รีเซต

ดร.ธรณ์ สรุปสถานการณ์กู้ภัย "เรือดำน้ำไททัน" สูญหายขณะชมซากไททานิค

ดร.ธรณ์ สรุปสถานการณ์กู้ภัย "เรือดำน้ำไททัน" สูญหายขณะชมซากไททานิค
TNN ช่อง16
22 มิถุนายน 2566 ( 11:46 )
118

ดร.ธรณ์ สรุปสถานการณ์กู้ภัย "เรือดำน้ำไททัน" สูญหาย ขาดการติดต่อ ขณะพา 5 ลูกเรือดำดิ่งทะเลลึกดูซากเรือไททานิค ชี้ทั้งโลกมียานสำรวจที่ลงไปได้ในระดับ 3,800 เมตร ประมาณ 10 ลำ


ความคืบหน้าเรือดำน้ำไททันสูญหายขณะพา 5 ลูกเรือดำดิ่งทะเลลึกดูซากเรือ ไททานิค โดยกองทัพเรือสหรัฐฯ แคนาดา และหน่วยงานรัฐบาลอีกหลายหน่วย กำลังช่วยบริษัทเอกชนในกฏิบัติการค้นหา  หลังขาดการติดต่อในมหาสมุทรแอตแลนติก ตั้งแต่วันที่ 18 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยต่างส่งเครื่องบินและเรือไปยังบริเวณกลางมหาสมุทรแอตแลนติก โดยในเรือดำน้ำมีคนอยู่ 5 คน ซึ่งรวมถึง ‘ฮามิช ฮาร์ดิง’ อภิมหาเศรษฐีอังกฤษอยู่ในเรือดำน้ำด้วย


ล่าสุด ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ออกมาโพสต์เฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat ถึงเรื่องดังกล่าวว่า


"สรุปสถานการณ์กู้ภัยยาน Titan

ยังคงตามหาต่อไปแบบปฏิบัติการ “ช่วยชีวิต” (Search&Rescue) แม้ออกซิเจนเหลือน้อย แต่ปริมาณออกซิเจนเป็นการคาดการณ์ อาจแตกต่างในสถานการณ์จริงของการหายใจแต่ละคน

ยังระบุจุดที่ได้ยินเสียงไม่ได้ อีกทั้งยังไม่สามารถวิเคราะห์เสียงว่าเป็นอะไรแน่ แต่ยังพยายามส่ง ROV ไปสำรวจ ยังไม่พบอะไร

การค้นหาทางอากาศยังดำเนินต่อไป ครอบคลุมพื้นที่ 3 หมื่นตร.กม.หรือมากกว่า

เครื่องบินปล่อย sonobuoy มีทั้งแบบ active (Sonar) ยิงคลื่นลงไปเพื่อกระทบวัตถุแล้วรับสัญญาณสะท้อน และแบบ passive รับเสียงที่เกิดขึ้นใต้น้ำ (โซนาร์ที่เราเรียก หมายถึงระบบแอคทีฟเท่านั้น)

ใช้ยาน ROV หลายลำ (ไม่มีคนขับ) ยาน Victor6000 ของฝรั่งเศสน่าจะเป็นความหวังมากสุด มีมือจับกลสามารถดึงหรือแกะของที่อาจติดอยู่ หรือนำสายไปเกี่ยวเพื่อช่วยดึงยาน titan ขึ้นมา

การเกี่ยวและดึงขึ้นมา ใช้อุปกรณ์ของสหรัฐ Flyaway Deep Ocean Salvage System (Fadoss) ทำงานได้ถึง 6,000 เมตร ดึงของหนัก 27 ตัน เพียงพอสำหรับ titan การทำงานใช้ ROV ไปเกี่ยวขึ้นมา

อุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในปฏิบัติการครั้งนี้ ทำให้เราเห็นความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทะเลลึก เช่น sonobuoy, sidescan sonar, ROV ฯลฯ

sidescan sonar มีในไทย เคยนำมาลองใช้ทำ mapping พื้นที่ชายฝั่งขนาดเล็ก

ROV ในไทยมีนานแล้ว ตอนนี้มีใช้ทั่วไป รู้จักในนาม underwater drone ส่วนใหญ่ใช้สาย ลงลึกได้ 100-150 เมตร (ขนาดเล็ก) ปัญหาสำคัญคือสายแพง และกระแสน้ำอาจทำให้สายตกท้องช้าง

Deep Water Robot ใช้ในกิจการพลังงาน วางท่อ รวมถึงวางสายไฟเบอร์ออปติก/สายไฟใต้น้ำ ฯลฯ

เรายังไม่มียานสำรวจทะเลลึกแบบมีคนอยู่ข้างใน และคงยังไม่มีอีกนานเพราะราคาสูงมากและไม่จำเป็นขนาดนั้น (อ่าวไทยตื้นมาก)

ทั้งโลกมียานสำรวจที่ลงไปได้ในระดับ 3,800 เมตร ประมาณ 10 ลำ

ขอให้ทุกคนปลอดภัย ขอให้มีปาฏิหาริย์ครับ"




ภาพจาก รอยเตอร์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง