Q1 ปี’68 ต่างชาติลงทุนในไทย 47,033 ล้านบาท ญี่ปุ่นอันดับหนึ่ง

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 เปิดเผยว่าไตรมาสแรกปี 2568 (มกราคม-มีนาคม) มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 จำนวน 272 ราย
เป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 67 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (ผ่านช่องทางการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และการใช้สิทธิตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศ) จำนวน 205 ราย เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 47,033 ล้านบาท โดยชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุน 5 อันดับแรกของไตรมาสแรก ปี 2568 ได้แก่
1.ญี่ปุ่น 57 ราย คิดเป็นร้อยละ 21 ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 15,915 ล้านบาท อาทิ
ธุรกิจจัดหาจัดซื้อ วัตถุดิบ ชิ้นส่วนและส่วนประกอบสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ เช่นอุตสาหกรรมทางการแพทย์ เป็นต้น เพื่อค้าส่งในประเทศ
ธุรกิจบริการจัดหาวัสดุอุปกรณ์ การเปลี่ยนและทำการเชื่อมต่อท่อส่งใต้ทะเล ระหว่างแท่นหลุมผลิตในโครงการขุดเจาะน้ำมัน
ธุรกิจบริการสถานีบริการอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานพาหนะไฟฟ้า
ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า ได้แก่ ผลิตภัณฑ์สำหรับใช้ทำความสะอาด ผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปแช่แข็ง ชิ้นส่วนยานพาหนะ ชิ้นส่วนจับยึดเครื่องมือตัด
2.สหรัฐอเมริกา 35 ราย คิดเป็นร้อยละ 13 ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 1,490 ล้านบาท อาทิ
ธุรกิจค้าปลีกสินค้า ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย ซอฟต์แวร์
ธุรกิจบริการคลังสินค้า
ธุรกิจบริการพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อให้บริการดิจิทัล
ธุรกิจบริการรับจ้างผลิต ได้แก่ สิ่งปรุงแต่งอาหาร โลหะผสมสำหรับผลิตเครื่องประดับ
3. จีน 34 ราย คิดเป็นร้อยละ 12 ของจำนวนธุรกิจต่างชาติ เงินลงทุน 6,083 ล้านบาท อาทิ
ธุรกิจจัดหาจัดซื้อวัตถุดิบ ชิ้นส่วนและส่วนประกอบสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น ชิ้นส่วนโลหะ เป็นต้น เพื่อค้าส่งในประเทศ
ธุรกิจบริการดำเนินพิธีการศุลกากรในเขตปลอดอากร (Free Zone)
ธุรกิจบริการให้เช่าอาคารโรงงานพร้อมสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวก
ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า ได้แก่ อุปกรณ์สำหรับเครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้า ชิ้นส่วนเครื่องจักรอุตสาหกรรม ชิ้นส่วนโลหะ ชิ้นส่วนยานพาหนะ
4.สิงคโปร์ 31 ราย คิดเป็นร้อยละ 11 ของจำนวนธุรกิจต่างชาติ เงินลงทุน 4,950 ล้านบาท อาทิ
ธุรกิจบริการออกแบบ จัดซื้อ จัดหา ติดตั้ง ทดสอบ ตลอดจนการฝึกอบรม การให้คำปรึกษาแนะนำด้านการปฏิบัติการของงานระบบควบคุมกำกับดูแลและเก็บข้อมูล สำหรับโครงการรถไฟฟ้า
ธุรกิจบริการศูนย์กระจายสินค้าด้วยระบบที่ทันสมัย
ธุรกิจบริการ Data Center
ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า ได้แก่ อาหารสัตว์เลี้ยง ผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม Printed Circuit Board ผลิตภัณฑ์น้ำมันหล่อลื่น ผลิตภัณฑ์โลหะและชิ้นส่วนโลหะ
5. ฮ่องกง 22 ราย คิดเป็นร้อยละ 8 ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 3,655 ล้านบาท อาทิ
ธุรกิจบริการศูนย์กระจายสินค้าด้วยระบบที่ทันสมัย
ธุรกิจบริการสถานีบริการอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานพาหนะไฟฟ้า
ธุรกิจบริการ Data Center
ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า ได้แก่ แก้วเก็บความร้อน ผลิตโครงที่นั่งยานพาหนะ กระดาษลูกฟูก อะไหล่และส่วนประกอบรถยนต์ ชิ้นส่วนพลาสติกสำหรับอุตสาหกรรม
สำหรับการลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนต่างชาติ
ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2568 (มกราคม-มีนาคม) มีนักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนในพื้นที่ EEC 88 ราย คิดเป็น 32% ของจำนวนนักลงทุนต่างชาติในไทย เพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรกปี 2567 จำนวน 32 ราย (57%) (เดือน ม.ค.-มี.ค. 68 ลงทุน 88 ราย / เดือน ม.ค.-มี.ค. 67 ลงทุน 56 ราย) โดยมีมูลค่าการลงทุนในพื้นที่ EEC 24,234 ล้านบาท คิดเป็น 52% ของเงินลงทุนทั้งหมด เป็นนักลงทุนจากประเทศ ญี่ปุ่น 27 ราย ลงทุน 9,295 ล้านบาท จีน 22 ราย ลงทุน 3,685 ล้านบาท สิงคโปร์ 9 ราย ลงทุน 2,194 ล้านบาท และประเทศอื่น ๆ อีก 30 ราย ลงทุน 9,060 ล้านบาท
โดยธุรกิจที่ลงทุน อาทิ
ธุรกิจค้าปลีกสินค้า (แม่พิมพ์ (Mould) ที่ใช้สำหรับผลิตชิ้นส่วนพลาสติก อุปกรณ์และชิ้นส่วนสำหรับซ่อมแซมเครื่องทำความเย็น ชิ้นส่วนสำหรับซ่อมแซมเครื่องจักรที่ใช้ในกระบวนการผลิตยางรถยนต์
ธุรกิจบริการเคลือบผิวผลิตภัณฑ์โลหะ
ธุรกิจบริการให้ใช้แพลตฟอร์มและแอปพลิเคชัน
ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า โลหะและชิ้นส่วนโลหะขึ้นรูป ที่นั่งนิรภัยในรถยนต์สำหรับเด็กเล็กและสัตว์เลี้ยง แก้วเก็บความร้อน เป็นต้น
เฉพาะเดือนมีนาคม 2568 มีการอนุญาตให้คนต่างชาติประกอบธุรกิจในประเทศไทย จำนวน 91 ราย เป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว 26 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (ผ่านช่องทางการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และการใช้สิทธิตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศ) 65 ราย เงินลงทุนรวม 11,756 ล้านบาท
ส่วนใหญ่เป็นคนต่างชาติจากญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และจีน ตามลำดับ มีการจ้างงานคนไทย 261 คน รวมถึงมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านโดยตรงจากประเทศผู้เข้ามาลงทุนให้แก่คนไทย เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับการซ่อมแซมเครื่องจักรสำหรับบรรจุของเหลว องค์ความรู้เกี่ยวกับเทคนิคการใช้เครื่องจักรสมัยใหม่เพื่อการผลิตรถยนต์ องค์ความรู้เกี่ยวกับแพลตฟอร์มบริหารงานติดตั้งเครื่องอัดประจุไฟฟ้า เป็นต้น
ธุรกิจที่คนต่างด้าวได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจในเดือนมีนาคม 2568 ได้แก่
ธุรกิจการจัดหาจัดซื้อวัตถุดิบ ชิ้นส่วน และส่วนประกอบสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ
ธุรกิจบริการให้ใช้แพลตฟอร์มและแอปพลิเคชัน
ธุรกิจบริการเคลือบผิวผลิตภัณฑ์โลหะ
ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า เช่น ที่นั่งนิรภัยในรถยนต์สำหรับเด็กเล็ก ชิ้นส่วนโลหะขึ้นรูป เครื่องใช้ไฟฟ้า ชิ้นส่วนเครื่องจักรอุตสาหกรรม เป็นต้น