รีเซต

‘หยวนต้า’ ประเมินหุ้นไทยมีโอกาสหลุด 1,300 จุดอีกรอบ หากการเมืองไทยร้อนแรงขึ้น แม้มี ‘ครม.’ ใหม่ก็ยันไม่ไหว

‘หยวนต้า’ ประเมินหุ้นไทยมีโอกาสหลุด 1,300 จุดอีกรอบ หากการเมืองไทยร้อนแรงขึ้น แม้มี ‘ครม.’ ใหม่ก็ยันไม่ไหว
มติชน
11 สิงหาคม 2563 ( 09:37 )
81
‘หยวนต้า’ ประเมินหุ้นไทยมีโอกาสหลุด 1,300 จุดอีกรอบ หากการเมืองไทยร้อนแรงขึ้น แม้มี ‘ครม.’ ใหม่ก็ยันไม่ไหว

นายณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หยวนต้า (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดหุ้นไทยในช่วงครึ่งหลังเดือนสิงหาคมนี้ ประเมินว่าดัชนียังคงเคลื่อนไหวในลักษณะแกว่งตัวออกด้านข้าง เพราะแม้จะผ่านพ้นช่วงการประกาศผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ไทยแล้ว แต่ยังต้องติดตามต่อว่าจะมีการปรับประมาณการกำไรของบริษัทจดทะเบียนไทยสิ้นสุดในช่วงใด และจะมีการปรับลดประมาณการลงมากน้อยเท่าใด จึงจะประเมินภาพได้ว่า ระดับดัชนีจะขึ้นได้ที่บริเวณเท่าใด แต่ขณะนี้มองว่าตลาดให้น้ำหนักกับปัจจัยในปี 2563 ค่อนข้างน้อยลง เพราะมองข้ามไปยังภาวะตลาดในปี 2564 เกือบทั้งหมดมากกว่าแล้ว

 

นายณัฐพลกล่าวว่า ในส่วนของการมีคณะรัฐมนตรี (ครม.) ใหม่ ประเมินว่าอาจต้องให้เวลาในการดำเนินการสักระยะ เพราะมีนายปรีดี ดาวฉาย ว่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ว่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ซึ่งถือเป็นคนใหม่จริงๆ ที่เข้ามา นอกนั้นก็ไม่ได้เป็นคนใหม่มากนัก และเห็นฝีมือในการทำงานอยู่แล้ว ทำให้การทำงานของผู้ที่จะเข้ามาดูแลในด้านเศรษฐกิจ อาจต้องให้เวลาในช่วงแรกเริ่มสักระยะก่อน โดยด้านหนึ่งเป็นเรื่องของคนบางกลุ่มที่เริ่มไปไม่ไหว เพราะเงินเยียวยาของรัฐบาลหมดลงแล้ว ส่วนอีกด้านเป็นเรื่องการกลับมาเริ่มต้นดำเนินธุรกิจอีกครั้ง ซึ่งแม้จะอนุญาตให้เปิดกิจการแล้ว แต่ลูกค้าและรายได้ไม่ได้มีมากเท่าเดิม และอีกด้านหนึ่งก็ถูกเรียกร้องจากกลุ่มผู้ชุมนุม ทำให้ทีมบริหารเศรษฐกิจจะต้องเร่งพลิกสถานการณ์ จึงมองว่าเดือนสิงหาคม อาจยังไม่ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงมากนัก

 

“คาดว่ากรอบการเคลื่อนไหวของดัชนีคงไม่ได้กว้างมากนัก อยู่ที่ระดับ 1,280-1,380 จุด ซึ่งสาเหตุที่ให้ระดับแนวรับต่ำกว่า 1,300 จุด เพราะมีความเป็นไปได้ที่ดัชนีจะถอยหลุดระดับดังกล่าวลงมาได้อีกครั้ง หากสถานการณ์การเมืองไทยมีความร้อนแรง และสร้างความน่ากังวลให้กับตลาดมทกขึ้น ปัจจัยความร้อนแรงของการเมืองไทยจะเป็นปัจจัยรบกวนการปรับขึ้นของตลาดหุ้นต่อเนื่องจากการระบาดโควิด-19” นายณัฐพลกล่าว

 

นายณัฐพลกล่าวว่า ในเชิงตลาดหุ้น หากมีครม.ใหม่แล้ว มีมาตรการช่วยเหลือประชาชนออกมา แต่เป็นมาตรการช่วยในรูปแบบเดิมๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรทำอยู่แล้ว ได้แก่ การช่วยเหลือกลุ่มท่องเที่ยว ขนส่งโลจิสติกส์ และกลุ่มยานยนต์ หากทำในลักษณะดังกล่าวก็คงไม่ได้ช่วยให้บรรยากาศของตลาดหุ้นไทยเร่งตัวขึ้นได้มากนัก เพราะมูลค่าหุ้นไทย (แวลูเอชั่น) ในปี 2563 คิดเป็นระดับ 1,400 จุดเท่านั้น ไม่สามารถปรับขึ้นเหนือระดับดังกล่าวได้ แต่หากมีมาตรการทางภาษีออกมาช่วยเหลือ อาทิ การลดภาษีบุคคลธรรมดาลงมา ซึ่งจะช่วยให้คนธรรมดามีเงินมากขึ้น รวมถึงการนำกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (แอลทีเอฟ) กลับมาสร้างแรงจูงใจในการลงทุนเพิ่มได้หรือไม่ ซึ่งหากมีมาตรการในลักษณะนี้ออกมา จะเป็นส่วนช่วยกระตุ้นให้ตลาดปรับระดับขึ้นได้แรงกว่าปกติ ถือเป็นปัจจัยที่อยู่เหนือความคาดหมายของตลาด

 

นายณัฐพลกล่าวว่าสำหรับปัจจัยต่างประเทศที่ต้องติดตาม หลักๆ ได้แก่ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐและจีน ที่ยังคงพลิกไปพลิกมาอยู่ แต่มองว่าไม่ว่าจะไปในทางบวกหรือทางลบ ก็มีแต่จะรุนแรงขึ้น เพราะก่อนหน้านี้สถานการณ์ความตึงเครียดค่อยๆ ขยับมาจากการทำสงครามการค้าระหว่างกัน มาเป็นสงครามทางการทูต และสงครามเทคโนโลยี สุดท้ายอาจเข้าสู่การล้มข้อตกลงทางการค้าที่ทำร่วมกัน ซึ่งหากทั้ง 2 ประเทศล้มข้อตกลงระหว่างกัน จะทำให้ช่องว่างในการปรับระดับลงของดัชนีหุ้นมีมากขึ้นกว่าที่ประเมินไว้เบื้องต้น เพราะผลกระทบของล้มข้อตกลงระหว่างกัน ไม่ได้ กระทบแค่สองประเทศที่มีเรื่องกันเท่านั้น แต่กระทบกับซัพพลายเชนทั้งระบบทั่วภูมิภาค อาทิ ช่วงที่มีการตั้งกำแพงภาษีการค้าระหว่างกันในระดับที่สูงมากๆ ก็มีการโยกย้ายฐานการผลิต หรือปรับเปลี่ยนช่องทางการซื้อวัตถุดิบ และชะลอคำสั่งซื้อ เพราะผู้ผลิตไม่รู้ว่า กำแพงภาษีจะส่งผลกระทบอย่างไร การผลิตสินค้าเพิ่มจึงต้องชะลอไว้ก่อน ซึ่งผลกระทบจากสงครามการค้าทำให้ปี 2562 หุ้นที่ผูกกับจีนมากๆ อาทิ กลุ่มอิเล็คทรอนิกส์ ปิโตรเคมี ไม่สดใสเท่าที่ควร

 

บทความน่าสนใจอื่นๆ

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง