รีเซต

โควิด-19: ธุรกิจกล้วยไม้ไทยในวันเหี่ยวเฉา เมื่อตลาดหลักเผชิญการระบาดหนัก

โควิด-19: ธุรกิจกล้วยไม้ไทยในวันเหี่ยวเฉา เมื่อตลาดหลักเผชิญการระบาดหนัก
บีบีซี ไทย
1 พฤษภาคม 2563 ( 13:03 )
446
โควิด-19: ธุรกิจกล้วยไม้ไทยในวันเหี่ยวเฉา เมื่อตลาดหลักเผชิญการระบาดหนัก

เกษตรกรไทยกว่าสี่พันครอบครัวทั่วประเทศ ยังไม่รวมกับแรงงานจากเพื่อนบ้านนับหมื่นและอีกนับพันชีวิตที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกกล้วยไม้ไทย ตกที่นั่งลำบาก หลังรัฐบาลประกาศล็อกดาวน์ เพราะส่งสินค้าออกไม่ได้ แต่ยังต้องแบกรับค่าใช้จ่ายเท่าเดิม

เกษตรบางรายยอมขายกล้วยไม้แบบขาดทุนดีกว่าตัดทิ้ง ส่วนบางรายหันพึ่งช่องทางออนไลน์ขายในประเทศ เพื่อประคองสถานการณ์ที่ไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อใด

การระบาดไวรัสโควิด-19 ในอู่ฮั่นของจีนตั้งแต่ปลายปีจนลุกลามมาถึงไทยเมื่อต้นปีที่ผ่าน ถือเป็นฝันร้ายที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อนสำหรับ นิวัฒ เฮงเส็ง เจ้าของสวนกล้วยไม้ใน ต.ดอนใหญ่ อ.บางแพ จ.ราชบุรี

"ความเดือดร้อนที่ส่วนที่ส่งไปจีน ซึ่งถือเป็นตลาดที่แจ็กพอต คือ เมืองอู่ฮั่น ถือเป็นเส้นเลือดใหญ่ เมืองหลักในการกระจายกล้วยไม้จากไทยไปยังส่วนอื่น ๆ ของจีน เมื่ออู่ฮั่นปิด ทุกอย่างก็จบ" นิวัฒบอกกับบีบีซีไทย

เขายอมรับว่าเป็นกังวลเพราะนับตั้งแต่ตอนนั้น สถานการณ์ก็ซึมยาวจากปีใหม่ ตรุษจีน และลากยาวมาจนถึงสงกรานต์ ทั้ง ๆ ช่วงดังกล่าวถือเป็นช่วงทองในการส่งออกเพราะมีกิจกรรมและเทศกาลสำคัญ ๆ

"ซ้ำร้าย มาเจอเคอร์ฟิวในไทยยังทำให้ระบบการขนส่งกล้วยไม้รวนไปด้วย"

จ่ายเท่าเดิม แต่ไม่มีรายรับ

สวนกล้วยไม้คือธุรกิจที่หล่อเลี้ยงครอบครัวเฮงเส็งมาแล้วสองรุ่นเป็นเวลากว่า 14 ปี สวนที่บีบีซีไทยลงพื้นที่มีทั้งหมด 60 ไร่ เป็นของนิวัฒเอง เขาตัดสินใจขยายมาเพาะกล้วยไม้ที่นี่เมื่อ 7 ปีก่อนเพราะมองว่าตลาดนี้ยังสดใส โดยจ่ายเป็นค่าเช่าที่ปีละ 300,000 บาท

"นอกจากค่าเช่าแล้ว เกษตรกรผู้ปลูกกล้วยไม้รู้กันดีว่า ค่าใช้จ่ายเพื่อเลี้ยงต้นกล้วยไม้เป็นต้นทุนที่ลดไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นค่าปุ๋ย ค่ายาฆ่าแมลง ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำ รวมถึงค่าแรงคนงาน 9 คน คิดโดยรวมรายจ่ายต่อเดือนราว 2 แสนบาท" เขาอธิบาย

สิ่งที่ทำได้ตอนนี้ นิวัฒบอกว่า ต้องให้คนงานสลับกันหยุดเพื่อลดค่าใช้จ่ายบางส่วน ในขณะเดียวกันก็จะได้มีโอกาสในการตัดกล้วยไม้ขายได้บ้าง ซึ่งตอนนี้สวนเขาก็พอที่จะส่งขายไปที่จีนหลังจากสถานการณ์นั่นคลี่คลายมากขึ้น แต่ต้องขนส่งผ่านรถบรรทุกแทนเครื่องบินและเรือ แม้ราคาที่ขายได้ต่ำกว่าเดิมหลายเท่า

"แต่ก่อนขายได้ช่อละ 3-4 บาท ตอนนี้ขายได้ 30-40 สตางค์ ไม่คุ้มกันค่าแรง ดีกว่าตัดทิ้ง"

ค่าขนส่งระหว่างประเทศพุ่ง 5 เท่า

พันธพัฒน์ คุ้มวิเชียร เจ้าของร้านแอร์ออร์คิดส์ ซูเปอร์มาร์เก็ตกล้วยไม้ ย่านพุทธมณฑลสาย 4 อ.บางเลน จ.นครปฐม ก็เผชิญชะตากรรมไม่ต่างกัน

Reuters
พันธพัฒน์บอกว่า ธุรกิจเข้าสู่วิกฤตตั้งแต่ 26 มี.ค. เพราะยอดคำสั่งถูกยกเลิกทั้งหมด

เขาเล่าให้ฟังว่า ธุรกิจเข้าสู่วิกฤตตั้งแต่ 26 มี.ค. เพราะยอดคำสั่งถูกยกเลิกทั้งหมด แม้ว่าตลาดปลายทางบางแห่งยังมีความต้องการอยู่ แต่ไม่สามารถส่งไปได้เพราะสายการบินพาณิชย์หยุดบิน ส่วนที่ยังจัดส่งได้ ก็ต้องเจอกับค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้น 3-5 เท่า เพราะลูกค้าต่อรองให้ลดราคาเพื่อชดเชยในส่วนค่าส่งลงอีกกว่าครึ่ง

ตลาดส่งออกหลักของแอร์ออร์คิด ส่วนใหญ่อยู่ในเอเชีย ได้แก่ มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และญี่ปุ่น

ประเทศระบาดหนัก ล้วนเป็นตลาดหลักของไทย

กสานติ์ ชวนะพาณิชย์ นายกสมาคมผู้ส่งออกดอกกล้วยไม้ไทย บอกกับบีบีซีไทยว่า นับแต่มีคำสั่งปิดน่านฟ้าเมื่อต้น เม.ย. เที่ยวบินโดยสารพาณิชย์หายไป ส่วนเที่ยวบินขนส่งหรือคาร์โก้ก็มีเพียงการเดินทางขาออกอย่างเดียว ผลักดันให้ค่าขนส่งเพิ่มขึ้นอย่างมากราว 3-4 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงปกติ เขาจึงเชื่อว่า ในระยะเวลา 3 เดือนนี้ยอดการส่งออกจะหายไปเกิน 90%

นายกสมาคมผู้ส่งออกดอกกล้วยไม้ไทยบอกด้วยว่าประเทศเป้าหมายการส่งออกกล้วยไม้ไทย ล้วนประสบภาวะการระบาดของโรคร้ายนี้ทั้งสิ้น ไล่เรียงมาตั้งแต่จีนในเดือน ก.พ. ตามมาด้วย อิตาลีประมาณสัปดาห์ที่สองของ มี.ค. ต่อมาเป็นหลายประเทศในยุโรป พอถึงปลายมี.ค. ก็มาถึง สหรัฐอเมริกาก็ต้องหยุดส่งออกสินค้าทั้งในภาคพื้นทวีปและเกาะฮาวาย

ตลาดส่งออกกล้วยไม้สำคัญในปี 2562

ประเทศ

มูลค่า (ล้านดอลลาร์สหรัฐ)

ขยายตัว (%)

สัดส่วน (%)

1. สหรัฐอเมริกา

17.98

-13.52

20.98

2. ญี่ปุ่น

17.83

0.68

20.81

3. เวียดนาม

11.46

13.13

13.37

4. จีน

6.2

-0.96

7.23

5. อินเดีย

4.97

3.03

3.97

6. เนเธอร์แลนด์

4.49

2.14

5.01

7. อิตาลี

3.4

-6.93

5.8

8. บราซิล

2.4

-24.05

2.8

9. ออสเตรเลีย

1.89

11.83

2.21

10. ไต้หวัน

0.93

10.71

1.09

ที่มา : บีบีซีไทยรวบรวมข้อมูลจากสำนักส่งเสริมการค้าสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม

ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกกล้วยไม้อันดับหนึ่งของโลกมาหลายสิบปี สมาคมผู้ส่งออกดอกกล้วยไม้ไทยระบุว่าในไทยมีพื้นที่ปลูกกล้วยไม้ 18,000 ไร่ มีเกษตรกรราว 4,000 ครอบครัว ใน 10 จังหวัด อาทิ ราชบุรี นครปฐม สมุทรสาคร กรุงเทพฯ กาญจนบุรี ชลบุรี และจันทบุรี 45% เป็นการผลิตเพื่อการส่งออก ส่วนอีก 55% เป็นการผลิตเพื่อการจำหน่ายในประเทศ

ปริมาณส่งออกเพิ่ม แต่รายได้ลด

กสานติ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า ผลผลิตกล้วยไม้ที่ส่งออกไปต่างประเทศส่วนใหญ่จะนำไปยังตลาดการประมูล และส่งต่อไปยังกลุ่มตลาดในพื้นที่ต่าง ๆ เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านขายดอกไม้ ซึ่งจะไปสิ้นสุดงานเทศกาลต่าง ๆ งานรื่นเริง ตกแต่งหรือใช้เป็นของขวัญในพิธีการสำคัญ ๆ เมื่อรัฐบาลสั่งปิดประเทศและห้ามจัดกิจกรรมที่เป็นที่รวมของคน ก็ทำให้ปริมาณความต้องการลดวูบ

หากมองย้อนกลับไป ปริมาณการส่งออกในหลายปีที่ผ่านมาเพิ่มสูงขึ้น แต่มูลค่าส่งออกกลับลดลง กสานติ์บอกว่าส่วนหนึ่งมาจากผลของอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ผันผวน โดยเฉพาะในช่วงที่ค่าเงินบาทแข็ง ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการบางรายก็หันมาขายในตลาดระยะใกล้ เช่น จีนและกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน ที่ทำราคาได้ไม่สูงมากแต่เน้นที่ปริมาณมากกว่า เมื่อเทียบกับตลาดระยะไกลอย่าง สหรัฐฯ และยุโรป

รัฐต้องช่วย เพื่อ "ให้วิ่งได้ในสปีดเดิม"

สมาคมผู้ส่งออกดอกกล้วยไม้ไทยบอกว่าผู้ส่งออกจำเป็นต้องประคับประคองธุรกิจต่อไป สิ่งที่ผู้ประกอบการทำได้ คือ เยียวยาพนักงานด้วยการจ่าย 70-80% ของเงินเดือน สองเดือน แต่ความช่วยเหลือภาครัฐเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทั้งอุตสาหกรรม ตั้งแต่ระดับแรงงานไปจนถึงเจ้าของสวนและผู้ส่งออก

"ภาคการผลิตดอกกล้วยไม้ เรามีแรงงานต่างชาติกว่า 95% ซึ่งเขาไม่สามารถได้รับผลประโยชน์จากการประกันสังคมได้ ในแง่เงินชดเชยที่รัฐบาลกำหนดออกมา" กสานติ์อธิบาย

สิ่งที่ผู้ประกอบการและเกษตรกรต้องการคือ สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ให้แก่เกษตรกรที่จะสามารถมีกำลังพอที่จะจ้างแรงงานเหล่านั้นต่ออีกทอด

"การให้ซอฟท์ โลน เฉพาะกลุ่มแก่ผู้ประกอบการและเกษตรกรปลูกกล้วยไม้เป็นเวลา 4 - 6 เดือน จะเป็นการรักษาสปีดเดิมได้ทั้งองคาพยพ โดยไม่ต้องมานับหนึ่งใหม่ และวิ่งได้ในสปีดเดิม เมื่อเหตุการณ์คลี่คลายลง" เขาอธิบาย

ทางรอดกับความหวังตลาดออนไลน์

ในวิกฤตก็ดูเหมือนจะมีโอกาสบ้างสำหรับผู้ประกอบการบางราย ในการเปิดช่องทางการขายกล้วยไม้ทางสื่อสังคมออนไลน์

พันธพัฒน์ บอกว่า หลังยอดส่งออกเกือบเป็นศูนย์ เขาจึงหันมาให้ความสำคัญกับการตลาดในประเทศมากขึ้น เริ่มจากเพิ่มมาตรการความปลอดภัยมากขึ้นสำหรับลูกค้าที่เดินทางมาที่ซูเปอร์มาร์เก็ต รวมทั้งเปิดตลาดขายทางออนไลน์ ทาง เฟซบุ๊ก เว็บไซต์ร้านค้าออนไลน์ รวมทั้งฝากร้านในเว็บไซต์กรมส่งเสริมการเกษตร การขนส่งก็ใช้ทั้งเครือข่ายของผู้ให้บริการขนส่งต่าง ๆ รวมทั้งรถขนส่งของบริษัท

https://www.facebook.com/AIRORCHID/posts/3555804354449543

แม้ว่ารายได้จะยังไม่สามารถชดเชยในสิ่งที่หายไป แต่ผู้บริหารรายนี้บอกว่า นี่ถือเป็นจุดเริ่มต้นและความหวังในการรุกตลาดออนไลน์อย่างจริงจัง

"แม้ว่ากล้วยไม้ ไม่ใช่ปัจจัยสี่ แต่ก็หวังว่าความสวยงามกระเช้ากล้วยไม้ และดอกกล้วยไม้จะเพิ่มสีสันให้กับชีวิตของผู้ซื้อในระหว่างที่ต้องทำงานที่บ้าน หรือ พักผ่อนที่บ้าน" เขากล่าวปิดท้าย

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง