รีเซต

ไฟไหม้ "สารเคมีอันตราย" ควรทำอย่างไร? แนะวิธีดูแลตัวเอง

ไฟไหม้ "สารเคมีอันตราย" ควรทำอย่างไร? แนะวิธีดูแลตัวเอง
TNN ช่อง16
30 สิงหาคม 2566 ( 11:55 )
94
ไฟไหม้ "สารเคมีอันตราย" ควรทำอย่างไร? แนะวิธีดูแลตัวเอง

ไขข้อสงสัย หากเกิดเพลิงไหม้ "สารเคมีอันตราย" ควรทำอย่างไร? ห้ามทำอะไรบ้างขณะเกิดเหตุ แนะวิธีดูแลตัวเอง


จากกรณีเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2566 ได้เกิดเหตุเพลิงไหม้ตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 9 ตัน บริเวณลานสินค้าอันตราย JWD ภายในท่าเรือแหลมฉบัง ต.ทุ่งสุขลา อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ซึ่งภายในตู้คอนเทนเนอร์มีสารอินทรีย์เปอร์ออกไซด์ ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นสารกัดกร่อน บรรจุอยู่ในกล่องกระดาษจำนวน 378 กล่อง กล่องละ 18 กิโลกรัม ทำให้บริเวณโดยรอบมีกลิ่นฉุนรุนแรง ทีมดับเพลิงได้ฉีดน้ำเพื่อควบคุมไอระเหยไม่ให้กระทบไปยังพื้นที่บริเวณกว้างและสามารถควบคุมเพลิงได้แล้ว 


ต่อมา นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีเพลิงไหม้ตู้คอนเทนเนอร์ภายในคลังสินค้า ว่า เบื้องต้น บริษัทได้อพยพพนักงานที่ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่ 183 ราย พบมีอาการระบบทางเดินหายใจ 6 ราย ทีมแพทย์ได้ทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้นในที่เกิดเหตุ และส่งต่อไปยังโรงพยาบาลเอกชนใกล้เคียงแล้ว


เจ้าหน้าที่ยังได้คัดกรองพนักงานที่ได้รับผลกระทบบริเวณหอสังเกตการณ์ จำนวน 54 รายบริเวณลานจอดรถโตโยต้า จำนวน 23 ราย ไม่พบผู้มีอาการผิดปกติ ส่วนการคัดกรองบริเวณชุมชนโดยรอบรัศมี 5 กิโลเมตร ยังไม่พบผู้ได้รับผลกระทบเช่นกัน เจ้าหน้าที่ได้แจกหน้ากาก N95 ให้กับผู้ปฏิบัติงาน 100 ชิ้น และประชาสัมพันธ์ผ่านวิทยุประจำชุมชนให้ประชาชนในละแวกใกล้เคียงสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาและสังเกตตนเอง หากมีอาการผิดปกติให้แจ้งผู้นำชุมชนหรืออสม. เพื่อส่งต่อเข้าพบแพทย์โรงพยาบาลแหลมฉบังทันที 


เนื่องจากสารอินทรีย์เปอร์ออกไซด์มีคุณสมบัติกัดกร่อน หากสัมผัสต้องรีบล้างด้วยน้ำและสบู่ ถ้าเข้าตาต้องล้างด้วยน้ำปริมาณมากๆ ในทันที กรณีที่เผลอรับประทานเข้าไป ควรดื่มนมหรือน้ำแล้วรีบไปพบแพทย์ หรือหากหายใจเอาฝุ่นหรือละอองเข้าไปต้องรีบไปพบแพทย์ทันที


กรณีเกิดเพลิงไหม้ สารเคมีอันตราย ควรทำอย่างไร


กรณีเกิดเพลิงไหม้ สารเคมีอันตราย “คู่มือการจัดการสารเคมีอันตรายสูง” โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้ระบุการจัดการกรณีเพลิงไหม้ ดังนี้

-ห้ามใช้น้ำฉีดไปยังบริเวณที่เกิดเพลิงไหม้โดยตรง เนื่องจากจะทำให้เกิดการกระจายตัวของเพลิงไหม้มากขึ้น ควรใช้ผงเคมีแห้ง คาร์บอนไดออกไซด์ หรือโฟมดับเพลิง
-สิ่งสำคัญ ต้องควบคุมเพลิงไม่ให้ลุกไหม้ไปยังภาชนะที่ยังไม่เสียหายและพยายามเคลื่อนย้ายออกจากบริเวณที่เกิดเพลิงไหม้ เพื่อลดจำนวนสารเคมีที่พร้อมติดไฟตลอดเวลา
-สำหรับการใช้น้ำเพื่อควบคุมเพลิงนั้น ควรอยู่ในระยะไกลที่สุด หรือใช้สายฉีดน้ำชนิดที่ไม่ต้องใช้คนถือหรือหัวฉีดที่มีระบบควบคุม โดยฉีดฝอยน้ำเพื่อหล่อเย็นถังเก็บและภาชนะบรรจุสไตรีนโมโนเมอร์ จนกว่าเพลิงจะสงบ
-หากพบว่าถังเก็บและภาชนะบรรจุเปลี่ยนสีหรือหากได้ยินเสียงจากอุปกรณ์นิรภัยระบายไอ ให้รีบออกจากบริเวณเพลิงไหม้ทันที
-ห้ามเข้าใกล้บริเวณหัวหรือท้ายของถังเก็บและภาชนะบรรจุ ควรใช้ถุงทรายหรือวัสดุปิดกั้นวางป้องกันกรณีสารเคมีรั่วลงสู่สิ่งแวดล้อม
-เมื่อระงับเหตุได้แล้ว ควรตรวจวัดไอระเหยของสารสไตรีนโมโนเมอร์
-รายงาน แจ้งเหตุ และปฏิบัติตามแผนตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉิน
-แจ้งเหตุการณ์เกิดเพลิงไหม้ไปยังโรงงานข้างเคียง เพื่อป้องกันเหตุหรือผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น
-กรณีที่ยังไม่สามารถควบคุมเพลิงได้ให้ติดต่อประสานงานกับหน่วยงานภายนอก เช่น สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด เพื่อขอความช่วยเหลือ



การดูแลตัวเอง จากภัยพิบัติที่เกิดจากสารเคมี


-หากอาศัยอยู่ในรัศมี 5 กิโลเมตรของเพลิงไหม้ ควรอพยพออกนอกพื้นที่ ไปอยู่ในจุดที่ปลอดภัย เช่น เหนือลม
-กรณีไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ ควรหลบในบ้าน หรืออาคารที่ปิดหน้าต่าง โดยนำผ้าชุบน้ำปิดกั้นตามขอบหน้าต่างและประตู เพื่อป้องกันสารระเหยเข้าไปภายในบ้าน
-สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา หากเป็นไปได้ ควรสวมหน้ากาก N95 หรือหน้ากากที่ฉาบด้วยสารกรองคาร์บอน (Activated carbon) หรือหน้ากากกรองก๊าซของโรงงาน
-หากรู้สึกระคายเคือง ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตามร่างกาย
-กรณีมีอาการแน่นจมูก แสบจมูก ต้องรีบออกไปยังบริเวณอากาศถ่ายเทสะดวก
-หากหมดสติ ควรรีบส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลทันที
-สวมแว่นตา หากมีอาการแสบตา ควรล้างตาด้วยน้ำสะอาด 2-3 นาที หากอาการไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์




ที่มา โรงพยาบาลสมิติเวช / เว็บรัฐบาล

แฟ้มภาพ ผู้สื่อข่าวชลบุรี / AFP

ข่าวที่เกี่ยวข้อง