รีเซต

ครม. เคาะ 279 ล้านบาท จ่ายเกษตรกรฆ่าตัดตอนสกัดอหิวาต์แอฟริกาหมูระบาด

ครม. เคาะ 279 ล้านบาท จ่ายเกษตรกรฆ่าตัดตอนสกัดอหิวาต์แอฟริกาหมูระบาด
ข่าวสด
2 กุมภาพันธ์ 2564 ( 18:26 )
39

ครม. เคาะ 279 ล้านบาท จ่ายเกษตรกร ฆ่าตัดตอนสกัดอหิวาต์แอฟริกาหมูระบาด - ดันส่งออกเพื่อบ้านเพิ่ม 300% หรือ 2.2 หมื่นล้าน

 

ครม.สกัดอหิวาต์หมู - น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติงบกลางเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินปี 2564 วงเงิน 279.78 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (หมู) หรือ โรคเอเอสเอฟ เพื่อชดเชยค่าทำลายหมูของเกษตรกร ซึ่งเป็นการตัดตอนการระบาดของโรคไม่ให้ขยายวงกว้างออกไปจนไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งวงเงินดังกล่าว จะนำไปใช้ในการชดเชยให้เกษตรกร ที่ทำลายหมู แต่ภาครัฐยังติดค้างเงินอยู่

 

ขณะนี้ทั่วโลกมีการระบาดแล้ว 34 ประเทศ ในเอเชียเหลือเพียงประเทศไทยประเทศเดียวที่ยังไม่ระบาด เนื่องจากครม. เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2563 ได้อนุมัติงบประมาณ 523.244 ล้านบาท เพื่อป้องกันการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาหมู กรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการเบิกจ่ายงบเพื่อใช้ในการป้องกัน กำจัดซากสัตว์ติดเชื้อ พ่นยา การดำเนินการสกัดการลักลอบ นำหมู หรือ ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากหมูข้ามแดน รวมทั้งชดเชยค่าหมูที่ถูกทำลายไปแล้ว 223.01 ล้านบาท สิ้นสุดงบประมาณ ต้องส่งเงินคืนสำนักงบประมาณ 300.23 ล้านบาท

 

ทั้งนี้ ในการส่งเงินคืนสำนักงบประมาณ ได้แจกแจงรายละเอียดเกี่ยวกับจำนวนหมุที่ถูกทำลาย และยังไม่จ่ายเงินเยียวยาให้กับเกษตรกร จำนวน 279.78 ล้านบาท จึงต้องขอ ครม. เพื่ออนุมัติงบประมาณ เพื่อชดเชยความเสียหายจากการทำลายหมู เพื่อสกัดการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาหมู

 

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รายงานความสำคัญในการทำลายหมู เพื่อสกัดการระบาดของโรค เอเอสเอฟ นั้น เนื่องจากไทยมีผู้เลี้ยงหมูจำนวน 187,993 รายเป็นเกษตรกรรายย่อย 184,091 รายเลี้ยงหมูขุนจำนวน 2,246,332 ตัว หมูพันธุ์ 390,993 ตัว ลูกหมู 689,562 ตัว เป็นเกษตรกรรายใหญ่ 3,181 ราย เลี้ยงหมูขุน 5.74 ล้านตัว หมูพันธุ์ 683,998 ตัว และลูกหมู 1.53 ล้านตัว

 

หากมีการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมู ในเมืองไทย จะมีการสูญเสียทางเศรษฐกิจ ดังนี้ คือ กรณีเกิดโรคระบาด 30% จะทำให้สูญเสียประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท หากเกิดการระบาด 50% ของหมูทั้งระบบ จะสูญเสียประมาณ 2.77 หมื่นล้านบาท หากเกิดการระบาด 100% ของหมูทั้งระบบ จะสูญเสียประมาณ 5.55 หมื่นล้านบาท และเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจภาพรวมดังนี้ ไทยจะถูกระงับการส่งออกเนื้อหมูชำแหละ เนื้อหมูแปรรูปปีละ 6,000 ล้านบาท สูญเสียโอกาสการส่งออกหมูมีชีวิตปีละ 1.6 หมื่นล้านบาท

 

นอกจากนี้ ยังกระทบไปถึงธุรกิจอาหารสัตว์หากโรคระบาดประมาณ 50% จะเสียหายประมาณ 6.66 หมื่นล้านบาท ธุรกิจเวชภัณฑ์หายไปประมาณ 3.5 พันล้านบาท แต่ที่ผ่านมา ไทยสามารถควบคุมการระบาดของเอเอสเอฟได้ ส่งผลให้ไทยสามารถส่งออกเนื้อหมูไปยังประเทศเพื่อนบ้านประมาณ 2.2 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนประมาณ 300%

 

อย่างไรก็ตาม หากไทยไม่สามารถควบคุมโรคระบาดในหมูได้ จะทำให้ภายในประเทศเกิดความตระหนกไม่กล้ากินหมู ราคาจะลดลง หากราคาลดลง 10 บาทต่อกิโลกรัม (ก.ก.) เกษตรกรจะสูญเสียรายได้ 2.2 หมื่นล้านบาท/ปี หากราคาลดลง 20 บาท/ก.ก. เกษตรกรจะสูญเสียรายได้ 4.4 หมื่นล้านบาท/ปี และหากราคาลดลง 30 บาท/ก.ก. เกษตรกรจะสูญเสียรายได้ 6.6 หมื่นล้านบาท/ปี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง