รีเซต

ร้องปปช.สอบ ผู้บริหารท้องถิ่น ปมยึดหัวหินบาร์ซาร์ สกัดเจ้าของสิทธิ์เข้าทำประโยชน์ในที่ดินรถไฟ

ร้องปปช.สอบ ผู้บริหารท้องถิ่น ปมยึดหัวหินบาร์ซาร์ สกัดเจ้าของสิทธิ์เข้าทำประโยชน์ในที่ดินรถไฟ
มติชน
30 มิถุนายน 2563 ( 18:40 )
98
ร้องปปช.สอบ ผู้บริหารท้องถิ่น ปมยึดหัวหินบาร์ซาร์ สกัดเจ้าของสิทธิ์เข้าทำประโยชน์ในที่ดินรถไฟ

 

ในการประชุมคณะทำงานศึกษากำหนด ยุทธศาสตร์การบริหารพื้นที่และติดตามกำกับนโยบายจากการจัดการรายได้จากทรัพย์สินประเภทอสังหาริมทรัพย์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท. เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งมีนายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง เป็นประธานในการประชุม

 

หนึ่งในวาระการประชุม มีการหารือประเด็น จำนวนสัญญา ประเภทสัญญา และมูลค่าสัญญาของแปลงที่ดินของรฟท. โดยให้ รฟท.จัดทำข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับแปลงที่ดินต่างๆ พร้อมจัดทำแผนปฏิบัติการ เพื่อให้สามารถจัดหาประโยชน์จากอสังหาริมทรัพย์ของ รฟท. ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

ซึ่งที่ผ่านมา รฟท. ไร้ประสิทธิภาพ การจัดหาประโยชน์จากอสังหาริมทรัพย์ของรฟท.เอง ซึ่งหนึ่งในนั้น ก็มีบริษัท ซัสเซส แพลน จำกัด ที่สะท้อนความล้มเหลว ความไร้ประสิทธิภาพของรฟท. ได้อย่างชัดเจน

บริษัท ซัสเซส แพลน ได้สิทธิ์ในการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินสถานีหัวหิน หรือหัวหินบาร์ซาร์ เนื้อที่ 2.34 ไร่ บริเวณทางลงชายหาดหัวหิน ถนนเรศดำริห์ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จากรฟท. หลังชนะการประกวดราคา แต่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐในท้องถิ่น ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ขัดขวางการเข้าพัฒนาพื้นที่ในที่ดินดังกล่าว เพื่อแสวงหาผลประโยชน์เอง จนทำให้บริษัท ซัสเซส แพลน ต้องเสียทั้งเงิน เสียทั้งเวลา เสียผลประโยชน์ทางธุรกิจ โดยไม่สามารถทำอะไรได้เลย

 

ที่ดินสถานีหัวหิน หรือหัวหินบาร์ซาร์ เดิมร.ฟ.ท. ให้เทศบาลหัวหินเช่าเพื่อหาผลประโยชน์ตั้งแต่ปี 2526 โดยทางเทศบาลหัวหินได้สร้างอาคาร แบ่งเป็นห้องให้ผู้ประกอบการเช่าช่วงค้าขาย

จนสัญญาเช่าสิ้นสุดลง เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2546 รฟท.จึงได้บอกเลิกสัญญากับเทศบาลหัวหิน และให้ผู้ประกอบการ รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง และขนย้ายทรัพย์สิน ออกจากพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2546

 

ต่อมาวันที่ 26 มี.ค. 2553 รฟท.ประกาศเชิญชวนให้ผู้สนใจเสนอโครงการพัฒนาที่ดินดังกล่าว เพื่อหารายได้นำไปพัฒนากิจการของรฟท. ซึ่งบริษัท ซัสเซส แพลน เข้าร่วมประมูล และชนะการประกวดราคา โดยรฟท. ได้ทำสัญญากับบริษัท ซัสเซส แพลน 2 ฉบับ คือ

ฉบับที่ 1.สัญญาเช่าที่ดินจากรฟท.เพื่อปลูกสร้างอาคาร มูลค่า 17.29 ล้านบาท มีกำหนดระยะ เวลาก่อสร้าง 3 ปี ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2555 ถึง 31 ธ.ค. 2557 ซึ่งในสัญญาหากดำเนินการไม่แล้วเสร็จ ตามกำหนดจะต้องถูกริบเงินประกัน และอาจถูกบอกเลิกสัญญาเช่าได้

ฉบับที่ 2.สัญญาเช่าเพื่อดำเนินการจัดหาผลประโยชน์ มีกำหนดระยะเวลาเช่า 20 ปี หลังสร้างอาคารศูนย์การค้าแล้วเสร็จ เริ่มตั้งแต่ 1 ม.ค. 2558 ถึง 31 ธ.ค. 2578 และต้องจ่ายค่าเช่าในปีแรก 1.49 ล้านบาท และต้องเพิ่มค่าเช่าร้อยละ 5 ของค่าเช่าเดือนสุดท้ายทุก 1 ปี
.
โดยเมื่อวันที่ 30 มิ.ย.2554 บริษัท ซัสเซส แพลน ได้ชำระค่าตอบแทนให้กับ รฟท.ทั้งค่าเช่าพื้นที่ ค่าธรรมเนียมจัดผลประโยชน์ เป็นเงิน 10.37 ล้าน พร้อมกับวางหนังสือค้ำประกันจากธนาคาร จำนวน 17.29 ล้านบาท

และเมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2558 จ่ายค่าเช่า สำหรับปี 2556 และ 2557 อีก 1.87 ล้านบาท

รวมเป็นเงินที่บริษัท ซัสเซส แพลน จ่ายให้รฟท.ไปแล้ว รวมทั้งสิ้น 12.24 ล้านบาท

แต่ปัญหาคือ แม้บริษัท ซัสเซส แพลน จะได้สิทธิ์ในการเข้าทำประโยชน์ แต่ก็ยังไม่สามารถเข้าไปดำเนินใดๆ ในที่ดินดังกล่าวได้

เพราะนับตั้งแต่รฟท. มีหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่า และแจ้งให้ผู้ประกอบการค้าในที่ดิน ขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินตั้งแต่1 มิ.ย. 2546 จนบริษัท ซัสเซส แพลน ชนะประมูล แต่ผู้ประกอบการทั้ง 27 ราย และหนึ่งในนั้น มีนายมนตรี ชูภู่ รองนายกเทศมนตรี เทศบาลเมืองหัวหิน เปิดร้านขายอาหารเครื่องดื่ม ร่วมกับผู้ค้ารายอื่นๆ ในนั้นด้วย ไม่รื้อถอนออกจากพื้นที่ ยังคงประกอบการเรื่อยมา และยังพยายามร้องเรียนหน่วยงานต่างๆ
โดยในปี 2553 นายมนตรี และพวก รวมตัวกันร้องเรียนสำนักนายกรัฐมนตรี /ร้องเรียนต่อนายกรัฐมนตรี /ร้องเรียนต่อคสช.

และวันที่ 18 มิถุนายน 2553 ไปยื่นฟ้องรฟท.ต่อศาลปกครองกลาง ขอให้เพิกถอนประกาศ เชิญชวนเสนอโครงการพัฒนาที่ดินของ รฟท. และขอให้ยกเลิกการทำสัญญาระหว่างบริษัท ซัสเซส แพลน กับรฟท. คดีนี้ศาลปกครองกลางพิพากษายกฟ้อง

หลังศาลพิพากษายกฟ้อง บริษัท ซัสเซส แพลน ก็ได้มีหนังสือแจ้งให้นายมนตรี และพวกขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดิน แต่นายมนตรี และพวก ยังคงทำมาค้าขายต่อ
บริษัท ซัสเซส แพลน จึงจำเป็นต้องยื่นฟ้องขับไล่นายมนตรี และพวก และเรียกค่าเสียหายจากการไม่ได้ใช้ประโยชน์ในที่ดิน และต้องเสียโอกาสทางธุรกิจต่อศาลจังหวัดหัวหิน ในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2558

จนเมื่อวันที่ 13 กรกฏาคม 2560 นายมนตรีกับพวก ยอมความ โดยขอประกอบกิจการในที่ดินต่อไปอีก 10 เดือน จนถึงวันที่ 3 เมษายน 2561 เมื่อครบกำหนดแล้วจะย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดิน โดยในสัญญาประนีประนอมยอมความ นายมนตรีและพวก จะได้สิทธิทำการค้าในศูนย์การค้าแห่งใหม่ เมื่อก่อสร้างศูนย์การค้าแล้วเสร็จ

เมื่อครบกำหนดย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดิน นายมนตรี และพวก ประกอบกิจการต่อ
ขณะเดียวนางสาวสมพิศ บุญนวน หนึ่งในผู้ประกอบการร้านค้า ได้ยื่นหนังสือถึงนายนพพร วุฒิกุล นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองหัวหิน ลงวันที่ 18 พฤษภาคม 2561 ขอให้เทศบาลเมืองหัวหินช่วยเหลือผู้ประกอบการค้าหัวหินบาร์ซาร์ โดยอ้างว่าได้รับความเดือดร้อน และขอให้เทศบาลช่วยเหลือทำสัญญาเช่ากับรฟท.แล้วนำให้ผู้ค้าเช่าช่วง

นายนพพร วุฒิกุล นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองหัวหิน จึงทำหนังสือถึงรฟท. ขอทำสัญญาเช่าที่ดินบริเวณอาคารหัวหินบาร์ซาร์ โดยอ้างว่าเพื่อช่วยเหลือประชาชน ซึ่งหนังสือดังกล่าว ลงวันที่ 18 พฤษภาคม 2561 ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่นางสาวสมพิศ ยื่นถึงนายนพพร

เมื่อนายมนตรี และพวก ไม่ย้ายออกจากที่ดิน วันที่ 25 พฤษภาคม 2561 ศาลจังหวัดหัวหิน จึงต้องออกหมาย ตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี เพื่อดำเนินการขับไล่รื้อถอน โดยมีกำหนดจะนำหมายไปปิดประกาศในวันที่ 24 สิงหาคม 2561
การดำเนินการของนายมนตรี และพวก ทำให้บริษัท ซัสเซส แพลน ไม่สามารถเข้าไปพัฒนาพื้นที่ ปลูกสร้างอาคาร ได้ภายใน 3 ปี ตามเงื่อนไขสัญญา จน รฟท.มีหนังสือ ลงวันที่ 11 มิถุนายน 2561 เรื่องริบเงินประกันสัญญา กรณีผิดเงื่อนไขสัญญาเช่า และหนังสือเรื่อง ขอให้ชำระเงินตามสัญญาหนังสือค้ำประกันของธนาคาร จำนวน 17.29 ล้านบาทด้วย

นายมนตรีและพวก หยิบยกหนังสือของร.ฟ.ท. เรื่องริบเงินประกันสัญญา เป็นข้ออ้างว่าบริษัท ซัสเซส แพลน ไม่ได้เป็นผู้มีสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวแล้ว ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดหัวหิน เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งงดการบังคับคดีชั่วคราว

ต่อมาวันที่ 8 ตุลาคม 2561 ศาลจังหวัดหัวหิน เลื่อนการปิดประกาศขับไล่รื้อถอนออกไป นายมนตรี และพวก ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินจนถึงปัจจุบัน และในเดือนสิงหาคม 2562 รฟท.ก็มีหนังสือบอกเลิกสัญญากับบริษัท ซัสเซส แพลน

บริษัท ซัสเซส แพลน เสียทั้งเงิน เสียทั้งเวลา และเสียผลประโยชน์ทางธุรกิจ จึงยื่นร้องเรียนสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ให้ตรวจสอบพฤติกรรม การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ และผู้บริหารท้องถิ่นในหัวหิน

ซึ่งกรณีดังกล่าวนี้เป็นอีกตัวอย่าง ที่ต่อไปหาก รฟท. จะนำที่ดินรถไฟหัวหิน หรือที่อื่นๆมาหาผลประโยชน์ เปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาประมูล เพื่อหารายได้เข้าร.ฟ.ท. จะมีใครกล้ามาลงทุนหรือไม่ หากเจ้าหน้าที่ร.ฟ.ท.ปฎิบัติหรือละเว้นปฎิบัติหน้าที่ ที่จะส่งมอบที่ดินให้กับผู้ชนะประมูล เพื่อเข้ามาประกอบการธุรกิจในที่ดินที่นำออกประมูล

ข่าวที่เกี่ยวข้อง