รีเซต

ร่างพ.ร.บ.ประมงใหม่ผ่านสภาฉลุย ปรับแก้ให้ทันยุคสมัยเพิ่มโอกาสประมงพื้นบ้านไทย

ร่างพ.ร.บ.ประมงใหม่ผ่านสภาฉลุย ปรับแก้ให้ทันยุคสมัยเพิ่มโอกาสประมงพื้นบ้านไทย
TNN ช่อง16
25 กุมภาพันธ์ 2567 ( 22:10 )
49

นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ตามที่ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้เสนอต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 20 (สมัยวิสามัญประจำปี ครั้งที่ 2) วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567 กรณี "ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 พ.ศ...." ผลปรากฏว่า ที่ประชุมสภาฯ ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านได้ลงคะแนนเสียง มีมติเป็นเอกฉันท์ 416 เสียง "รับหลักการ" ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 พ.ศ. .... ทั้ง 8 ร่าง ที่เสนอโดย (1) คณะรัฐมนตรี (2) นายอนุทิน ชาญวีรกูล กับคณะ (3) นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ กับคณะ (4) นายพิทักษ์เดช เดชเดโช กับคณะ (5) นายคอซีย์ มามุ กับคณะ (6) นายวรภพ วิริยะโรจน์ กับคณะ (7) พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง กับคณะ (8) นายวิชัย สุดสวาสดิ์ กับคณะ


โดยที่ประชุมสภาฯ มีมติแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ จำนวน 37 คน เพื่อพิจารณาร่างฯ ซึ่งในสัดส่วนของคณะรัฐมนตรี ได้เสนอชื่อนายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เข้าร่วมเป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญ และกำหนดระยะเวลาแปรญัตติ 15 วัน โดยให้ถือเอาร่างพระราชบัญญัติของคณะรัฐมนตรีเป็นหลักในการพิจารณา


อธิบดีฯ กล่าวในรายละเอียดว่า การเสนอร่างพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าว สืบเนื่องจาก ในพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 มีบทบัญญัติบางประการที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพของพี่น้องชาวประมง ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการทำการประมงผิดกฎหมายและเพื่อประโยชน์ในการอนุรักษ์และการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำให้อยู่ในสภาวะที่เหมาะสม สามารถประกอบอาชีพประมงได้อย่างยั่งยืน รวมทั้งช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของชาวประมงให้สามารถประกอบอาชีพได้อย่างสุจริตและได้รับความเป็นธรรม ตลอดจนส่งเสริมการประกอบอาชีพประมงให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด โดยสอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศ จึงจำเป็นต้องเสนอร่างพระราชบัญญัตินี้


สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 พ.ศ... ประกอบด้วย 36 มาตรา ซึ่งมี 22 ประเด็นสำคัญ อาทิ


- การเพิ่มเติมเจตนารมณ์ของพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 โดยมุ่งให้ความสำคัญกับการส่งเสริมสนับสนุนกิจการประมง การคุ้มครองการประกอบอาชีพประมง การมีส่วนร่วมของประชาชน และการบังคับใช้มาตรการให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย

- การเพิ่มเติมบทนิยามคำว่า "ทะเลชายฝั่ง" โดยเพิ่มเติมการกำหนดเขตทะเลชายฝั่งให้มีระยะน้อยกว่า 1.5 ไมล์ทะเลสำหรับกรณีที่มีข้อจำกัดตามลักษณะทางกายภาพ และแก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามคำว่า "ประมงพื้นบ้าน" เพื่อลดข้อจำกัดในด้านพื้นที่ของการทำประมงพื้นบ้าน ซึ่งเดิมจำกัดแต่การทำประมงในเขตทะเลชายฝั่งเท่านั้น

- การแก้ไขบทบัญญัติเกี่ยวกับคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ โดยให้นายกรัฐมนตรีสามารถมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการได้ และให้ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรรม และเลขาธิการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และให้รัฐมนตรี มีอำนาจประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกผู้แทนสมาคมการประมงด้านต่างๆ ที่ผ่านการคัดเลือกกันเองมาแล้ว


          นอกจากนี้ ยังกำหนดเพิ่มระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากเดิม 2 ปี เป็น 3 ปี และให้แก้ไขบทบัญญัติเกี่ยวกับคณะกรรมการประมงประจำจังหวัด โดยให้เพิ่มเกษตรและสหกรณ์จังหวัด ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด และผู้แทนของ ศรชล.จังหวัดที่มีอาณาเขตติดต่อกับชายฝั่งทะเลเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง


- การเพิ่มเติมคุณสมบัติของผู้มีสิทธิขอรับใบอนุญาตทำการประมงพื้นบ้านด้วยการกำหนดเฉพาะผู้มีสัญชาติไทยเท่านั้นที่สามารถมาขออนุญาตทำการประมงพื้นบ้านได้ รวมถึงการตัดการจำกัดจำนวนใบอนุญาตของแต่ละบุคคลออก เพื่อเป็นการส่งเสริมการทำการประมงพื้นบ้านของผู้มีสัญชาติไทย

- การเพิ่มเติมลักษณะต้องห้ามของผู้ขอรับใบอนุญาตทำการประมง โดยให้จำกัดเหตุอันเป็นลักษณะต้องห้ามเฉพาะกับเรือลำที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดเท่านั้น รวมถึงลดระยะเวลาการห้ามขอรับใบอนุญาตลง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของชาวประมงและเจ้าของเรือประมงซึ่งมีเรือประมงในครอบครองหลายลำ

- การกำหนดให้ผู้ประกอบการประมงสามารถขออนุญาตทำการประมงในทะเลหลวงหรือขอทำการประมงชนิดพันธุ์สัตว์น้ำนอกขอบเขตบริเวณที่ไม่มีองค์การระหว่างประเทศใดควบคุมดูแล หรือขอทำการประมงนอกขอบเขตการใช้บังคับของความตกลงระหว่างประเทศได้ ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการประมงไทยที่มีศักยภาพสามารถขออนุญาตไปทำการประมงในบริเวณดังกล่าวได้ โดยต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และมาตรฐานที่กำหนด และสอดคล้องกับอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (UNCLOS)

- การเพิ่มเติมให้สามารถใช้ระบบสังเกตการณ์อิเล็กทรอนิกส์ (e-observer) ในเรือประมงนอกน่านน้ำได้ นอกจากใช้คนเป็นผู้สังเกตการณ์เพียงอย่างเดียว เพื่อรองรับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง

- การเพิ่มเติมให้สามารถใช้เครื่องมืออวนล้อมจับที่มีช่องตาอวนเล็กกว่า 2.5 เซนติเมตร ทำการประมงในเวลากลางคืนได้นอกเขตสิบสองไมล์ทะเลนับจากแนวทะเลชายฝั่ง ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และพื้นที่ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

- การเพิ่มเติมการแจ้งเข้าออกท่าเทียบเรือประมง ให้แจ้งเฉพาะกรณีออกทำการประมงหรือกลับเข้าฝั่ง เข้าเทียบท่าและเพื่อขนถ่ายสัตว์น้ำหรือนำสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำขึ้นท่าเทียบเรือประมง โดยแจ้ง ณ ศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้าออก

- การเพิ่มเติมบทกำหนดโทษ โดยตัดการกำหนดโทษตามขนาดของเรือออก และปรับลดอัตราโทษปรับลงให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศ รวมทั้ง ตัดระวางโทษขั้นต่ำบางฐานความผิดออก เพื่อให้กรรมการเปรียบเทียบหรือศาลสามารถใช้ดุลยพินิจกำหนดระดับโทษที่เหมาะสมกับการกระทำความผิดได้ นอกจากนี้ ยังให้ศาลมีดุลยพินิจในการพิจารณาริบเงินประกันแทนการริบเครื่องมือทำการประมง สัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ หรือ เรือประมงได้

- การแก้ไขอัตราค่าธรรมเนียมท้ายพระราชกำหนดสำหรับใบอนุญาตให้นำเข้าส่งออกหรือนำผ่านสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ โดยให้คิดค่าธรรมเนียมในการนำเข้าเพิ่มเติมโดยกำหนดในกฎกระทรวงได้ไม่เกินกิโลกรัมละ 20 บาท


"กรมประมง เชื่อมั่นว่า การแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องชาวประมงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับปรุง บทกำหนดโทษให้สอดคล้องกับความร้ายแรงของการกระทำความผิดและบริบทของประเทศไทย อีกทั้ง ร่าง พระราชบัญญัติฯ ฉบับใหม่ จะช่วยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการประมงตลอดสายการผลิตของประเทศฟื้นตัวอย่างเหมาะสม ภายใต้พันธกรณีระหว่างประเทศ และเป็นไปตามมาตรฐานสากล ควบคู่ไปกับการรักษาทรัพยากรสัตว์น้ำให้ยั่งยืนเพื่อเป็นแหล่งอาหารของโลกและการเกิดความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ รวมถึงสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนและประชาชนคือผู้ได้รับประโยชน์สูงสุด สอดรับกับนโยบายรัฐบาลที่จะฟื้นชีวิตอุตสาหกรรมประมงให้กลับมาเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของประชาชนต่อไป" อธิบดีกรมประมง กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง