตร


กรณีผู้ลงทะเบียนและคู่สมรสเป็นเจ้าของห้องชุด “ร่วมกัน” ไม่ว่าจะมีบุคคลอื่นเป็นเจ้าของรวมด้วยหรือไม่ก็ตาม ส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ในห้องชุดของผู้ลงทะเบียนและคู่สมรสรวมกันต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 35 ตารางเมตร


ในกรณีผู้ลงทะเบียนและคู่สมรสเป็นเจ้าของ “ที่ดิน” ที่มีลักษณะเป็นบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ ห้องแถว และตึกแถว “แยกจากกัน”  ไม่ว่าจะมีบุคคลอื่นเป็นเจ้าของรวมด้วยหรือไม่ก็ตาม ส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ในที่ดินของลงทะเบียนและคู่สมรสแต่ละคนต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 25 ตารางวา


กรณีผู้ลงทะเบียนและคู่สมรสเป็นเจ้าของที่ดินที่มีลักษณะเป็นบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ ห้องแถว และตึกแถว  ”ร่วมกัน”  ไม่ว่าจะมีบุคคลอื่นเป็นเจ้าของรวมด้วยหรือไม่ก็ตาม ส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ในที่ดินของผู้ลงทะเบียนและคู่สมรสรวมกันต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 25 ตารางวา


1.2) กรณีเป็นที่อยู่อาศัยและใช้ประโยชน์จากที่ดินเพื่อการเกษตรต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 20 ไร่ หรือในกรณีที่ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการอื่นที่ไม่ใช่เพื่อการเกษตรจะต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 2 ไร่


2) ที่ดินแยกจากที่อยู่อาศัย: ในกรณีที่ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการเกษตรต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 20 ไร่ หรือในกรณีที่ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการอื่นที่ไม่ใช่เพื่อการเกษตรต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 2 ไร่ 


7. ผู้ลงทะเบียนจะต้องไม่มีบัตรเครดิต ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง


8. ผู้ลงทะเบียนจะต้องไม่มีวงเงินกู้ หรือมีวงเงินกู้ ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง แต่ไม่เกินหลักเกณฑ์ ได้แก่ วงเงินกู้สำหรับที่อยู่อาศัยรวมไม่เกิน 1.5 ล้านบาท และ/หรือ วงเงินกู้สำหรับยานพาหนะรวมไม่เกิน 1 ล้านบาท


ทั้งนี้  จากคุณสมบัติที่กล่าวมา หากประชาชนที่มีคุณสมบัติและต้องการได้รับสวัสดิการภายใต้โครงการฯ ปี 2565 ทุกคนจะต้องลงทะเบียนใหม่ เพื่อเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบและคัดกรองใหม่ทั้งหมด 


ด้าน นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เงินที่ใช้อุดหนุนในโครงการฯ เป็นเงินจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี  ซึ่งที่ผ่านมาได้ใช้งบประมาณปีละ 48,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ สำหรับการลงทะเบียนรอบใหม่นี้ หากมีผู้ได้รับสิทธิภายใต้โครงการฯ มากกว่าปัจจุบัน ทางกระทวงการคลังพร้อมจะเพิ่มวงเงินงบประมาณในส่วนนี้อย่างเต็มที่ 


ทั้งนี้กระทรวงการคลังประเมินว่า การลงทะเบียนโครงการฯ รอบใหม่นี้ จะมีประชาชนลงทะเบียนเป็นจำนวน  ก็ต้องติดกันว่า ระบบจะรองรับได้มากน้อยแค่ไหน และการคัดกรองที่ เข้มข้นจะมีผู้ผ่านเข้ามาได้รับสิทธิภายใต้โครงการฯ มากน้อยแค่ไหน 




ภาพ TNNONLINE  


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง