IMF หนุน ASEAN เชื่อมโยง“ตลาดทุน-การค้า”รับมือกำแพงภาษีสหรัฐ

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF)หนุนให้ ASEAN เชื่อมโยงตลาดทุนและการค้าภายในภูมิภาคให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น เพื่อรับมือกับกำแพงภาษีนำเข้าของสหรัฐ ชี้ความตึงเครียดทางการค้าทวีความรุนแรงกระทบประเทศกำลังพัฒนา
#ทันหุ้น นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)ระบุ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF)หนุนให้ ASEAN เชื่อมโยงตลาดทุนและการค้าภายในภูมิภาคให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น เพื่อรับมือกับกำแพงภาษีนำเข้าของสหรัฐ
เขากล่าวว่า ข้อเสนอดังกล่าวของ IMF เป็นผลจากการประชุม Roundtable IMF MD with ASEAN Finance Ministers and Central Bank Governors ซึ่งเป็น Side meeting ของการประชุมสภาผู้ว่าการธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (Spring Meetings) ประจำปี 2568 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 21 – 24 เมษายนนี้ ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา โดยประเทศไทย มีรมช.คลัง นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เป็นผู้แทนประเทศไทยเข้าร่วมประชุม
นายพรชัย กล่าวว่า นาง Kristalina MD –IMF ได้ให้ความเห็นในประเด็นการรับมือกำแพงภาษีว่าประเทศสมาชิกอาเซียนควรสนับสนุนนโยบายเพื่อเสริมสร้างความเชื่อมโยงของตลาดทุนและการค้าในภูมิภาคให้มากขึ้น
นอกจากนี้ ควรมีการจัดระเบียบห่วงโซ่อุปทานภายในประเทศของตนเองให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อให้มีความยืดหยุ่นต่อสถานการณ์ที่ผันผวน ประเทศรายได้น้อยกำลังเผชิญการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและการได้รับเงินช่วยเหลือจากประเทศพัฒนาแล้วที่น้อยลงทำให้ประเทศรายได้น้อยจะต้องระดมทรัพยากรในประเทศให้สามารถมีรายได้ภาษีสูงกว่า 15%ของ GDP ให้ได้ เพื่อให้รัฐบาลสามารถดำเนินนโยบายการคลังได้อย่างยั่งยืน
นอกจากนั้น ยังมีการประชุมหารือระดับทวิภาคีระหว่าง รมช.คลัง นายเผ่าภูมิ กับนาง Kristalina Georgieva กรรมการจัดการ IMFเพื่อหารือถึงการเตรียมความพร้อมของประเทศไทยในการเป็นเจ้าภาพการประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) ในปี2569(AM2569 โดยนาง Kristalina ได้แสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์แผ่นดินไหวในประเทศไทย แต่ยังคงเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่าประเทศไทยจะสามารถเตรียมความพร้อมสำหรับการประชุม AM2569 ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน
นอกจากนี้ ยังมีการประชุมคณะกรรมการพัฒนาการของธนาคารโลก ครั้งที่ 111 (The 111th Development Committee Meeting: DC Plenary) โดย มีสาระสำคัญสรุปได้ว่า เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญกับจุดเปลี่ยนสำคัญ โดยมีแรงกดดันจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายของประเทศเศรษฐกิจหลักความตึงเครียดทางการค้าที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น หนี้สาธารณะที่อยู่ในระดับสูง และอัตราการเติบโตระยะกลางที่อ่อนแอ โดย IMF คาดว่าการเติบโตของเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวจาก 3.3%ในปี2567เหลือ2.8%ในปี 2568และฟื้นตัวเล็กน้อยเป็น 3.0 %ในปี 2569 และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะมีแนวโน้มลดลงทั่วโลก โดยการลดลงของอัตราเงินเฟ้อในประเทศพัฒนาแล้วจะเร็วกว่าประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่และกำลังพัฒนา