รีเซต

ยกระดับ Soft Power 'ไหมไทย' จากอาชีพ 'แก้จน' คนชนบท เชื่อมสู่แฟชั่นตลาดโลก

ยกระดับ Soft Power 'ไหมไทย' จากอาชีพ 'แก้จน' คนชนบท เชื่อมสู่แฟชั่นตลาดโลก
TNN ช่อง16
7 ธันวาคม 2566 ( 09:44 )
64




"ข้าพเจ้าก็พยายามคิดว่าจะทำอย่างไรดี ได้เห็นชาวบ้านที่มาเฝ้ารับเสด็จโดยเฉพาะผู้หญิงใส่ผ้าซิ่นสวยงาม แม้ว่าจะดูเก่า แต่ฝีมือที่ทอละเอียดงดงามมาก เป็นศิลปะที่งดงาม ของพื้นบ้าน ข้าพเจ้าจึงมีความคิดขึ้นมาว่า ทำไมเราไม่ขอเขาทอผ้ามัดหมี่ลายต่างๆ ที่เค้าใส่ ทำไมไม่ใช้ความงดงามของผ้ามัดหมี่ที่ชาวบ้านใส่มานั่งเฝ้าอยู่กับพื้นให้เป็นประโยชน์ 


ข้าพเจ้าบอกเขาว่าผ้าที่ใส่นี่สวยมาก ทอให้พระราชินีได้ไหม ชาวบ้านก็บอกว่าพระราชินีจะเอาไปทำอะไร เพราะผ้าแบบนี้ที่คนเค้าจะนุ่งห่มก็มีแต่คนยากจนเท่านั้น  พระราชินีจะใส่ไปทำไม 


ข้าพเจ้าก็ตอบไปว่า ถ้าทอให้พระราชินีจะใส่ตลอด เค้าจึงตกลง มีการเข้าชื่อกันว่า ใครบ้างจะรับอาสาทอผ้าไหมมัดหมี่ถวาย ข้าพเจ้าได้ให้เงินล่วงหน้าไว้กับคนที่จะทอให้ข้าพเจ้าทุกคน 


สังเกตเห็นว่าแววตาของเค้าทั้งหลาย มีความหวังว่าเค้าจะมีงานทำ เป็นงานที่เขาคุ้นเคยและถนัด บางคนก็ทอผ้าฝ้ายใช้ แต่ทอผ้าไหมสำหรับใส่ไปทำบุญที่วัด ต่อมาเขาก็ทอให้ข้าพเจ้าเสมอ


ข้าพเจ้าก็นำมาตัดใส่ตลอด จากนั้นมีผู้อาสาทอผ้ามากขึ้น จึงได้โอกาสตั้งมูลนิธิส่งเสริมศิลปะชีพขึ้น และชาวบ้านก็เริ่มทอผ้าส่งเข้ามามากมาย" 


-----------------------------------------

พระราชดำรัส สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

พระราชทานเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2547 ณ ศาลาดุสิตดาลัย พระราชวังดุสิต



สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นต่อพสกนิกรชาวไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่อยู่ห่างไกลในชนบทซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม มีรายได้น้อยและประสบปัญหาความยากจน จึงทรงตระหนักและทรงให้ความสำคัญในการสร้างอาชีพเสริม เพื่อแก้ปัญหาความยากจน โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ส่งเสริมอาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมแก่พสกนิกร สนับสนุนอาชีพทางด้านหัตถกรรมไหมลวดลายต่าง ๆ มาตั้งแต่ปี 2513 จนเป็นที่แพร่หลายอย่างกว้างขวาง






เมื่อวันที่ 4 – 6 ธันวาคม 2566  ที่ผ่านมา ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เดินทางไปเป็นประธานเปิดงานวันคล้ายวันสถาปนากรมหม่อนไหม เนื่องในโอกาสครบรอบ 14 ปี “14 ปี กรมหม่อนไหม สืบสานภูมิปัญญา พัฒนาสู่ความยั่งยืน”


กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมหม่อนไหม จัดตั้งขึ้นตามพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ด้วยพระองค์ทรงมีพระราชปณิธานที่จะส่งเสริมอาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม เพื่อสร้างรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร อันนำมาสู่การสถาปนา กรมหม่อนไหมขึ้น เพื่อเป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบด้านการส่งเสริม วิจัย และพัฒนาหม่อนไหมทั้งระบบ รวมถึงการอนุรักษ์สืบสานศิลปหัตถกรรมภูมิปัญญาไหม ให้คงอยู่คู่ประเทศไทย


สำหรับการจัดงานวันคล้ายวันสถาปนากรมหม่อนไหม ครบรอบ 14 ปี ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ รวมถึงผลการดำเนินงานที่ผ่านมาและภารกิจสำคัญของกรมหม่อนไหมที่ดำเนินงานต่อไปในอนาคต ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมหม่อนไหมได้ดำเนินงานภายใต้ภารกิจสำคัญเพื่อทำให้เกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมมีอาชีพและสามารถสร้างรายได้ที่มั่นคง 


สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์เกษตรและสหกรณ์ 20 ปี และนโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่มุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกร เสริมสร้างความมั่นคงในอาชีพเกษตรกรรม โดยใช้การตลาดนำการผลิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ยกระดับมาตรฐานสินค้า เพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ตลอดจนพัฒนาสินค้าผ้าไหมไทยให้เป็นที่ยอมรับมุ่งสู่ Soft Power ของไทย


นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการจัดนิทรรศการนำเสนอผลงานของกรมหม่อนไหม แนวทางการยกระดับ “หม่อนไหมพะเยา” สู่ความยั่งยืน การยกระดับผลิตภัณฑ์หม่อนไหมรองรับ BCG Model ผ้าอัตลักษณ์จังหวัดหนองบัวลำภู (ผ้าหมี่สลับขิด) การพัฒนาผ้าไหมยกดอกลำพูน ด้วยภูมิปัญญาโดยใช้เส้นไหมไทย เทคโนโลยีพันธุ์ไหมที่เหมาะสมแก่การผลิตผ้าห่มใยไหมการผลิตเส้นไหมไทยสาวมือ มกษ.5900-2565 Buriram Model และการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตหม่อนไหมระบบแปลงใหญ่ เป็นต้น 


รวมถึงภายในงานมีการจัดจำหน่ายผ้าไหม ผลิตภัณฑ์หม่อนไหมจากเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และผู้ประกอบการ เพื่อเป็นช่องทางการตลาดให้กับเกษตรกรอีกด้วย



ภาพ : รัฐบาลไทย 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง