โควิด-19 : เรื่องเล่าจากนักท่องเที่ยวไทยที่ติดอยู่ระหว่างทางในมอนเตเนโกรมาเกือบ 1 เดือน

"สไปซี่ ชิกเก้น" หรือ ไก่เผ็ดจัดจ้าน คือรสบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ แวฮัมซี สาแม นักท่องเที่ยวไทยที่ติดอยู่ที่ประเทศมอนเตเนโกร กินอยู่ 4 วันเต็ม ๆ
ต้องรอถึง 5 นาทีกว่าเส้นจะนุ่มเพราะน้ำร้อนจากก๊อกคือที่พึ่งเดียวของเขาขณะโลกภายนอก--หรืออาจจะเรียกว่าโลกทั้งใบ--หยุดเคลื่อนไหวจากวิกฤตโควิด-19 ที่คร่าชีวิตคนทั่วโลกไปกว่าเกือบ 9 หมื่นรายแล้ว
20 กว่าวันมาแล้วที่ชายจากยะลาวัย 28 ปีผู้นี้ติดอยู่ต่างประเทศในคาบสมุทรบอลข่านแห่งนี้ และอนาคตก็ยังไม่แน่นอนเข้าไปใหญ่หลังสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยขยายเวลาห้ามอากาศยานบินเข้าไทยถึงวันที่ 18 เม.ย. จากเดิมที่จะหมดลงในเวลาเที่ยงคืนของ 6 เม.ย. เป็นภาพสะท้อนชะตากรรมคนไทยอีกหลายชีวิตในต่างแดนที่รอรัฐบาลเอื้อมมือเข้ามาช่วยเหลือ
- รัฐบาลขอคนไทยในต่างประเทศ ถ้าไม่เดือดร้อนยังไม่ต้องรีบกลับ
- เต่ามะเฟืองขึ้นวางไข่มากสุดในรอบหลายปี เกี่ยวอะไรกับโควิด-19
- คุยกับ 3 นักกีฬาทีมชาติไทยที่ได้ไปโอลิมปิก แต่ (ยัง) ไม่มีโอลิมปิกให้ไป
"พอใส่เครื่องปรุงก็ไม่แปลกนะครับ" คือคำตอบเมื่อบีบีซีไทยถามถึงรสชาติน้ำซุปบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป แวฮัมซี ยังหัวเราะได้ แต่ก็บอกว่านั่นเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุด
วันนี้ (9 เม.ย.) โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ระบุว่า กระทรวงการต่างประเทศ รายงานตัวเลขคนไทยที่รอเดินทางกลับไทยทางเครื่องบินมีจำนวน 5,453 คน และเดินทางผ่านด่านพรมแดนมีทั้งหมด 14,664 คน โดยมีผู้เดินทางเข้าไทยแล้วประมาณ 12,000 คน
ศบค. บอกอีกว่า ขอคนไทยในต่างประเทศ หากยังอยู่ได้ไม่เดือดร้อน อย่าเพิ่งเดินทางกลับไทย เพราะรัฐมีศักยภาพรับผู้เดินทางกลับไทยให้อยู่ในสถานกักของรัฐได้เพียงวันละประมาณ 200 คนต่อวันเท่านั้น
แวฮัมซี บอกว่า เขาชอบเดินทางมาหลายปีแล้ว แต่เพิ่งจะมาเปิดเพจเฟซบุ๊กบันทึกการเดินทางที่ชื่อ Around the WAE เมื่อต้นเดือน ก.พ. ตั้งใจจะเป็นแรงบันดาลใจให้คนจากจังหวัดชายแดนภาคใต้กล้าเดินทาง แม้ว่าจะมีเรื่องภาษาเป็นอุปสรรค
"เวลาเราเดินทางนี่เหมือนเราได้แรงบันดาลใจในการทำงานต่อ เราชอบ ได้อยู่แบบเงียบ ๆ คิดอะไรได้หลายอย่าง ห่างจากผู้คน" แวฮัมซี เล่าให้บีบีซีไทยฟัง
แต่แล้วเพจท่องเที่ยวใหม่เอี่ยมก็กลายเป็นบันทึกการติดอยู่กับที่เฉพาะกิจเพราะไวรัสโคโรนา ก่อนมาถึงมอนเตเนโกร เขาเดินทางไปหลายประเทศ เริ่มที่ตุรกี สเปน ฝรั่งเศส โปแลนด์ เยอรมนี ออสเตรีย ฮังการี บอสเนีย เป็นต้น
แม้ว่าทางฝั่งเอเชียจะเริ่มตื่นตระหนกกับสถานการณ์โควิด-19 ระบาดสักพักแล้ว ช่วงปลาย ก.พ. ขณะเขาอยู่โปแลนด์ เพิ่งเริ่มจะมีข่าวคนเริ่มติดเชื้อในยุโรป ตอนที่ถึงมอนเตเนโกรช่วงกลาง มี.ค. แวฮัมซี ก็บอกว่าสถานการณ์ยังไร้ความน่ากังวลเนื่องจากที่นั่นยังไม่มีคนติดเชื้อ
ติดแหงก
การหาแรงบันดาลใจกลายเป็นการติดแหงกเมื่อเขาเริ่มพยายามเดินทางต่อไปโครเอเชียแต่ไม่สำเร็จ เพราะประเทศปิดพรมแดนไม่ให้ชาวต่างชาติเข้า เขาตัดสินใจกลับบ้านด้วยการจองตั๋วเตรียมไปขึ้นเครื่องที่กรุงพอดโกริกา เมืองหลวงมอนเตเนโกร แต่ในตอนนั้น เขาไม่รู้เลยว่าจะต้องเผชิญอุปสรรคอีกมากมายแค่ไหน
เที่ยวบินจากพอดโกริกา ผ่านเซอร์เบียไปกรุงมอสโกเพื่อกลับไทยถูกยกเลิก เขาลองจองเที่ยวบินจากอีกเมืองในมอนเตเนโกร แต่ก็ถูกยกเลิกอีกครั้ง
จากนั้น สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงบูดาเปสต์ ได้ช่วยประสานให้เขาไปขึ้นเครื่องที่บอสเนีย แต่ทางการไทยก็ประกาศว่าจะต้องมีใบรับรองแพทย์ว่ามีสุขภาพเหมาะสมต่อการเดินทาง (fit to fly certificate) อีก แวฮัมซี ต้องกักตัวอีก 14 วันกว่าจะได้ใบรับรองแพทย์ แต่พอได้ใบรับรอง และสถานทูตไทยช่วยทำเรื่องข้ามพรมแดนไปขึ้นเครื่องเรียบร้อย แต่สนามบินในบอสเนียก็ปิดไปแล้ว
"ยากมากเลยที่จะขอ fit to fly ต้องแอบไป เราอยากกลับบ้าน ต้องใส่หน้ากาก ใส่หมวก ตระเวนทั้งเมือง เขาก็ไม่ทำให้ น่าจะเพราะเป็นต่างชาติหรือเปล่า คลินิกส่วนมากก็ปิด มีแต่โรงพยาบาล โรงพยาบาลเขาก็ไม่ทำให้ รู้สึกงง ๆ ทำไมต้องมี[ใบรับรองแพทย์] ในเมื่อกลับไปก็ต้องไปกักตัวตามหน่วยงานอยู่ดี มันทำให้อะไรยากไปหมด เราจะไปหาที่ไหน ตัวคนเดียว"
https://www.facebook.com/AroundTheWAE/videos/799783127175727/
ระหว่างนั้น นอกจากจะหาทางกลับไม่ได้ เขายังต้อง "ตะลอน" หาที่พักใหม่อีกด้วย
"ส่วนมากเขาจะไม่รับ เขากลัวเรื่องเชื้อ ที่นี่เขาระแวงคนต่างชาติด้วยไง เห็นผมละตกใจ บางทีที่หาที่พัก จองเรียบร้อยคือโดนไล่จนคนออกมาดู เกิดอะไรขึ้น ต้องไปหาที่ใหม่ แต่ผมก็เข้าใจ ก็ไม่ได้ใส่ใจอะไรมาก"
แวฮัมซี พยายามวางแผนกลับบ้านอีกครั้งวันที่ 9 เม.ย. ซึ่งจะเลยช่วงห้ามอากาศยานบินเข้าไทยชั่วคราววันที่ 4-6 เม.ย. พอดี
แวฮัมซี เล่าถึงการช่วยเหลือจากสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงบูดาเปสต์ ไว้ในเพจ Around the WAE ของเขาว่า ได้ติดต่อพรมแดนมอนเตเนโกร, โครเอเชีย, บอสเนีย และฮังการี ให้เขาเรียบร้อยโดยให้ขึ้นเครื่องกลับไทยจากกรุงบูดาเปสต์
โพสต์ของแวฮัมซี เล่าถึงบทสนทนากับท่านกงสุลไทยคนหนึ่งว่า "คุณต้องขึ้นรถแท็กซี่ที่จ้างไว้ (100 ยูโร) ในเช้าวันที่ 8 เม.ย. นี้ จากเมืองหลวงมอนเตเนโกรไปยังพรมแดนมอนเตเนโกร ต้องแสดงเอกสารที่สถานทูตเตรียมไว้ให้ ตม.มอนเตเนโกรดู และต้องเดินข้ามมายัง Borderโครเอเชีย แสดงเอกสารอีกเช่นกัน
หลังจากนั้นก็ขึ้นแท็กซี่ฝั่งโครเอเชียที่จ้างไว้ (900 ยูโร แพงกว่าค่าเครื่องอีก) ขับไปเรื่อย ๆ จนถึงพรมแดนบอสเนีย ก็ต้องแสดงเอกสารอีกเหมือนเดิม เข้าบอสเนียสักชั่วโมงกว่า ๆ ก็เข้าพรมแดนโครเอเชียใหม่ แสดงเอกสารเสร็จสรรพ เข้าโครเอเชียยิงยาวถึงพรมแดนฮังการี เข้าฝั่งฮังการีเสร็จมีรถจากสถานทูตไปรับส่งไปที่พักในบูดาเปสต์"
พังครืน
แต่แล้วทุกอย่างก็พังครืนลงหลังมีคำสั่งขยายเวลาห้ามอากาศยานบินเข้าไทยถึงวันที่ 18 เม.ย. แวฮัมซี ไม่รู้เลยว่าจะต้องอยู่ที่นี่ไปอีกนานเท่าไร
ระหว่างนี้ แวฮัมซี บอกว่าสถานทูตจะช่วยเหลือค่าที่อยู่และค่าที่กินให้ ชีวิตประจำวันในห้องพักดำเนินไปด้วยความซ้ำซาก เขาบอกว่าพยายามนอนให้นานที่สุด ทำงานซึ่งสามารถเข้าถึงจากระบบออนไลน์ได้ ดูของกินของใช้ว่าจะต้องออกไปซื้ออะไรเพิ่มหรือไม่ก่อนจะเป็นช่วงเคอร์ฟิว (หนึ่งทุ่มถึงตีห้าในวันธรรมดา และบ่ายโมงถึงตีห้าในวันเสาร์-อาทิตย์)
"ไม่มีอะไรทำก็วิดีโอคอลหาเพื่อน เปลืองเน็ตมาก เปิดแช่ไว้เลย เหงา ไม่รู้จะคุยกับใคร คุยทั้งวันเลย ทำงานไปด้วย มืดก็นอนต่อ ตื่นมาก็ทำแบบเดิม"
แวฮัมซี ซึ่งเป็นชาวมุสลิม บอกว่าเขารอฟังข่าวเรื่องห้ามอากาศยานบินเข้าไทยด้วยความใจจดใจจ่อ เนื่องจากกังวลเรื่องเทศกาลถือศีลอดที่จะเริ่มขึ้นวันที่ 24 เม.ย.
"กลับไปกักตัวก็ต้องไปถือศีลอดที่สัตหีบ แต่ก็อยู่ต่างที่ ไม่ใช่อยู่บ้านเรา คนมุสลิมก็ต้องเคร่งเรื่องของกิน เราไม่รู้ว่าจะพาเราไปไหน"
แวฮัมซี บอกว่า ถ้าเป็นไปได้ อยากให้รัฐบาลไทยจัดให้มีเครื่องบินมารับคนไทยจากประเทศกลับบ้าน อย่างที่รัฐบาลประเทศอื่นกำลังทำกันอยู่
"ถามว่าสนุกไหม มันหมดสนุกละ น่าเบื่อมากกว่า เปลี่ยนมุมมอง เราจะเอาชีวิตรอดในแต่ละวันได้ยังไง ไม่ได้เครียด ก็สนุกอีกแบบนึงนะครับ ถ้าพูดตามแบบนักเดินทางจริง ๆ เหมือนเวลาเราตกเครื่องต้องหาทางยังไงวะ ไม่ได้วิตกกังวลถึงเครียด"
แวฮัมซี บอกว่าวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นไม่ได้เปลี่ยนแปลงความรักที่จะท่องเที่ยวของเขาเลย
"อยากเที่ยวรอบโลก รอบหน้าจะไปอีก"
ยอดนิยมในตอนนี้
