รีเซต

ปศุสัตว์แนะใช้ข้าวเปลือกบดเลี้ยงหมูช่วยชาวนา-ลดต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์เพิ่ม 30% สูงสุดรอบ 13 ปี

ปศุสัตว์แนะใช้ข้าวเปลือกบดเลี้ยงหมูช่วยชาวนา-ลดต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์เพิ่ม 30% สูงสุดรอบ 13 ปี
ข่าวสด
19 พฤศจิกายน 2564 ( 15:44 )
89

นายสรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า จากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่พุ่งสูงสุดในรอบ 13 ปี มากกว่า 20% เป็นประวัติการณ์ของวงการเลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เมล็ดถั่วเหลืองและกากถั่วเหลือง สร้างปัญหาและภาระค่าใช้จ่ายด้านการผลิตของเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูและไก่ แบกภาระเพิ่มขึ้น 20-30% ซึ่งวัตถุดิบอาหารสัตว์คิดเป็นต้นทุนหลัก 60-70% ของการเลี้ยงสัตว์และยังมีผลต่อเนื่องไปยังห่วงโซ่อุปทานปลายทางคือ ราคาเนื้อสัตว์ปรับตัวสูงขึ้นด้วย ทั้งการบริโภคภายในประเทศและส่งออกต่างประเทศ

 

จากสถานการณ์ที่ปีนี้ฝนดี น้ำมีมาก ส่งผลให้ชาวนาเพาะปลูกข้าวเพิ่มขึ้น คาดมีข้าวเปลือกปริมาณ ไม่ต่ำกว่า 25 ล้านตัน มีผลผลิตข้าวส่วนเกินประมาณ 4-5 ล้านตัน เป็นต้นเหตุให้ราคาข้าวตกต่ำ กรมปศุสัตว์จึงมีแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์และชาวนาไปพร้อมๆ กัน เพื่อกู้วิกฤตการณ์วัตถุดิบอาหารสัตว์ราคาแพงและวิฤตการณ์ข้าวเปลือกราคาถูก โดยการปรับประยุกต์รูปแบบการเลือกใช้ข้าวเป็นวัตถุดิบเพื่อเป็นแหล่งพลังงานในอาหารสัตว์เป็นอีกหนึ่งทางเลือก

 

สำหรับการจัดการด้านอาหารสัตว์ตามสถานการณ์ปริมาณ และราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา (dynamic change) เช่น การเพิ่มสัดส่วนการใช้ข้าวเปลือกบดในอาหารสุกรและสัตว์ปีกในช่วงอายุและปริมาณที่เหมาะสม แต่ควรมีข้อควรระวังในการใช้วัตถุดิบแต่ละชนิดในการประกอบสูตรอาหารให้เหมาะสมตามช่วงอายุการผลิตและประสิทธิภาพการย่อยและการดูดซึมอาหารระบบทางเดินอาหาร โดยทั่วไปแล้วข้าวเปลือกบดไม่สามารถใช้ได้เกิน 20% ในสูตรอาหารสุกรและสัตว์ปีกระยะให้ไข่

 

อย่างไรก็ตาม ไม่ควรใช้ข้าวเปลือกบดประกอบสูตรอาหารสุกรและสัตว์ปีกระยะเล็ก

 

ข้าวเปลือกบด (ground paddy rice) เป็นวัตถุดิบอาหารที่เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรนิยมใช้ในการเลี้ยงสัตว์กันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในช่วงที่ปลายข้าวมีราคาแพง และข้าวเปลือกมีราคาถูก ข้าวเปลือกบดได้จากการเอาข้าวเปลือกทั้งเมล็ดมาบดให้ละเอียด มีองค์ประกอบคุณค่าทางอาหารโดยประมาณ ดังนี้ คือ ความชื้น 10% โปรตีน 8.2% เยื่อใย 9.2% ไขมัน 1.9% เถ้า 6.5% และคาร์โบไฮเดรตย่อยง่าย (NFE) 62.4% พบว่าข้าวเปลือกบดมีปริมาณเยื่อใยสูง

 

มีส่วนของเปลือกข้าวหรือแกลบเป็นองค์ประกอบ เมล็ดข้าวจะมีส่วนของแกลบประมาณ 20-25% ซึ่งส่วนของแกลบจะมีเยื่อใยและสารซิลิกา (silica) ประมาณ 40% และ 11-19% ตามลำดับ นอกจากนี้มีการใช้ข้าวกล้องบดหรือ ข้าวแดงบด (ground brown rice) สามารถใช้เป็นอาหารสัตว์ได้ ประกอบด้วยรำละเอียด และข้าวสารหรือปลายข้าวผสมกัน มีองค์ประกอบคุณค่าทางอาหาร โดยข้าวกล้อง มีเยื่อใยอยู่ในระดับต่ำ และมีคุณค่าทางอาหารใกล้เคียงกับปลายข้าวมาก

 

จึงสามารถใช้ทดแทนปลายข้าวในสูตรอาหารสัตว์ชนิดต่างๆ ไม่มีปัญหาเกี่ยวกับความฟ่าม การเป็นฝุ่น และไม่มีปัญหาเกี่ยวกับสารไฟติน ดังนั้นข้าวกล้องหรือข้าวกะเทาะเปลือกสามารถใช้เป็นวัตถุดิบแหล่งพลังงานในอาหารสัตว์ได้ มีคุณค่าทางโภชนะใกล้เคียงกับข้าวโพดและปลายข้าวจึงสามารถใช้ทดแทนปลายข้าวในสูตรอาหารสัตว์ชนิดต่างๆ ได้ดี

 

นับเป็นอีกหนึ่งแนวทางเลือกและข่าวดีในวงการปศุสัตว์ ที่สามารถใช้ข้าวเป็นวัตถุดิบทดแทนเพื่อเป็นแหล่งพลังงานในอาหารสัตว์เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับการจัดการด้านอาหารสัตว์ โดยสามารถช่วยลดต้นทุนด้านการผลิตของเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ด้านอาหารสัตว์ นำข้าวกล้องหรือข้าวกระเทาะเปลือกเป็นแหล่งพลังงานหลักทดแทนวัตถุดิบข้าวโพด ข้าวสาลี เมล็ดถั่วเหลืองและกากถั่วเหลืองได้

 

นอกจากนี้ ยังเป็นการช่วยเหลือชาวนาปลูกข้าว โดยการใช้วัตถุดิบข้าวภายในประเทศมาผลิตเป็นอาหารสัตว์ เป็นการแก้ปัญหาต่อเนื่องได้อย่างยั่งยืน ตลอดห่วงโซ่อุปทานการผลิตต่อไป

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง