รีเซต

ปลูกถ่ายหัวใจพร้อมต่อมไทมัสพิเศษ ช่วยร่างกายทารกไม่ปฏิเสธอวัยวะใหม่

ปลูกถ่ายหัวใจพร้อมต่อมไทมัสพิเศษ ช่วยร่างกายทารกไม่ปฏิเสธอวัยวะใหม่
มติชน
8 มีนาคม 2565 ( 14:06 )
66
ปลูกถ่ายหัวใจพร้อมต่อมไทมัสพิเศษ ช่วยร่างกายทารกไม่ปฏิเสธอวัยวะใหม่

ข่าววันนี้ 8 มีนาคม สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ทีมแพทย์ของมหาวิทยาลัยดุ๊ก สหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่า การทดลองเปลี่ยนถ่ายหัวใจทารกและการปลูกถ่ายเนื้อเยื่อต่อมไทมัสประสบความสำเร็จตามคาด ซึ่งทำให้ทารกไม่มีอาการปฏิเสธอวัยวะใหม่ และไม่ต้องใช้ยาที่ปกติต้องใช้หลังการปลูกถ่ายอวัยวะ ซึ่งมีฤทธิ์กดภูมิคุ้มกันอีกด้วย

 

ต่อมไทมัสมีบทบาทสำคัญในการสร้างระบบภูมิคุ้มกัน โดยทีมแพทย์สงสัยว่าถ้าปลูกเนื้อเยื่อต่อมไทมัสที่สามารถเข้ากับอวัยวะที่ได้รับบริจาค อาจช่วยให้อวัยวะสามารถทำงานในร่างกายผู้ได้รับการปลูกถ่ายได้ โดยที่ผู้รับอวัยวะไม่ต้องใช้ยาป้องกันการปฏิเสธอวัยวะที่อาจมีผลเป็นพิษต่อร่างกายของผู้รับ

 

อีสตัน ซินนามอน จากเมืองอาชีโบโร รัฐนอร์ธแคโรไลนา ได้รับการเปลี่ยนถ่ายหัวใจเมื่อช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา ขณะที่เขามีอายุ 6 เดือน แต่ทางมหาวิทยาลัยดุ๊กรอประกาศผลการทดลองในวันที่ 7 มีนาคมที่ผ่านมา หลังจากทีมแพทย์พบว่า การปลูกถ่ายต่อมไทมัสเป็นไปได้ด้วยดีตามที่หวังไว้ โดยต่อมไทมัสที่ปลูกถ่ายไป ได้ผลิตเซลล์ภูมิคุ้มกันที่ไม่ได้ทำให้ร่างกายรู้สึกว่าหัวใจใหม่ของเด็กเป็นเหมือนเนื้อเยื่อแปลกปลอม

 

นายแพทย์โจเซฟ ทูเรค หัวหน้าแผนกศัลยกรรมหัวใจเด็ก โรงพยาบาลดุ๊ก ระบุว่า ทีมแพทย์จะลองไม่ใช้ยาที่ปกติต้องใช้หลังการปลูกถ่ายอวัยวะ ซึ่งมีฤทธิ์กดภูมิคุ้มกัน และงานวิจัยนี้ยังอยู่ในขั้นต้น และเป็นเพียงวิธีทางวิทยาศาสตร์วิธีหนึ่งที่เป็นไปได้ ซึ่งหวังว่าจะช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้ร่างกายสามารถทานทนต่อการปลูกถ่ายอวัยวะ และหากวิธีนี้ได้ผลจริงๆ ก็อาจจะนำไปทดลองใช้กับการปลูกถ่ายอวัยวะอื่นๆ ต่อไป

 

ทั้งนี้น้องอีสตันเป็นผู้ทดลองการปลูกถ่ายอวัยวะ เนื่องจากหัวใจมีความผิดปกติ 2 อย่าง อีสตันเกิดมาพร้อมกับข้อบกพร่องของหัวใจบางอย่างที่การผ่าตัดทันทีหลังคลอดไม่สามารถรักษาได้ และเกิดอาการติดเชื้อซ้ำๆ ซึ่งในที่สุดแพทย์ก็พบว่าต่อมไทมัสทำงานผิดปกติ

 

อย่างไรก็ตามเด็กทารกบางคนเกิดมาไม่มีต่อมไทมัส ซึ่งพัฒนาระบบภูมิคุ้มกันบางส่วน อย่างทีเซลล์ นอกจากนี้นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยดุ๊กยังได้ทำงานร่วมกับบริษัทเอ็นไซเวนต์ เธอราเพอทิคส์ เพื่อพัฒนาเนื้อเยื่อไทมัสในห้องทดลอง เพื่อนำไปใช้รักษาผู้ป่วยโรคหายากต่อไป

 

น้องอีสตันได้เข้ารับการผ่าตัด 2 ครั้ง ครั้งแรกคือศัลยแพทย์จะปลูกถ่ายหัวใจใหม่ลงไป ในขณะที่เนื้อเยื่อไทมัสถูกส่งไปห้องทดลอง และ 2 สัปดาห์ต่อมา ก็เข้ารับการผ่าตัดเป็นครั้งที่ 2 เพื่อปลูกถ่ายเนื้อเยื่อไทมัสที่ผ่านกระบวนการมาแล้ว โดยได้นำต่อมไทมัสเดิมซึ่งทำงานได้เพียงแค่บางส่วนออกไป เพื่อเปิดทางให้กับต่อมไทมัสอันใหม่ และการทดสอบหลังจากอีสตันผ่าตัดได้ 6 เดือนก็พบว่า เนื้อเยื่อต่อมไทมัสได้สร้างทีเซลล์ตัวใหม่ที่ทำงานได้ดี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง