รัฐบาลจัดหนัก คาดโทษเจ้าหน้าที่เอี่ยวค้ายา-ไม่มีผลงานปราบยาเสพติด

วันนี้ (17 ก.ค. 68) นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดปฏิบัติการกวาดล้างยาเสพติด “No Drugs No Dealers” ผนึกกำลังชุมชนปลอดยาเสพติด
นายภูมิธรรม รับฟังรายงานวัตถุประสงค์การจัดงานฯ พร้อมกล่าวมอบนโยบายว่าปัจจุบันเราเผชิญกับภัยอาชญากรรมจากภายนอกประเทศ ซึ่งเล็ดลอดเข้าสู่ประเทศไทยผ่านตามแนวชายแดน ไม่ว่าจะเป็นการค้ามนุษย์ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ การค้าสิ่งของผิดกฎหมายและการลักลอบขนยาเสพติด
ยาเสพติดถือเป็นภัยร้ายที่บ่อนทำลายประเทศมาอย่างยาวนาน ถึงแม้ว่าไทยจะไม่ได้เป็นต้นกำเนิดของยาเสพติด แต่ก็ได้รับผลกระทบจากการลักลอบนำเข้ายาเสพติดจากประเทศเพื่อนบ้าน บริเวณชายแดนภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเส้นทางของยาเสพติดเหล่านี้จะถูกนำเข้าไปแพร่ระบาดในหมู่บ้านและชุมชน หรือถูกส่งต่อไปยังปลายทางประเทศที่ 3 แต่ไม่ว่าปลายทางของยาเสพติดจะไปสิ้นสุดที่ใด
แน่นอนว่ายาเสพติดก็จะสร้างปัญหาที่ทำลายชีวิตของคนในหมู่บ้าน ทำลายความสงบสุขและปลอดภัยของชุมชน อีกทั้งทำลายโอกาสดี ๆ ของคนรุ่นลูกรุ่นหลานต่อไปไม่รู้จบ ปัญหายาเสพติด จึงเป็นวาระแห่งชาติที่รัฐบาลตั้งใจขจัดให้หมดไปจากผืนแผ่นดินไทย
ทั้งนี้ ที่ผ่านมารัฐบาลได้ดำเนินงานอย่างเข้มข้น จริงจัง และต่อเนื่อง ด้วยมาตรการและปฏิบัติการต่าง ๆ ทั้งการกำหนดแผนปฏิบัติการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ซึ่งจะมีการกำกับ ติดตาม และประเมินผลตัวชี้วัดอย่างต่อเนื่อง
นายภูมิธรรม กล่าวต่อว่า รัฐบาลจะผลักดันวาระการแก้ไขปัญหายาเสพติด ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติ ให้เป็นวาระของจังหวัด อำเภอ และหมู่บ้าน/ชุมชนทั่วประเทศ ผ่านปฏิบัติการกวาดล้างยาเสพติด “No Drugs No Dealers” ผนึกกำลัง ชุมชนปลอดยาเสพติด โดยมีเป้าหมายและตัวชี้วัดว่าภายใน 3 เดือนนี้ หมู่บ้าน/ชุมชนที่มีปัญหายาเสพติด จะต้องเริ่มแก้ไขปัญหา วางกลไกของชุมชนและประกาศตนเป็น “หมู่บ้านชุมชนปลอดยาเสพติด” ที่จะต้องไม่มีทั้งผู้ค้าและผู้เสพอีกต่อไป
ทั้งนี้ การดำเนินงานดังที่กล่าวมานี้ จำเป็นต้องอาศัยการทำงานร่วมกันของจังหวัดและฝ่ายปกครองนำโดยผู้ว่าราชจังหวัด เจ้าหน้าที่ตำรวจ นำโดยผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข นำโดยนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด เพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหายาเสพติดให้ครบถ้วนทุกมิติ นับตั้งแต่การป้องกันไม่ให้ยาเสพติดเข้าสู่ประเทศการปราบปรามการแพร่ระบาดของยาเสพติดในชุมชน ตลอดจนการฟื้นฟูคนดีกลับสู่สังคม
พร้อมขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด จับมือกัน ร่วมกันทำงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดให้เห็นผลเป็นรูปธรรมชัดเจน โดยจะต้องบูรณาการร่วมกับทุกหน่วยงาน โดยเฉพาะในด้านของการประสานแลกเปลี่ยนข้อมูล การวางกำลังร่วมและการจัดกำลังเพื่อสนับสนุนภารกิจของกันและกัน ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัด จะต้องเป็นผู้ว่า CEO ที่เป็นเจ้าภาพในการบริหารจัดการปัญหายาเสพติดบนข้อมูลสถานการณ์จริง และแน่นอนว่าแต่ละจังหวัดก็มีบริบทของพื้นที่แตกต่างกันไป
ดังนั้น ผู้ว่าฯ จะต้องรู้ทุกสภาพปัญหาและเงื่อนไขความท้าทายที่เกิดขึ้นในจังหวัด พร้อมนำปัญหามาแปลงเป็นแนวทางแก้ไขที่ตอบโจทย์ของพื้นที่ นอกจากนั้น ขอให้มีการทบทวนเป้าหมายตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในทุกระยะ เพื่อให้
การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การทำงานเป็นเอกภาพ และมีประสิทธิภาพสูงสุด อีกทั้ง การดำเนินงานจะต้องใช้กลไกของกระทรวงมหาดไทยที่มีความเข้าใจและเข้าถึงพี่น้องประชาชน มาดำเนินงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ตั้งแต่ระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน ซึ่งก็จะต้องมีการมอบหมายภารกิจให้นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานเรื่องยาเสพติดนี้ด้วย โดยการดำเนินงานจะมีทั้งการสกัดกั้นเฝ้าระวัง ตรวจตรา และ X-Ray ทุกพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่สถานบันเทิง หากพบผู้เสพยาเสพติดขอให้นำเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาและฟื้นฟู ยึดหลัก “ผู้เสพ คือผู้ป่วย” ที่ต้องได้รับการรักษา ซึ่งมีหลายรูปแบบจำแนกตามกลุ่มของผู้ป่วย
รวมทั้งขอให้ทางจังหวัดให้ความสำคัญกับการดำเนินงานของศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม เพื่อให้ผู้ป่วยที่ผ่านการบำบัดได้มาฟื้นฟูสมรรถนะและศักยภาพให้สมบูรณ์ ก่อนจะกลับเข้าไปใช้ชีวิตในสังคมโดยไม่กลับไปใช้ยาเสพติดซ้ำอีก โดยสามารถนำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ซึ่งก็เป็นอีกส่วนที่ใกล้ชิดกับพี่น้องประชาชน เข้ามามีส่วนร่วมและสนับสนุนการดำเนินงานด้วย และหากพบว่ามีข้าราชการคนใดไม่ดำเนินการตามนโยบายปราบปรามยาเสพติดของรัฐบาล หรือไปมีส่วนเกี่ยวข้องเสียเองกับกระบวนการค้ายาเสพติด ก็จะต้องมีบทลงโทษอย่างจริงจังแต่ถ้าข้าราชการสามารถแก้ไขปัญหาก็จะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล
นายภูมิธรรม กล่าวอีกว่า อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญและส่งผลทำให้การแก้ไขปัญหายาเสพติดเกิดผลสัมฤทธิ์ คือ “พลังของพี่น้องประชาชน” ซึ่งภาครัฐจะต้องเข้าไปมีส่วนสนับสนุนให้พี่น้องในชุมชนรวมพลังกัน เพื่อต่อต้านยาเสพติด โดยขอให้กำนันและผู้ใหญ่บ้านทุกคนรับเป็นผู้นำ โดยอาจมีการกำหนดกติการ่วม หรือธรรมนูญหมู่บ้าน เรื่องการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดให้ทุกคนรับทราบและปฏิบัติร่วมกัน อีกทั้ง กำนันและผู้ใหญ่บ้าน ยังสามารถสนธิกำลังร่วมกับชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านและประชาชนอาสาสมัครในพื้นที่ เพื่อหาเบาะแส สืบข้อมูล และกระจายข่าวให้สมาชิกในหมู่บ้านทราบอย่างต่อเนื่อง อันจะเป็นการสกัดกั้นไม่ให้มีผู้ค้ายาเสพติดเล็ดลอดอยู่ในชุมชน และเฝ้าระวังไม่ให้มีผู้เสพยาเสพติด รวมถึงผู้ที่มีอาการคลุ้มคลั่งจากยาเสพติด ซึ่งการดำเนินงานเหล่านี้จะช่วยให้ชุมชนปลอดภัย ไม่มีผู้เสพยาเสพติดรายใหม่เพิ่มเติม และป้องกันไม่ให้ยาเสพติดกลับเข้ามาแพร่ระบาดในชุมชนได้อีกต่อไป
อีกหนึ่งรูปแบบการดำเนินงานที่ให้จังหวัดรับไปปรับใช้ คือ รูปแบบการดำเนินงานจังหวัดสีขาว ปลอดยาเสพติด “ธวัชบุรีโมเดล” และ “ท่าวังผาโมเดล” ซึ่งเกิดผลสำเร็จเป็นที่ประจักษ์ โดยรัฐบาลพร้อมสนับสนุนการดำเนินงานตามโมเดลดังกล่าวอย่างเต็มที่ และที่ผ่านมา ทั้ง 14 จังหวัด 51 อำเภอชายแดน ก็ได้ตั้งใจปฏิบัติงานสกัดกั้นการลักลอบนำเข้ายาเสพติด สารตั้งต้น และเคมีภัณฑ์ ตามแผนปฏิบัติการ Seal Stop Safe โดยผนึกกำลังร่วมกันระหว่าง ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง ศุลกากร กอ.รมน. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงาน จึงอยากให้จังหวัดที่อยู่บริเวณชายแดนอื่นนอกเหนือจาก 14 จังหวัดข้างต้น นำรูปแบบการดำเนินงานดังกล่าวไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาพปัญหาและบริบทของพื้นที่ เพื่อป้องกันไม่ให้ประเทศไทยเป็นแหล่งแพร่ระบาดของยาเสพติด และยับยั้งไม่ให้ประเทศของเราเป็นทางผ่านของยาเสพติดไปสู่ประเทศที่สามได้
Tag
ยอดนิยมในตอนนี้
