รีเซต

หอการค้า เชื่อ ยูเครน-รัสเซียกลับมาเจรจากันได้ ห่วงเหตุรุนแรง ทำราคาน้ำมันพุ่ง-ส่งออกชะงัก

หอการค้า เชื่อ ยูเครน-รัสเซียกลับมาเจรจากันได้ ห่วงเหตุรุนแรง ทำราคาน้ำมันพุ่ง-ส่งออกชะงัก
มติชน
21 กุมภาพันธ์ 2565 ( 06:30 )
44
หอการค้า เชื่อ ยูเครน-รัสเซียกลับมาเจรจากันได้ ห่วงเหตุรุนแรง ทำราคาน้ำมันพุ่ง-ส่งออกชะงัก

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานหอการค้าไทย กล่าวถึงสถานการณ์ปัญหาระหว่างยูเครนและรัสเซีย ว่า ปัจจุบันยังมีลักษณะทรงตัว ทั้งสองประเทศนั้นยังคงสามารถเจรจากันได้ ทั้งนี้เป็นเรื่องของผลประโยชน์ที่มีหลายประเทศเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย จึงทำให้มีทั้งข่าวที่สร้ากระแสและข่าวจริงผสมกันไป อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าทั้ง 2 ประเทศเองก็ไม่อยากทำให้สถานการณ์มีความรุนแรงขึ้น และคงจะต้องมีการเจรจากัน โดยก่อนที่จะมีการเจรจากันก็อาจจะการประลองกำลังกันสักเล็กน้อย เพื่อให้การเจรจานั้นมีน้ำหนักมากขึ้น หรือมีอำนาจการเจรจาต่อรองที่เพิ่มขึ้น

 

นายวิศิษฐ์ กล่าวว่า แต่หากสถานการณ์รุนแรงเกิดขึ้นจริง ก็ได้มีการประเมินไว้เบื้องต้น ว่าผลกระทบมี อย่างน้อย 2 เรื่อง คือ เรื่องของราคาน้ำมันในตลาดโลกก็คงยังไม่ดีขึ้น เพราะพื้นที่ส่วนนั้นก็เป็นแหล่งขุดเจาะน้ำมันดิบที่สำคัญ ทำให้ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นนั้น ขยายเวลาและยืดเยื้อออกไปอีกเล็กน้อย เป็นไปได้ว่ามากกว่า 3 เดือนที่ได้คาดการณ์ไว้ ส่วนอีกเรื่องคือ อาจจะมีสินค้าบางอย่างที่การส่งออกไปยังรัสเซียและยูเครนถูกชะลอและลดลงไปบ้าง โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยทั้งหลาย ส่วนสินค้าจำเป็นอุปโภคบริโภคขั้นพื้นฐาน คิดว่าไม่น่าจะมีปัญหา ยังคงส่งออกได้ตามปกติ เพราะมีความจำเป็น

 

นายวิศิษฐ์ กล่าวว่า ส่วนเรื่องแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนั้นต้องยอมรับว่ายังคงมีความผันผวนอยู่ต่อไป เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กำลังถูกจับตามองอยู่ เพราะเศรษฐกิจสหรัฐอเมริการ ต้องเผชิญกับอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น สินค้าต่างๆของสหรัฐก็ขยับขึ้นมาแพงทั้งหมด สาเหตุจากผู้คนยังคงหยุดงานกันเยอะ โดยในช่วงที่หยุดงานก็ได้รับการอัดฉีดจากรัฐบาลที่มากพอสมควร อุดหนุนเยอะในระดับที่มองว่าไม่ทำงานก็สามารถใช้จ่ายได้ตามปกติ ทำให้สถานการณ์เงินเฟ้อของสหรัฐนั้นยาวกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ โดยอัตราเงินเฟ้อปัจจุบันน่าจะ อยู่ที่ประมาณ 7% จึงต้องหาแนวทางสกัดอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น โดยการขึ้นอัตราดอกเบี้ย

“สมมุติว่า เฟด จะมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยสักหนึ่งครั้งในปีนี้ ตามที่หลายฝ่ายประเมิน โดยการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อที่จะสกัดอัตราเงินเฟ้อก็จะช่วยได้ในระดับนึง แต่ด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจสหรัฐกำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัว ทำให้การประกาศการขึ้นดอกเบี้ยนี้อยู่ได้ไม่นาน จึงคาดว่าการขึ้นดอกเบี้ยนั้นคงไม่ได้เกิดขึ้นในทันทีและในอัตราสูงมาก แต่ทำเพิ่มการชะลออัตราเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วเท่านั้น ตอนนี้อัตราการทำงานก็ยังไม่เยอะ รวมถึงนอกประเทศด้วย ที่สหรัฐสั่งนำเข้าวัตถุดิบ กำลังการผลิตก็ยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ ทำให้การแข่งขันทางการตลาดน้อยลง ส่งผลให้วัตถุดิบมีราคาสูง” นายวิศิษฐ์ กล่าว

 

นายวิศิษฐ์ กล่าวว่า ส่วนกรณีของประเทศไทย คิดว่าคงยังไม่จำเป็นต้องปรับดอกเบี้ยนโยบาย เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจไทยไม่เหมือนกับสหรัฐ โดยไม่ได้มีอัตราเงินเฟ้อสูงมาก ถึงแม้ว่าจะสูงกว่าปกติ และสภาพเศรษฐกิจที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิง ที่ไม่ได้ฟื้นตัวเร็วอย่างเช่นสหรัฐ เพราะฉะนั้นถ้ามีการขึ้นดอกเบี้ยเมื่อไหร่ก็จะส่งผลการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยต้องสะดุดลง รวมถึงกรณีที่เฟดอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเช่นกัน ไทยก็อาจจะพิจารณไม่ปรับขึ้นตามหรืออาจจะปรับขึ้นช้าที่สุดเท่าที่จะทำได้

 

นายวิศิษฐ์ กล่าวว่า การขึ้นดอกเบี้ยเอง ก็ส่งผลต่อความผันผวนของค่าเงินทุกสกุล รวมถึงค่าเงินบาทของไทย เชื่อว่าจะยังคงเห็นการเปลี่ยนแปลงและความผันผวนเช่นนี้อยู่อีกสักพักนึง อย่างไรก็ดี ค่าเงินบาทของไทยนั้นแข็งค่า อันเนื่องมาจากประเทศไทยได้รับความเชื่อมั่นจากต่างประเทศ ทำให้มีเงินทุนไหลเข้าประเทศ ทั้งในตลาดตราสารหนี้และตลาดหุ้น ซึ่งเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ค่าเงินของไทยนั้นนิ่งมาระยะหนึ่งแล้ว ทำให้นักลงทุนเลือกที่จะนำเงินทุนมาพักไว้ที่ไทย เพราะมองว่ามีความเสี่ยงต่ำ แต่ถ้าหากสหรัฐมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ก็ยังมีโอกาสที่เงินทุนเหล่านี้จะไหลกลับเข้าไปสหรัฐได้

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง