รีเซต

โควิด-19 กทม.ทรงตัว คาดดีขึ้นใน 4-6 สัปดาห์ - ต่างจังหวัดยอดติดเชื้อใหม่พุ่ง

โควิด-19 กทม.ทรงตัว คาดดีขึ้นใน 4-6 สัปดาห์ - ต่างจังหวัดยอดติดเชื้อใหม่พุ่ง
TNN ช่อง16
25 กรกฎาคม 2564 ( 15:01 )
171
โควิด-19 กทม.ทรงตัว คาดดีขึ้นใน 4-6 สัปดาห์ - ต่างจังหวัดยอดติดเชื้อใหม่พุ่ง

วันนี้ (25 ก.ค.64) ที่ศูนย์แถลงข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 กระทรวงสาธารณสุข นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผอ.กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ระบุว่า สถานการณ์โควิด-19 วันนี้ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 15,335 ราย เสียชีวิต 129 ราย เกินร้อยละ70 อยู่ในกรุงเทพฯและปริมณฑล ส่วนยอดตัวเลขผู้เสียชีวิตยังคงสูงเกิน 100 คน 

 

 

สำหรับผู้เสียชีวิต 129 ราย เป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิง โดยเป็นชาย 70 ราย หญิง 59 ราย โดยมี 79 ราย หรือร้อยละ 70 มีประวัติยังไม่รับวัคซีนและอยู่ในพื้นที่เสี่ยง สำหรับปัจจัยเสี่ยงในกลุ่มผู้เสียชีวิตวันนี้ พบ มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง โรคไต โรคอ้วน หลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ โรคปอด และวันนี้มีหญิงตั้งครรภ์ 20 สัปดาห์เสียชีวิต 1 คน

 

 

ส่วนภาพรวมมีการกระจายของผู้ติดเชื้อในวันนี้ อยู่ในต่างจังหวัดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ร้อยละ 59 ปริมณฑล ร้อยละ 23 กรุงเทพฯ ร้อยละ 18 โดยวันนี้ทุกจังหวัดมีการรายงานผู้ติดเชื้อทุกจังหวัด องค์ประกอบสำคัญที่ทำให้มีการกระจายการแพร่โรคในพื้นที่ต่างๆ มีประเด็นหลัก คือ 1.ไปซื้อของข้างนอกและไปพบผู้ติดเชื้อโดยไม่รู้ตัว  2.โรงงานสถานประกอบการที่พบผู้ติดเชื้อบางแห่ง ได้มีการสั่งปิดทำให้คนงานบางส่วนกระจายออกไปยังพื้นที่ด้านนอก 3.ที่พักอาศัยของคนงาน 

 

 

 

สำหรับปัจจัยการแพร่ระบาดโรคในช่วงนี้ จะแตกต่างจากช่วง 3-4 สัปดาห์ก่อนหน้านี้โดยช่วงนั้นจะเป็นการติดเชื้อจากคนที่รู้จักกัน คนครอบครัว  ในสถานประกอบการ  แต่ปัจจุบันในพื้นที่ระบาด มีการระบาดค่อนข้างมาก การสอบสวนโรคในหลายกรณีไม่พบแล้วว่าติดเชื้อจากใคร เพราะฉะนั้นการอาศัยอยู่ในพื้นที่ระบาด เช่น ในกรุงเทพฯและปริมณฑล อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญ เพราะไม่ทราบว่าคนที่อยู่ใกล้กันติดเชื้อหรือไม่

 

 

ส่วนการฉีดวัคซีนโควิด ประเทศไทยในกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปฉีดไปได้เพียงร้อยละ 20 เท่านั้น เป็นเรื่องสำคัญที่ลูกหลานจะต้องพาผู้สูงอายุในครอบครัวไปรับวัคซีนให้ได้มากที่สุด 

 

นพ.จักรรัฐ สรุปภาพรวมการติดเชื้อในขณะนี้ มีการติดเชื้อค่อนข้างมาก และความน่ากังวล ในพื้นที่เสี่ยงระบาดสูง คือ ไม่สามารถรู้ได้ว่าการออกไปข้างนอก ซื้อของ พบเจอบุคคลภายนอก ใครมีเชื้ออยู่หรือไม่ รวมถึงการป้องกันการระบาดในโรงงานสถานประกอบการ โดยขอความร่วมมือผู้ประกอบการ พนักงาน หน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ สื่อสารให้โรงงานและชุมชนรอบข้างเข้าใจและปฏิบัติตามมาตรการ

 

 

หากโรงงานไหนยังไม่พบผู้ติดเชื้อให้ผู้ประกอบการศึกษาแนวทางการควบคุมโรค บับเบิลแอนด์ซิล จากทางสาธารณสุขจังหวัด เตรียมความพร้อมเตียงสนาม ห้องแยกกัก เพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อของพนักงาน

 

 

หากโรงงานไหนพบผู้ติดเชื้อแล้ว เน้นไม่จำเป็นต้องปิดโรงงาน แต่ต้องป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ชุมชน ให้แยกกลุ่มเสี่ยงต่อการป่วยรุนแรง แยกกลุ่มผู้ติดเชื้อจัดหาเตียงสนาม ห้องแยกกัก จัดระบบควบคุมกำกับการเดินทาง การกินข้าว การพูดคุย ให้ปลอดการติดเชื้อ และแพร่เชื้อมีการตรวจคัดกรอง เนื่องจากที่ผ่านมามีบทเรียน หาก ปิดโรงงาน พบว่า จะมีการแพร่เชื้อไปสู่ชุมชน และการกระจายออกนอกพื้นที่ 

 

 

นพ.จักรรัฐ กล่าวต่อว่า สถานการณ์ตอนนี้ที่พบผู้ติดเชื้อกว่า 1 หมื่นรายต่อวัน มาตรการสำคัญตอนนี้ คือ งดเดินทางข้ามจังหวัด ออกจากบ้านเท่าที่จำเป็นเท่านั้น มาตรการทำงานที่บ้านให้ได้ร้อยละ 100 ซึ่งหากดูในมาตรการก็พบว่า มีความใกล้เคียงกับมาตรการของอู่ฮั่น บ้างในบางส่วน โดยสถานการณ์ตอนนี้ คาดว่าจะยังคงพบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก และจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆในส่วนของต่างจังหวัด ที่มีการรายงานพบผู้ติดเชื้อในครอบครัวและเดินทางกลับต่างจังหวัด

 

 

"หากดูการระบาดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตอนนี้จะเพิ่มขึ้นไม่ค่อยเยอะแล้ว เนื่องจากมีการฉีดวัคซีนไปค่อนข้างมากกว่า ร้อยละ 50 โดยแนวโน้มจะเริ่มทรงตัว และแนวโน้มสถานการณ์จะดีขึ้นในอีก 4-6 สัปดาห์ข้างหน้า ในส่วนของต่างจังหวัดยังคงมีพบผู้ติดเชื้อจำนวนมากต่อเนื่องในระยะนี้ ตอนนี้ประชาชนทุกคนคงต้องร่วมมือกันเพื่อไม่ให้เข้าสู่มาตรการเหมือนอู่ฮั่นโมเดล ที่ต้องปิดทุกรูปแบบ" ผอ.กองระบาดวิทยา กล่าว

 

 

นอกจากนี้ ปัญหาเรื่องเตียงนั้น นพ.จักรรัฐ ยอมรับว่า "วิกฤตจริง" ที่ผ่านมาขีดความสามารถในการรองรับด้านการแพทย์ในการรักษาผู้ป่วยมีค่อนข้างจำกัดอยู่แล้ว ไม่ได้สูงมากเหมือนในหลายประเทศ แถบฝั่งยุโรปหรือฝั่งอเมริกา ยอมรับว่าการเพิ่มจำนวนเตียงให้มากขึ้นเหมือนที่หลายคนอยากให้มี แต่ขณะนี้มีข้อจำกัด คือ บุคลากรทางการแพทย์ในการดูแล เพราะฉะนั้นการบริหารจัดการ คือ การไม่ให้ผู้ป่วยที่มีอาการน้อยๆ เปลี่ยนไปเป็นผู้ป่วยสีเหลืองสีแดง ให้ได้มากที่สุด

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง