รีเซต

'เปิดตัวเก็งชิงโนเบลสันติภาพ' ตั้งแต่นักสู้ประชาธิปไตยถึงแก้ปัญหาโลกร้อน

'เปิดตัวเก็งชิงโนเบลสันติภาพ' ตั้งแต่นักสู้ประชาธิปไตยถึงแก้ปัญหาโลกร้อน
TNN ช่อง16
30 กันยายน 2564 ( 15:22 )
65
'เปิดตัวเก็งชิงโนเบลสันติภาพ' ตั้งแต่นักสู้ประชาธิปไตยถึงแก้ปัญหาโลกร้อน

นาธาน ลอว์ นักสู้เพื่อประชาธิปไตยฮ่องกง


หนึ่งในผู้ได้รับเสนอชื่อชิงโนเบลสันติภาพปีนี้ คือ นาธาน ลอว์ แกนนำนักศึกษาฮ่องกงวัย 28 ปี แกนนำการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในฮ่องกง


ลอว์เป็นหนึ่งในแกนนำนักศึกษาฮ่องกง ในการ “ประท้วงร่ม” เมื่อปี 2014 ที่กินเวลานาน 79 วัน และทำให้ฮ่องกงเป็นอัมพาต


ต่อมา ลอว์เป็นหนึ่งในสมาชิกก่อตั้งกลุ่มการเมืองที่มีชื่อว่า “เดโมซิสโต” สมาชิกก่อตั้งคนอื่น ๆ คือ โจวชัว หว่อง และแอ็กเนส โชว


แต่กลุ่มเดโมซิสโตปัจจุบันไม่มีอยู่แล้ว ลอว์หนีออกจากฮ่องกงในเดือนกรกฎาคมปี 2020 หลังจากจีนบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงฮ่องกงฉบับใหม่


เขาถูกตำรวจฮ่องกงตั้งข้อหาสมรู้ร่วมคิดและยุยงให้เกิดการแบ่งแยกดินแดน ปัจจุบัน ลอว์อยู่ในสหราชอาณาจักรโดยได้รับสถานะลี้ภัยทางการเมือง


 เกรตา ธันเบิร์ก


เกรตา ธันเบิร์ก นักต่อสู้เพื่อแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศ ที่รณรงค์เรื่องนี้มาตั้งแต่เธออายุเพียง 16 ปี จนปัจจุบัน เธออายุ 18 ปีแล้ว


ธันเบิร์ก เริ่มจากการโดดเรียนและไปประท้วงหน้ารัฐสภาสวีเดน ก่อนที่จะมีผู้คนเข้ามาร่วมประท้วงกับเธอเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งในประเทศและทั่วโลก โดยเฉพาะขบวนการ ‘วันศุกร์เพื่ออนาคต’ ที่ช่วงพีคสุดมีผู้ประท้วงทั่วโลกมากถึง 200,000 คน


อันที่จริง ธันเบิร์ก เคยได้รับเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพมาแล้วในปี 2020 ดังนั้น นี่จึงเป็นปีที่สองที่เธอได้เข้าชิงรางวัล


UNHCR ได้เข้าชิงอีกครั้ง


นอกจากนี้ ผู้ได้รับเสนอชื่อชิงโนเบลสันติภาพที่เปิดชื่อออกมาแล้ว ยังมีสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR เคยได้รับรางวัลโนเบลสันติภาพไปแล้ว 2 ครั้งในปี 1954 และ 1981 จากผลงานช่วยเหลือและปกป้องสิทธิของผู้ลี้ภัยและคนต่างด้าวทั่วโลก


องค์การอนามัยโลก หรือ WHO


ปรากฏว่า องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้รับเกียรติอย่างสูงในปีนี้ โดยทั้งตัว WHO เอง และโครงการกระจายวัคซีนต้านโควิด-19 COVAX ของ WHO ได้เข้าชิงแยกกัน


องค์การอนามัยโลก หรือ WHO เป็นองค์กรของสหประชาชาติ หรือ UN ก่อตั้งในปี 1948 วัตถุประสงค์เพื่อ “ปรับปรุงสาธารณสุขทั่วโลก ปกป้องโลกให้ปลอดภัย และรับใช้ผู้อ่อนแอ”


ปัจจุบัน WHO มีสมาชิก 194 ประเทศ มีสำนักงานอยู่ใน 150 ประเทศทั่วโลก มีสำนักงานระดับภูมิภาค 6 แห่ง และมีสำนักงานใหญ่อยู่ในนครเจนีวา มีคนทำงานกว่า 7,000 คน


ผู้อำนวยการ WHO คนปัจจุบันคือ ด็อกเตอร์ เทโดรส อัดฮานอม เกเบรเยซุส นายแพทย์ชาวเอธิโอเปีย ผู้อำนวยการ WHO มาจากการเลือกตั้ง มีวาระดำรงตำแหน่ง 5 ปี เกเบรเยซุสเริ่มดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 กรกฎาคมปี 2017


โครงการ COVAX


ส่วนโครงการ COVAX ของ WHO ได้รับเสนอชื่อชิงรางวัลโนเบลสันติภาพประจำปีนี้ด้วย โดยแยกต่างหากจากการเสนอชื่อ WHO


โครงการ COVAX ก่อตั้งขึ้นโดยมีจุดประสงค์สำคัญคือ เพื่อกระจายวัคซีนต้านโควิด-19 อย่างเท่าเทียม ให้ไปถึงมือประเทศยากจนทั่วโลกและผู้ที่จำเป็นต้องได้รับวัคซีนต้านโควิดมากที่สุด


COVAX ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนเมษายนปี 2020 ในขณะที่กำลังการระบาดของโควิด-19 ทั่วโลก ผู้บริหาร COVAX มี 3 ฝ่ายคือ WHO ร่วมกับองค์กรพันธมิตรเพื่อวัคซีนและการสร้างภูมิคุ้มกันโลก หรือ กาวี (GAVI) และองค์กรพันธมิตรการสร้างนวัตกรรมเพื่อเตรียมพร้อมรับมือโรคระบาด หรือ เซปิ (CEPI)


นับตั้งแต่ก่อตั้งเมื่อปีที่แล้ว COVAX ก็ประสบปัญหาขาดแคลนวัคซีน สาเหตุเนื่องจากประเทศร่ำรวยกักตุนวัคซีนต้านโควิด ซึ่งยังคงผลิตได้จำนวนจำกัด และสาเหตุจากบริษัทยาที่ผลิตวัคซีน ทำการผลิตไม่ทัน รวมทั้งการห้ามส่งออกวัคซีนต้านโควิดของอินเดีย ซึ่งเป็นศูนย์ผลิตวัคซีนของโลก


ปัญหาเหล่านี้ลดศักยภาพของ COVAX ในการจัดหาวัคซีนให้แก่ประเทศยากจน และกระทบเป้าหมายการกระจายวัคซีนของ COVAX ที่ตั้งไว้ที่ 2,000 ล้านโดสภายในสิ้นปี 2021 นี้ แต่ปัจจุบัน COVAX เพิ่งจัดส่งวัคซีนได้เพียง 300 ล้านโดสไปยังกว่า 140 ประเทศทั่วโลกเท่านั้น


Hong Kong Free Press และคนอื่น ๆ


เว็บข่าว “ฮ่องกง ฟรี เพรส” หรือ HKFP ก่อตั้งในปี 2015 โดย ทอม กรันดี้ ชาวสหราชอาณาจักรที่อาศัยอยู่ในฮ่องกง


อิลฮัม โตห์ติ นักเคลื่อนไหวปกป้องสิทธิมนุษยชนชาวมุสลิมอุยกูร์


สเวียตลาน่า ทสิคานูสกาย่า ผู้นำฝ่ายค้านเบลารุส


และอเล็กเซ นาวาลนี ผู้วิพากษ์วิจารณ์ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินของรัสเซีย


ติดโผ แต่อาจไม่ใช่ผู้ชนะ


แต่หลายครั้งที่ผู้ได้รับรางวัลก็ไม่ใช่บุคคลที่ติดโผรายชื่อตัวเก็งเสมอไป


อย่างเมื่อปี 2020 โครงการอาหารโลก (World Food Programme) ซึ่งเป็นโครงการของสหประชาชาติ ได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้ "สำหรับความพยายามในการต่อสู้กับความหิวโหย การมีส่วนร่วมในการพัฒนาสันติภาพในพื้นที่ความขัดแย้ง และการเป็นกำลังขับเคลื่อนในการหยุดยั้งการใช้ความอดอยากหิวโหยเป็นเครื่องมือในสงคราม"


ก่อนหน้านั้น มีทั้งประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่มีข่าวว่ามี ส.ส.หัวขวาจัดของนอร์เวย์ เสนอชื่อเขาชิงโนเบลสันติภาพ ประจำปี 2020 ด้วย จากผลงานที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ คือการทำให้อิสราเอลบรรลุข้อตกลงสันติภาพกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือ UAE


ขณะที่เมื่อปี 2019 อาบีย์ อาห์เม็ด (Abiy Ahmed) จากเอธิโอเปีย ได้รับรางวัลดังกล่าว ”สำหรับความพยายามในการบรรลุสันติภาพและความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งพรมแดนเอธิโอเปีย-เอริเทรีย"

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง