รีเซต

วันนี้วันอะไร วันคริสต์มาส ตรงกับวันที่ 25 ธันวาคม

วันนี้วันอะไร วันคริสต์มาส ตรงกับวันที่ 25 ธันวาคม
TNN ช่อง16
18 ธันวาคม 2564 ( 15:26 )
287
วันนี้วันอะไร วันคริสต์มาส ตรงกับวันที่ 25 ธันวาคม

รู้หรือไม่ วันที่ 25 ธันวาคมของทุกปีเป็นวันคริสต์มาส คริสต์มาส (Christmas) มาจากภาษาอังกฤษโบราณว่า “Christes Maesse” แปลว่า บูชามิสซาของพระคริสตเจ้า โดยพบคำนี้ครั้งแรกในเอกสารโบราณ ค.ศ.1038 ซึ่งภายหลังเปลี่ยนมาเป็นคำว่า “Christmas”


  • ประวัติความเป็นมาวันคริสต์มาส

เทศกาลคริสต์มาส ตรงกับวันที่ 25 ธันวาคมของทุกปี ซึ่งเป็นวันประสูติของพระเยซู ศาสดาแห่งศาสนาคริสต์ โดยพระองค์ประสูติที่เมืองเบธเลเฮม และเติบโตที่เมืองนาซาเรท ซึ่งคือประเทศอิสราเอลในปัจจุบัน จากหลักฐานในพระคัมภีร์ได้บันทึกไว้ว่า พระเยซูเจ้าประสูติในสมัยที่จักรพรรดิซีซาร์ ออกุสตุส แห่งจักรวรรดิโรมัน ซึ่งรับสั่งให้จดทะเบียนสำมะโนครัวทั่วทั้งแผ่นดิน โดยฝ่ายคีรีนิอัส เจ้าเมืองซีเรีย ได้รับนโยบายไปปฏิบัติให้มีการจดทะเบียนสำมะโนครัวทั่วทั้งอาณาเขต แต่ในพระคัมภีร์ไม่ได้ระบุว่าพระเยซูประสูติวันหรือเดือนอะไร


ขณะที่นักประวัติศาสตร์วิเคราะห์ว่า เดิมทีวันที่ 25 ธันวาคมเป็นวันที่จักรพรรดิเอาเรเลียนแห่งโรมันกำหนดให้เป็นวันฉลองวันเกิดของสุริยเทพ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 274 ชาวโรมันซึ่งส่วนใหญ่นับถือเทพเจ้า ฉลองวันนี้เสมือนว่าเป็นวันฉลองของพระจักรพรรดิ  เพราะจักรพรรดิเปรียบเสมือนดวงอาทิตย์ที่ให้ความสว่างแก่ชีวิตมนุษย์ แต่ชาวคริสต์ที่อยู่ในจักรวรรดิโรมัน รวมถึงชาวโรมันที่เปลี่ยนไปนับถือคริสต์ อึดอัดใจที่จะฉลองวันเกิดของสุริยเทพ จึงหันมาฉลองการบังเกิดของพระเยซู ซึ่งเปรียบเสมือนความสว่างของโลก และเหมือนดวงจันทร์เป็นความสว่างในตอนกลางคืนแทน หลังจากที่ชาวคริสต์ถูกควบคุมเสรีภาพทางศาสนาตั้งแต่ปี ค.ศ. 64-313 จนถึงวันที่ 25 ธันวาคม ปี ค.ศ. 330 ชาวคริสต์จึงเริ่มฉลองคริสต์มาสอย่างเปิดเผยเป็นทางการ


วันคริสต์มาสเป็นวันที่ชาวคริสต์เฉลิมฉลอง ถือเป็นช่วงเวลาแห่งงานรื่นเริง การมอบความรักให้แก่กัน วันแห่งครอบครัว และการรวมกลุ่มกัน ในงานรื่นเริงนี้ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญในการฉลองวันคริสต์มาส โดยเรื่องราวเกี่ยวกับวันคริสต์มาส ได้มีการกล่าวไว้ในคัมภีร์ไบเบิลโดยคำสอนของนักบุญลุกซ์และนักบุญแมททิวว่า ในขณะที่เกิดพายุขึ้น โจเซฟและแมรี่ได้พยายามหาที่กำบังจนกระทั่งมาถึงเมืองเบธเลเฮม ได้พบกับเจ้าของโรงแรมในเมืองนั้นแต่ไม่มีห้องว่างเลย เขาจึงได้ให้ทั้งสองนั้นไปพักอยู่ที่คอกสัตว์ และหลังจากนั้นพระเยซูก็ได้ประสูติ มีดวงดาวปรากฏขึ้นอยู่เหนือคอกสัตว์ที่ทั้งสองนั้นได้พักอยู่ ดวงดาวนี้เองที่เป็นแสงนำให้ผู้คนมายังพระเยซูน้อย ซึ่งหลังจาก 12 วันหลังจากได้ประสูติแล้วได้มีพระราชา 3 องค์ประทานของขวัญแก่ทารกนั้น


  • ความเป็นมาของ ซานตาคลอส (Santa Claus)

ซานตาคลอส ถือเป็นจุดเด่นและสัญลักษณ์ของวันคริสต์มาสที่เด็กและผู้คนนิยมมากที่สุด ซานตาคลอส มาจากชื่อนักบุญนิโคลาส ซึ่งเป็นนักบุญที่ชาวฮอลแลนด์นับถือ เป็นนักบุญองค์อุปถัมภ์ของเด็ก ๆ นักบุญองค์นี้เป็นสังฆราชของไมรา มีชีวิตอยู่ราวศตวรรษที่ 4 เมื่อชาวฮอลแลนด์กลุ่มหนึ่งอพยพไปอยู่ในสหรัฐอเมริกาก็ยังรักษาประเพณีนี้ไว้ คือฉลองนักบุญนิโคลาสในวันที่ 6 ธันวาคม ซึ่งหมายถึงนักบุญนี้จะมาเยี่ยมเด็ก ๆ และเอาของขวัญมาให้ เด็กอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ลูกหลานของชาวฮอลแลนด์ที่อพยพมาก็รู้สึกอยากมีส่วนร่วมในประเพณีแบบนี้บ้างเพื่อรับของขวัญ ประเพณีนี้จึงเริ่มเป็นที่รู้จักและแพร่หลายไปในอเมริกา


  • ความเป็นมาของ ต้นคริสต์มาส (Christmas)

ต้นคริสต์มาส คือต้นสนที่นำมาประดับประดาด้วยลูกแอปเปิลและขนมปังเพื่อระลึกถึงศีลมหาสนิท และได้มีวิวัฒนาการที่เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยจนมาถึงการประดับด้วยดวงไฟหลากสีสัน ขนม และของขวัญอย่างในทุกวันนี้ ย้อนไปในศตวรรษที่ 8 การตกแต่งแบบนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อเซนต์บอนิเฟส มิชชันนารีชาวอังกฤษที่เดินทางไปประกาศเรื่องพระเจ้าในเยอรมนี ได้ช่วยเด็กที่กำลังจะถูกฆ่าเป็นเครื่องสังเวยบูชาที่ใต้ต้นโอ๊ก โดยเมื่อโค่นต้นโอ๊กทิ้ง ได้พบต้นสนเล็ก ๆ ต้นหนึ่งขึ้นอยู่ที่โคนต้นโอ๊ก ท่านจึงขุดให้คนที่ร่วมพิธีกรรมเหล่านั้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของชีวิต และตั้งชื่อว่า ต้นกุมารพระคริสต์ ต่อมา มาร์ติน ลูเธอร์ ผู้นำคริสตจักรชาวเยอรมันได้ตัดต้นสนไปตั้งในบ้าน  และหลังจากนั้นในศตวรรษที่ 19 ต้นคริสต์มาสจึงเริ่มแพร่ไปสู่ประเทศอังกฤษและทั่วโลก


อย่างไรก็ตาม ในอดีตต้นคริสต์มาส หมายถึง ต้นไม้ในสวนสวรรค์ ซึ่งอาดัมและเอวาไปหยิบผลไม้มากิน และทำบาปไม่เชื่อฟังพระเจ้า โดยตามพระคัมภีร์นั้นได้เปรียบพระเยซูเจ้าเสมือนเป็นต้นไม้แห่งชีวิต ซึ่งเป็นต้นไม้ที่เขียวเสมอในทุกฤดูกาล สื่อถึงนิรันดรภาพของพระเยซูเจ้า อีกทั้งความสว่างของพระองค์ยังเหมือนแสงเทียนที่ส่องสว่างในความมืด รวมถึงความชื่นชมยินดีและความสามัคคีที่พระเยซูประทานให้ เพราะต้นไม้นั้นเป็นจุดศูนย์รวมของครอบครัวในเทศกาลคริสต์มาส


  • ดอกไม้คริสต์มาส (Poinsettia)

ดอก Poinsettia เป็นสัญลักษณ์หนึ่งของวันคริสต์มาส โดยมาจากเรื่องราวของเด็กหญิงคนหนึ่ง ที่ต้องการหาของขวัญไปมอบให้พระแม่มารีในวันคริสต์มาสอีฟ แต่เนื่องจากเธอไม่มีสิ่งของใด ๆ ติดตัว จึงเดินทางไปตัวเปล่า และระหว่างทางเธอได้พบกับนางฟ้าที่บอกให้เธอเก็บเมล็ดพืชไว้ ต่อมาเมล็ดพืชนั้นกลับเจริญเติบโตเปลี่ยนเป็นดอกไม้สีเลือดหมูสดใส ซึ่งก็คือดอก Poinsettia ตั้งแต่นั้นมาดอก Poinsettia ก็ได้รับความนิยมใช้ประดับประดาบ้านในงานคริสต์มาส


  • เพลงประจำเทศกาลคริสต์มาส

เพลงที่เราจะได้ยินบ่อยในช่วงวันคริสต์มาส และเป็นหนึ่งในเพลงสวดนมัสการพระเกียรติและชัยชนะของพระคริสต์ เพื่อการรับเสด็จการกลับมาอีกครั้งของพระคริสต์ในวันพิพากษาโลกนั่นคือเพลง “Joy to the World" ที่เรียกได้ว่าเป็นที่นิยมทั้งในอดีตและปัจจุบัน




  • คำอวยพรวันคริสต์มาส

ในวันคริสต์มาสเรามักจะใช้คำอวยพรให้แก่กันและกันว่า Merry X'mas คำว่า Merry ในภาษาอังกฤษโบราณ แปลว่า "สันติสุขและความสงบทางใจ" คำนี้จึงเป็นคำที่ใช้อวยพรขอให้ได้รับสันติสุขและความสงบทางใจ และได้จัดให้มีการฉลองเพื่อระลึกถึงการบังเกิดของพระเยซู ที่ได้รับยกย่องเหมือนกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งสากลโลก ผู้ทรงเกียรติเลอเลิศ ประเพณีนี้ได้เริ่มมาจากกรุงโรม ในศตวรรษที่ 4 และค่อย ๆ เผยแพร่ไปทุกทวีป

สีประจำวันคริสต์มาส


  • สีวันคริสต์มาส มีสีอะไรบ้าง

สีแดง : เป็นสีของเดือนธันวาคม ที่แสดงถึงความตื่นเต้น และหากเป็นสัญลักษณ์ตามศาสนา สีแดงจะหมายถึง ไฟ, เลือด และความโอบอ้อมอารี

สีเขียว : เป็นสีของต้นไม้ สัญลักษณ์ของธรรมชาติ หมายถึง ความอ่อนเยาว์และความหวังที่จะมีชีวิตเป็นนิรันดร์ เปรียบได้กับว่าเทศกาลคริสต์มาสคือเทศกาลแห่งความหวัง

สีขาว : เป็นสีของหิมะและเป็นสัญลักษณ์ทางศาสนา คือ แสงสว่าง ความบริสุทธิ์ ความสุข และความรุ่งเรือง

สีทอง : เป็นสีของเทียนและดวงดาว เป็นสัญลักษณ์ของแสงอาทิตย์และความสว่างไสว


  • การทำมิสซาเที่ยงคืน คืออะไร

การถวายมิสซานี้เกิดขึ้นหลังจากพระสันตะปาปาจูเลียสที่ 1 ได้ประกาศให้วันที่ 25 ธันวาคมเป็นวันฉลองพระคริสตสมภพ (วันคริสต์มาส) ในปีนั้นเอง พระองค์และสัตบุรุษได้พากันเดินสวดภาวนาและขับร้องจากตำบลเบธเลเฮมและไปยังถ้ำที่พระเยซูเจ้าประสูติ เมื่อไปถึงตรงกับเวลาเที่ยงคืนพอดี พระสันตะปาปาทรงถวายบูชามิสซา ณ ที่นั้น และเมื่อเดินทางกลับมาที่พักได้เวลาตี 3 พระองค์ก็ถวายมิสซาอีกครั้ง แต่ยังมีสัตบุรุษหลายคนไม่ได้ร่วมขบวนไปด้วยในตอนแรก พระสันตะปาปาจึงทรงถวายบูชามิสซาอีกครั้งหนึ่งเป็นครั้งที่ 3 เพื่อสัตบุรุษเหล่านั้น ด้วยเหตุนี้เองพระสันตะปาปาจึงทรงอนุญาตในพระสงฆ์ถวายบูชามิสซาได้ 3 ครั้ง ในวันคริสต์มาส เหมือนกับการปฏิบัติของพระองค์ นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจึงมีธรรมเนียมถวายมิสซาเที่ยงคืนในวันคริสต์มาส และพระสงฆ์สามารถถวายมิสซาได้ 3 มิสซาในโอกาสวันคริสต์มาส


ที่มาข้อมูล : wikipedia

ที่มาภาพ : AFP

ข่าวที่เกี่ยวข้อง