รีเซต

ทช.จ่อของบ 1,600 ล้าน ผุดสะพานเชื่อม กระบี่-เกาะลันตา เสนอครม.สร้างปี 65

ทช.จ่อของบ 1,600 ล้าน ผุดสะพานเชื่อม กระบี่-เกาะลันตา เสนอครม.สร้างปี 65
ข่าวสด
26 มีนาคม 2564 ( 18:13 )
232

ทช.จ่อของบ 1,600 ล้านบาท ผุดสะพานเชื่อม กระบี่-เกาะลันตา เสนอครม.อนุมัติสร้างปี 65 ความยาว 2,240 เมตร อำนวยความสะดวกประชาชน

 

 

เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2564 นายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท เปิดเผยว่า ทช.เตรียมดำเนินการก่อสร้างเส้นทางเชื่อมระหว่างบ้านหัวหิน ต.เกาะกลาง กับเกาะลันตาน้อย ต.เกาะลันตาน้อย อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาพื้นที่ กระจายความเจริญสู่ชุมชน อํานวยความสะดวกด้านพาณิชยกรรม การท่องเที่ยว และยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชนบนเกาะลันตา รวมถึงแก้ไขปัญหาความยากลําบากในการเดินทางของประชาชน

 

 

เนื่องจากปัจจุบันการเดินทางไปเกาะลันตาจะต้องผ่านทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4206 สู่บ้านหัวหิน ซึ่งเป็นจุดลงแพขนานยนต์ ท่าเรือบ้านหัวหินไปยัง ท่าเรือบ้านคลองหมาก ซึ่งท่าเรือดังกล่าวเชื่อมระหว่างเกาะกลางไปยังเกาะลันตาน้อย หลังจากนั้นจะมีสะพานสิริลันตาเชื่อมเกาะลันตาน้อย-เกาะลันตาใหญ่ จึงจะถึงตัวเมือง ย่านชุมชน/การค้า และตรงต่อไปยังหาดต่างๆ จนไปสุดถนนที่ท้ายเกาะบริเวณที่ทําการอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา

 

 

 

นายปฐม กล่าวต่อว่า ซึ่งการใช้แพขนานยนต์ แม้จะเป็นระยะทางสั้นเพียง 1.53 กิโลเมตร แต่เนื่องจากแพขนานยนต์บรรทุกรถได้น้อย มีจํานวนจํากัดและให้บริการในช่วงเวลา 06.00-22.00 น. เท่านั้น ส่งผลให้การเดินทางเป็นไปอย่างล่าช้าในช่วงเวลาเร่งด่วน

 

 

ทช.ได้จัดประชุมการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยเชิญกลุ่มเป้าหมาย อาทิ ประชาชน หน่วยงานภาครัฐ และเอกชนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เป็นต้น เพื่อสรุปแนวทางเลือกที่เหมาะสม ผู้เข้าร่วมประชุมได้ร่วมกันคัดเลือกเส้นทางพื้นที่ศึกษาจุดเริ่มต้นจากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4206 ไปบรรจบกับจุดสิ้นสุดทางหลวงชนบทสาย กบ.5035 ความยาวสะพานรวมเชิงลาดประมาณ 2,240 เมตร

 

 

นายปฐม กล่าวอีกว่า รูปแบบโครงการ สรุปได้ว่าเป็นแบบสะพานคานขึง (Extradosed Bridge) ซึ่งเป็นรูปแบบสะพานที่มีความยาวช่วงสะพานมากกว่าสะพานทั่วไปทําให้เกิดความสะดวกสบายในการสัญจรทางน้ำ มีขั้นตอนในการก่อสร้างซึ่งรบกวนระบบนิเวศน้อยที่สุด

 

 

โดยในส่วนของโครงสร้างที่อยู่ในทะเลนั้น จะมีมาตรการป้องกันการสั่นไหวเนื่องจากปัจจัยต่าง ๆ ป้องกันการกัดเซาะ ป้องกันการเกิดสนิม ซึ่งสายเคเบิลสะพานที่เป็นเหล็กได้ถูกออกแบบให้สามารถป้องกันการเกิดสนิม มีการป้องกันด้วยท่อพลาสติกหุ้มอยู่ภายนอก ป้องกันไอน้ำทะเล และแสง UV

 

 

นายปฐม กล่าวต่อว่า คาดว่าจะส่งรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม EIA ไปยัง สํานักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้ภายใน 7 เดือน จากนั้นจะเข้าสู่คณะกรรมการ สิ่งแวดล้อมแห่งชาติ คาดว่าจะใช้เวลาพิจารณาประมาณ 2 เดือน และเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติและเสนอของบประมาณในปี 2565 คาดว่าจะใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 1,600 ล้านบาท

ข่าวที่เกี่ยวข้อง