"ท้องถิ่น" ถูกพิษโควิด รายได้วูบ-ร้องรบ.เร่งช่วย
ผลกระทบจากโรคโควิดที่สร้างความเสียหายต่อภาคเศรษฐกิจอย่างมากมาย ที่ภาคธุรกิจจำนวนมาก ต้องปิดตัวทั้งชั่วคราวและถาวร ส่งผลเป็นลูกโซ่มาถึงการจัดเก็บภาษีของภาครัฐไม่เป็นไปตามเป้า
รวมถึงการจัดเก็บภาษีของท้องถิ่นต่างๆ ทั่วประเทศ อีกทั้งส่วนกลางยังมีมาตรการลดภาษีบางประเภทเพื่อช่วยเหลือเยียวยาประชาชนและภาคธุรกิจ ทำให้จัดเก็บภาษีเพื่อเป็นรายได้ทั้งส่วนกลางและท้องถิ่นลดน้อยลงไปอีก
จึงกระทบชิ่งไปยังงบประมาณที่จะนำไปใช้จ่ายทั้งการพัฒนาด้านต่างๆ รวมถึงเงินเดือนพนักงานของแต่ละท้องถิ่นด้วย ที่มีงบประมาณไม่เพียงพอ
คเชน เจียกขจร นายกเทศมนตรีตำบล (ทต.) ช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เผยถึงมาตรการลดจัดเก็บภาษีที่ดินและโรงเรือนลงจากเดิม 90% ตามนโยบายรัฐบาลนั้น ส่งผลให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศได้รับผลกระทบ
โดยเฉพาะ ทต.ช้างเผือก เมื่อปี 2563 มีรายได้รวม 100 ล้านบาท จากเดิม 140 ล้านบาท ลดลง 40 ล้านบาท ส่วนปี 2564 จัดเก็บภาษีได้เพียงเดือนละ 400,000-500,000 บาท จากเดิม 4-5 ล้านบาท/เดือน ทำให้เทศบาลไม่มีงบพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและคุณภาพชีวิตของประชาชน
“อีกทั้งต้องใช้เงินสะสมเพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด ทำให้เงินสะสมแทบไม่เหลือ บางเดือนต้องลุ้นว่ามีเงินโอนเข้า เพื่อจ่ายเป็นเงินเดือนข้าราชการ เจ้าหน้าที่ พนักงานได้เพียงพอหรือไม่ เพราะต้องจ่ายเดือนละหลายล้านบาท” คเชนเล่าถึงผลกระทบ
เทศบาลได้รับผลกระทบโควิดตั้งแต่รอบแรก จนถึงรอบ 3 โดยเฉพาะธุรกิจต่างๆ อาทิ โรงแรม ศูนย์การค้า ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก ต่างได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม เพราะในพื้นที่ไม่มีโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ จึงเก็บภาษีได้ไม่มากนัก
ดังนั้น รัฐบาลต้องหาวิธีช่วยเหลือและเยียวยา อปท. เร่งด่วน โดยเฉพาะเงินอุดหนุนที่ได้ตั้งไว้แล้ว ยังไม่โอนให้ท้องถิ่นเลย หากจัดสรรให้ท้องถิ่นโดยเร็ว จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนและเยียวยาท้องถิ่น ได้บางส่วน
รัฐบาลต้องมีท้องถิ่นเป็นกลไกขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ เนื่องจากเป็นองค์กรที่ใกล้ชิดประชาชน เข้าใจ รู้ปัญหาและความต้องการชุมชนมากที่สุด ดังนั้น ต้องให้ความสำคัญท้องถิ่น ไม่ใช่ผลักภาระให้ท้องถิ่นดูแลประชาชนเพียงลำพัง
รัฐบาลต้องจัดหาวัคซีนที่มีคุณภาพฉีดให้ประชาชนตามเป้าหมาย 70% โดยเร็วที่สุดเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันและป้องกันโควิดระบาดซ้ำ รวมทั้งสร้างความมั่นใจเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากและท่องเที่ยวพร้อมกัน
“การฉีดวัคซีนให้ประชาชนและกลุ่มเสี่ยง หากรัฐบาลยังสร้างความเชื่อมั่นไม่ได้ และไม่ได้กำหนดเวลาฉีดชัดเจน หนทางที่ดีที่สุดคือ เปลี่ยนผู้บริหารประเทศดีกว่า” นายกเทศมนตรีตำบลช้างเผือกกล่าวทิ้งท้าย
ด้าน เกชา เบ็ญจคาร นายกเทศมนตรีตำบลสำนักขาม อ.สะเดา จ.สงขลา ให้ความเห็นว่า ที่รัฐบาลให้ลดอัตราการเก็บภาษีโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างเหลือเพียง 10% นั้น รัฐบาลควรมอบให้ท้องถิ่นแต่ละแห่งพิจารณาเองว่าควรจะจัดเก็บภาษีกับธุรกิจไหน อย่างไร เนื่องจากท้องถิ่นจะทราบดีว่าธุรกิจใดในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด เพราะบางกิจการนอกจากไม่ได้รับผลกระทบแล้วยังได้ประโยชน์ด้วยซ้ำ
อย่างในอำเภอสะเดา มีโรงงานผลิตถุงมือยาง ที่มียอดสั่งซื้อเพิ่มมากขึ้น และยื่นขออนุญาตตั้งโรงงานเพิ่มขึ้นอีก 2 แห่ง แต่เมื่อรัฐบาลมีคำสั่งออกมาให้ลดการจัดเก็บภาษี ก็ต้องลดเหมือนกันหมดทุกกิจการ ทำให้รายได้ ของเทศบาลตำบลสำนักขาม จากเดิมปีละ 20 ล้านบาท เหลือเพียง 2 ล้านบาท ซึ่งคงจะไม่เพียงพอต่อการใช้จ่าย โดยเฉพาะค่าจ้างพนักงาน แม้ขณะนี้จะยังมีเงินเพียงพอจ่ายค่าจ้างให้กับพนักงาน แต่เชื่อว่างบประมาณปีนี้ไม่เพียงพอแน่นอน ต้องใช้วิธีการนำเงินสะสมของเทศบาลที่มีอยู่นำมาใช้ เพราะถือว่าเป็นเรื่องจำเป็น และเป็นเหตุฉุกเฉิน เชื่อว่าเทศบาลทุกแห่งมีปัญหาเช่นเดียวกัน
“ผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้โรงแรม ร้านค้า ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า ต่างได้รับผลกระทบ จึงสมควรที่จะลดการจัดเก็บภาษีต่างๆ แต่บางกิจการไม่ได้รับผลกระทบ จึงควรให้ท้องถิ่นแต่ละแห่งพิจารณาเองว่าธุรกิจใดควรจัดเก็บอย่างไร โดยลดภาษีหรือยกเว้นการเก็บภาษีธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างโรงแรม ร้านค้า แต่ไปเก็บธุรกิจที่ไม่ได้รับผลกระทบ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุด เพราะท้องถิ่นรู้ปัญหาในพื้นที่ดีกว่า” นายกเทศมนตรีตำบลสำนักขามแนะนำ
ด้าน นภารัตน์ แพชนะ ผอ.กองคลัง เทศบาลเมืองหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ระบุว่า หลังรัฐบาลให้เทศบาลลดการจัดเก็บภาษีโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างเหลือเพียงร้อยละ 10 เพื่อเยียวยาผลกระทบจากโควิด ส่งผลกระทบกับสถานะทางการคลังอย่างมาก ทำให้เทศบาลจำเป็นต้องตัดงบด้านสิ่งปลูกสร้างและครุภัณฑ์ เพื่อให้งบที่มีจำกัดสอดคล้องกับการใช้จ่ายงบประมาณรายปี ที่มีรายจ่ายประจำค่อนข้างสูง
สำหรับเทศบาลหัวหินซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยว เดิมเคยจัดเก็บภาษีส่วนนี้ได้สูงมาก แต่ต่อมาจัดเก็บรายได้น้อยลงจากนโยบายของรัฐบาล ก่อนหน้านี้ประมาณการรายได้จากการจัดเก็บ 195 ล้านบาท จัดเก็บได้เพียง 15 ล้านบาท ล่าสุดประมาณการรายได้จากการจัดเก็บกว่า 80 ล้านบาท แต่จัดเก็บได้จริงเพียง 10 ล้านบาทเท่านั้น
“หากรัฐบาลไม่เปลี่ยนแปลงนโยบายหรือกำหนดแนวทางการจัดเก็บรายได้ เชื่อว่าจะมีผลกระทบกับการบริหารการคลังของเทศบาลในระยะยาว และจะมีปัญหากับการใช้งบพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน และการบริการสาธารณะ” นภารัตน์เสนอแนะถึงรัฐบาล
ขณะที่ ศุภสัณห์ หนูสวัสดิ์ เลขาธิการสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศ (ส.ท.ท.) ให้ความเห็นว่า รายได้ที่จัดเก็บเองของท้องถิ่นที่หายไปตามมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาล ขณะที่งบประมาณปี 2563 รัฐจัดงบฯชดเชยให้ประมาณ 1 หมื่นล้านบาทให้กับเทศบาลตำบล กับองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ทั่วประเทศ แต่ยังได้รับไม่ครบ
ทั้งนี้ เทศบาลเมืองขาดรายได้ 3,697 ล้านบาท เทศบาลนคร 3,945 ล้านบาท กรุงเทพมหานคร 13,979 ล้านบาท และเมืองพัทยา 419 ล้านบาท ทราบว่ายังไม่ได้รับการจัดสรรและไม่มีความคืบหน้า สมาคมจึงเรียกร้องให้รัฐบาลชดเชยเช่นเดิมกับเทศบาลตำบล และ อบต.ในงบประมาณปี 2564 และปี 2565 โดยขอให้รัฐบาลตระหนักเรื่องนี้ให้มาก เพราะรายได้ส่วนนี้ อปท.ต้องนำไปใช้จ่ายประจำ เช่น เงินเดือน ค่าจ้างพนักงาน ค่าใช้สอย บำรุงซ่อมแซมครุภัณฑ์ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง และอื่นๆ เงินส่วนนี้ อปท.ต้องจัดเก็บเองจ่ายเอง ไม่เหมือนราชการส่วนอื่น ที่กรมบัญชีกลางเป็นผู้จ่ายให้
“ขณะนี้รายได้ที่จัดเก็บเกี่ยวข้องกับงานสาธารณสุข เช่น ใบอนุญาตทั้งหลาย รวมถึงนิติกรรมที่ดินลดลง ทำให้บางเทศบาลตำบลและ อบต.บางแห่งขาดสภาพคล่อง ไม่สามารถใช้จ่ายงบประจำได้ตามปกติ สมาคมจึงขอเรียกร้องไปยังรัฐบาล กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย และคณะกรรมการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) จัดสรรงบให้ อปท. อย่างครบถ้วนสมบูรณ์” เลขาฯส.ท.ท.เรียกร้องไปยังรัฐบาล
เป็นอีกปัญหาต่อเนื่องจากพิษโควิด ที่ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปถึงท้องถิ่นทั่วประเทศ เป็นการบ้านของรัฐบาลส่วนกลางและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องแก้ปัญหาและช่วยเหลือต่อไป