รีเซต

คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : 'เดอะ นิว เซิร์จ' ที่สหรัฐอเมริกา

คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : 'เดอะ นิว เซิร์จ' ที่สหรัฐอเมริกา
มติชน
7 กรกฎาคม 2563 ( 01:14 )
120

คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : ‘เดอะ นิว เซิร์จ’ ที่สหรัฐอเมริกา

ต้นเดือนกรกฎาคม สหรัฐอเมริกาทำสถิติพบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 รายวันใหม่ติดต่อกัน 3 วัน เป็นสถิติผู้ป่วยเพิ่มเติมรายวันสูงสุดของสหรัฐอเมริกาตั้งแต่มีการแพร่ระบาดเป็นต้นมา และเป็นสถิติผู้ป่วยเพิ่มรายวันสูงที่สุด เมื่อเทียบกับสถิติรายวันสูงสุดของทุกประเทศทั่วโลก

ทั้ง 3 วันดังกล่าวนั้นมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นมากกว่า 50,000 คนทั้ง 3 วัน ทำลายสถิติเดิมที่ 38,672 รายลงอย่างราบคาบ

คำถามก็คือ เกิดอะไรขึ้นกับสหรัฐอเมริกา? สิ่งที่ได้เห็นกันอยู่นี้คือ “การระบาดระลอกสอง” หรืออย่างไร?

ไม่ว่าคำตอบจะเป็นอย่างไร สิ่งที่น่าวิตกก็คือว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในสหรัฐอเมริกากำลังตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะหลุดออกนอกเหนือความควบคุมอีกครั้งหนึ่งแล้ว

เมื่อ 3 เดือนก่อน หลายรัฐทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่รัฐนิวยอร์ก เกิดการระบาดอย่างหนัก

แต่ในเวลานี้ “ฮอตสปอต” ของการระบาดโยกย้ายมาอยู่กับบรรดารัฐตอนใต้และทางตะวันตกของประเทศ พื้นที่ซึ่งเรียกกันรวมๆ ว่า “ซันเบลท์ สเตทส์” ไล่ตั้งแต่ เซาท์แคโรไลนา เรื่อยไปจนถึงแคลิฟอร์เนีย โดยมี 3 รัฐ อย่าง เท็กซัส, แอริโซนา และฟลอริดา เกิดการแพร่ระบาดหนักหนาสาหัสที่สุด

เป็นหลายรัฐที่เคยผ่านการระบาดเมื่อ 3 เดือนก่อนมาแบบไม่มีปัญหาใหญ่โตมากมายกระไรนักนั่นเอง

ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาระบุว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในรัฐอย่าง แอริโซนา, เซาท์แคโรไลนา, เท็กซัส, ฟลอริดา และจอร์เจีย ย่ำแย่อย่างหนัก แย่ถึงขนาดเป็นการระบาดที่หนักหน่วงที่สุดเป็นลำดับสองเท่าที่เคยพบเห็นกันมาในสหรัฐอเมริกา

จะเป็นรองก็แต่การแพร่ระบาดในพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐอเมริกา ซึ่งถูกจัดให้เป็นการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เลวร้ายที่สุดในโลกไปแล้วก่อนหน้านี้เท่านั้น

ตัวเลขล่าสุดเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคมที่ผ่านมา ฟลอริดา พบผู้ติดเชื้อใหม่ถึง 11,458 คน เป็นการทำสถิติเกินหมื่นเป็นวันที่สองติดต่อกัน ส่วน เท็กซัส พบผู้ป่วยใหม่ในวันเดียวมากถึง 8,258 คนในวันเดียวกันนี้ เป็นสถิติใหม่ของรัฐเท็กซัส เช่นเดียวกับอีก 14 รัฐที่ทำสถิติพบผู้ป่วยรายวันสูงสุดใหม่ใน 4 วันแรกของเดือนนี้ รวมทั้งนอร์ทแคโรไลนา, เซาท์แคโรไลนา, เทนเนสซี, อลาสกา, มิสซูรี, ไอดาโฮ และแอละบามา

ที่เท็กซัส ยังทำสถิติจำนวนผู้ป่วยรายวันที่ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลสูงสุดที่ 328 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยโควิดในโรงพยาบาลที่เท็กซัสสูงถึง 7,890 แล้ว

ที่แอริโซนาเกิดสถิติที่น่าสนใจขึ้น นั่นคือ จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นจากเดิมสูงถึงเกือบ 4 เท่าตัวเพียงแค่ในช่วงเดือนมิถุนายนนี้เท่านั้น

ในเวลาเดียวกันจำนวนผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลแอริโซนา ก็เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าตัวในช่วงเดียวกัน

บุคลากรทางการแพทย์ทั้งที่นั่นและที่เท็กซัสเริ่มตึงมือมากขึ้นทุกที

องค์การอนามัยโลกกำหนดเอาไว้ว่า อัตราการติดเชื้อใหม่ในท้องถิ่นที่เกินกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ ถือเป็นอัตราการติดเชื้อเพิ่มที่ควรวิตก

สถิติที่รวบรวมไว้โดย มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ แสดงให้เห็นว่า มีอย่างน้อย 18 รัฐในสหรัฐอเมริกาที่มีสถิติเพิ่มเฉลี่ยสูงกว่าระดับนั้นในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา และไม่ได้ชะลอช้าลงแต่อย่างใด

11 รัฐของสหรัฐอเมริกา มีอัตราการติดเชื้อเพิ่มสูงเป็นเลข 2 หลักในช่วง 7 วันที่ผ่านมา แอริโซนา 26 เปอร์เซ็นต์, ฟลอริดา 18 เปอร์เซ็นต์, เนวาดา 16 เปอร์เซ็นต์, เซาท์แคโรไลนา 15 เปอร์เซ็นต์, แอละบามา 15 เปอร์เซ็นต์, เท็กซัส 14.5 เปอร์เซ็นต์, มิสซิสซิปปี 14 เปอร์เซ็นต์, จอร์เจีย 13 เปอร์เซ็นต์, ไอดาโฮ 11 เปอร์เซ็นต์ และยูทาห์ 10 เปอร์เซ็นต์

ทั้งๆ ที่เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน รัฐที่มีอัตราเพิ่มเป็นเลข 2 หลัก มีเพียง 2 รัฐเท่านั้นเอง

ทำไมจู่ๆ ถึงเกิดการติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างพรวดพราดเช่นนี้? แม้แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาก็ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน แต่คุณลักษณะประการหนึ่งซึ่งรัฐที่กำลังตกที่นั่งลำบากนี้มีอยู่ร่วมกันนั่นก็คือ รัฐต่างๆ เหล่านี้เมื่อบังคับใช้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดก็บังคับใช้อย่างเข้มงวด เมื่อยกเลิก ก็ยกเลิกไปทั้งหมดในคราวเดียวกัน

ที่เท็กซัส ประกาศยกเลิกมาตรการอยู่กับบ้าน เพื่อลดการติดเชื้อเมื่อวันที่ 30 เมษายน เพียงวันเดียวถัดมาก็สั่งเปิดกิจการธุรกิจแทบทุกรูปแบบ เปิดให้ประชาชนได้ใช้งานพื้นที่สาธารณะแทบทุกชนิด รวมทั้งร้านค้า, ห้างสรรพสินค้า, ภัตตาคาร, โบสถ์, และโรงภาพยนตร์

ในตอนแรกยังจำกัดจำนวนผู้ใช้บริการอยู่บ้าง แต่ไม่ช้าไม่นานก็ยกเลิกไปทั้งหมด

แอริโซนา เปิดให้ร้านจำหน่ายสินค้าบางอย่างให้บริการได้ตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคม พอถึงวันที่ 15 พฤษภาคม ก็ประกาศยกเลิกมาตรการอยู่กับบ้าน และอนุญาตให้เปิดบริการ บาร์, ยิม, โบสถ์, และโรงภาพยนตร์ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันนั่นเอง

รัฐพยายามบังคับใช้มาตรการจำกัดผู้เข้าใช้บริการอยู่บ้าง แต่ในทางปฏิบัติการควบคุมเป็นไปได้ยากอย่างยิ่ง และมีการละเมิดมาตรการขึ้นเป็นประจำ

ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม ไนท์คลับและบาร์ ในแอริโซนา ได้ชื่อว่าเรียกผู้คนได้หนาแน่นที่สุดแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกาในช่วงเวลาดังกล่าว

ทุกคนพยายามกลับไปใช้ชีวิตตามปกติให้มากที่สุด ทำประหนึ่งว่า เมื่อใดก็ตามที่เราไม่ใส่ใจกับมัน โควิด-19 ก็จะเลือนหายไปในที่สุด

และถึงแม้จะมีผลการสำรวจความคิดเห็นที่แสดงให้เห็นว่า ประชาชนที่เป็นสมาชิกพรรครีพับลิกันส่วนใหญ่สวมหน้ากากอนามัย แต่บรรดาผู้นำพรรครีพับลิกันทั้งในเท็กซัสและแอริโซนา ปวารณาตัวเป็นสาวก “แอนตี-แมสก์” ของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ อย่างเคร่งครัด

เมื่อองค์กรปกครองชุมชนแฮร์ริส เคาน์ตี ซึ่งมี ฮูสตัน เมืองใหญ่อันดับที่ 4 ของสหรัฐอเมริการวมอยู่ด้วย พยายามออกกฎเข้มงวดการสวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ ไม่เช่นนั้นจะถูกปรับสูงถึง 1,000 ดอลลาร์ กลับกลายเป็นว่า รัฐบาลของรัฐเท็กซัสใช้อำนาจยับยั้งประกาศดังกล่าวไม่ให้นำมาบังคับใช้

ส.ส.แดน เครนชอว์ ของรัฐเท็กซัส ถึงขนาดบอกว่า การบังคับให้สวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ ถือเป็นคำสั่ง “เผด็จการที่ไร้ความเป็นธรรม”

ถึงที่สุด เกร็ก แอบบอท ผู้ว่าการรัฐเท็กซัส กับ ดัก ดูซีย์ ผู้ว่าการรัฐแอริโซนา ซึ่งมาจากรีพับลิกันทั้งคู่ ก็ออกประกาศห้ามองค์กรปกครองท้องถิ่นออกข้อกำหนดกฎเกณฑ์ใดๆ ที่ “เข้มงวดกว่า” มาตรการที่รัฐประกาศบังคับใช้ออกมา

นั่นหมายความว่า หากเกิดมีการเผยแพร่คลิปวิดีโอว่ามีไนท์คลับแห่งหนึ่งในฟีนิกซ์ แอริโซนา จัดปาร์ตี้ใหญ่ ผู้คนคับคั่ง ไม่มีใครสวมหน้ากากอนามัย แล้วนายกเทศมนตรีของเมืองอยากลงโทษให้เป็นเยี่ยงอย่างด้วยการปิดไนท์คลับแห่งนั้น ก็ไม่สามารถจะทำได้

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ในฟลอริดา กลับไม่สามารถอธิบายได้ด้วยเหตุผลในทำนองเดียวกัน รอน เดอซานทิส ผู้ว่าการรัฐฟลอริดา ที่มาจากพรรครีพับลิกันเช่นกัน ประกาศให้หลายเมือง หลายชุมชุม ที่เป็น “พื้นที่เสี่ยง” ให้รอเปิดกิจการธุรกิจใหม่ในวันที่ 18 พฤษภาคม ล่าช้ากว่าเมืองทั่วไปในรัฐฟลอริดาถึง 1 สัปดาห์ และแม้ว่าตนเองจะเป็นผู้ต่อต้านหน้ากากอนามัย แต่ก็ไม่ได้ใช้อำนาจยับยั้งผู้นำท้องถิ่นที่ประกาศใช้มาตรการสวมหน้ากากในพื้นที่ของตนแต่อย่างใด

ที่แคลิฟอร์เนียก็เช่นเดียวกัน เกวิน นิวซอม ผู้ว่าการรัฐเดโมแครต กำหนดให้ปิดกิจการกลุ่มเสี่ยงอย่าง โรงภาพยนตร์และยิมออกกำลังจนถึง 12 มิถุนายน

แต่ทั้งฟลอริดา และ แคลิฟอร์เนีย ยอดผู้ติดเชื้อใหม่ก็ทวีสูงขึ้นอย่างน่าตกใจเช่นเดียวกัน

ปลายเดือนมิถุนายน ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ใช้ทวิตเตอร์พยายามอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นว่าเป็นเพียง “มายาภาพ” อันเนื่องมาจากการที่สหรัฐอเมริกา เพิ่มการตรวจหาผู้ติดเชื้อมากขึ้น การพบผู้ติดเชื้อจึงเพิ่มขึ้นมากเป็นธรรมดา

ข้อสรุปของทรัมป์ก็คือ ถ้าเราทดสอบหาผู้ติดเชื้อน้อยลง จำนวนผู้ป่วยเพิ่มก็จะน้อยลง

แต่นักระบาดวิทยาชั้นนำ รวมทั้งนายแพทย์แอนโธนี ฟาวซี ผู้อำนวยการสถาบันโรคติดเชื้อและภูมิแพ้แห่งชาติ ไม่ได้คิดอย่างเดียวกัน และยืนยันว่า การทดสอบหาผู้ติดเชื้อเพียงอย่างเดียว ไม่ได้เป็นเหตุให้เกิดการพบผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นแต่อย่างใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่ก่อให้เกิดการเพิ่มเหมือนอย่างที่เกิดขึ้นกับสหรัฐอเมริกาในเวลานี้

ฟาวซี ยอมรับว่าการเพิ่มปริมาณการเทสต์หาเชื้อ ทำให้พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น แต่ต้องเป็นไปในสัดส่วนที่สอดคล้องกัน เช่นถ้าสัปดาห์นี้ตรวจเพิ่มขึ้น 3 เปอร์เซ็นต์ ก็ควรพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นไม่เกิน 3 เปอร์เซ็นต์

ไม่ใช่สัปดาห์นี้พบเพิ่ม 3 เปอร์เซ็นต์ สัปดาห์ถัดไปพบเพิ่มเป็น 4 เปอร์เซ็นต์ แล้วเป็น 5 เปอร์เซ็นต์อย่างที่เห็นกันอยู่

“นั่นไม่สามารถอธิบายได้ว่าเกิดจากการตรวจหาผู้ติดเชื้อมากขึ้น อธิบายได้อย่างเดียวก็คือ การระบาดเกิดเพิ่มมากขึ้นเท่านั้นเอง” ฟาวซีระบุ

นักระบาดวิทยาระดับผู้เชี่ยวชาญรายนี้ชี้ว่า ยิ่งถ้ามองดูตัวเลขของผู้เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล จะยิ่งเห็นได้ชัดว่า สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือมีการติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นนั่นเอง

สถิติที่เกิดขึ้นตอกย้ำแนวความคิดของฟาวซี เมื่อเดือนพฤษภาคม ในรัฐแอริโซนา เจ้าหน้าที่ต้องตรวจคนถึง 11 คนถึงจะเจอผู้ป่วย 1 คน แต่ในขณะนี้ตรวจเพียงแค่ 5 คนเท่านั้นก็สามารถเจอผู้ติดเชื้อใหม่ได้แล้ว 1 คน

ในฟลอริดา จำนวนตรวจหาเชื้อต่อวันลดลง ในขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่กลับเพิ่มขึ้น

พูดกันง่ายๆ ได้ว่า ในรัฐแถบซันเบลท์นั้น ยิ่งนานยิ่งพบผู้ติดเชื้อได้ง่ายมากขึ้นกว่าเดิม เพราะการระบาดแพร่ออกไปมากกว่าเดิมเท่านั้นเอง

นักระบาดวิทยาบางคนชี้ว่า สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา ไม่น่าจะใช้การระบาดระลอกที่สอง เหตุผลสำคัญก็คือ การระบาดระลอกแรกในสหรัฐอเมริกา ไม่เคยสิ้นสุดลงมาก่อน

ในขณะที่เกิดการระบาดใหญ่ครั้งที่เลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ที่รัฐนิวยอร์ก ทุกรัฐในสหรัฐอเมริกาผวากันถ้วนหน้า มาตรการยับยั้งที่เข้มงวดที่สุดถูกนำมาบังคับใช้

เมื่อการระบาดที่นิวยอร์กถึงจุดพีค แล้วซาลงตามลำดับ ทุกรัฐเข้าใจว่านั่นคือจุดสิ้นสุดของการแพร่ระบาด

แต่ในข้อเท็จจริงแล้ว การแพร่ระบาดเพิ่งเริ่มต้นในท้องถิ่นของตนเท่านั้นเอง

เหตุผลสำคัญที่นำไปสู่ข้อสรุปดังกล่าวนี้ก็คือ สหรัฐอเมริกาไม่เคยบังคับใช้ภาวะล็อกดาวน์แบบเข้มข้น จริงๆ จังๆ ตั้งแต่ต้น และไม่เคยนำเอาระบบการสอบสวนโรค แกะรอยหาคนกลุ่มเสี่ยงมากกักตัวเพื่อรอดูอาการเหมือนอย่างที่หลายประเทศบังคับใช้กันแต่อย่างใดทั้งสิ้น

สหรัฐอเมริกาทำแค่เพียงพอต่อการชะลอการระบาดในบางพื้นที่ แล้วก็รอวันที่การแพร่ระบาดจะกลับมาใหม่ในอีกบางพื้นที่เท่านั้นเอง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง