รีเซต

กางแผนนโยบายเทคฯ สร้างเศรษฐกิจ สู้ศึกเลือกตั้ง 66 EP.2 | TNN Tech Reports

กางแผนนโยบายเทคฯ สร้างเศรษฐกิจ สู้ศึกเลือกตั้ง 66  EP.2 | TNN Tech Reports
TNN ช่อง16
8 พฤษภาคม 2566 ( 15:03 )
70



หนึ่งในโจทย์ใหญ่ของประเทศไทยวันนี้ คือการใช้เทคโนโลยีเข้ามายกระดับวิถีเกษตรกรรมของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นการลดต้นทุนการผลิต การพัฒนาคุณภาพและเพิ่มมูลค่าสินค้า เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร ซึ่งนี่ถือเป็นความท้าทายของหลาย ๆ พรรคการเมืองในศึกเลือกตั้งกลางเดือนพฤษภาคม 66 


"พรรคเพื่อไทย"


มีแนวคิดในการเก็บข้อมูลพื้นฐานทางด้านเกษตรกรรม เช่น ปริมาณแร่ธาตุในดินหรือปริมาณน้ำไว้ในฐานข้อมูลแบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ Data Center และเปิดให้ทุกคนเข้าถึงข้อมูลโดยพรรคเพื่อไทยเชื่อว่าจะทำให้มีโอกาสที่จะนำไทยไปสู่การทำเกษตรอัจฉริยะ หรือ Smart Farming ได้ในอนาคต


โดยแนวคิดนี้เกิดขึ้นจากการที่ทางพรรคมองว่า หากเกษตรกรไทยสามารถเข้าถึงข้อมูลพื้นฐานที่เป็นปัจจัยสำคัญในการทำการเกษตร รวมถึงสามารถที่จะนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ระหว่างกระบวนการผลิต และพาสินค้าของเกษตรกรไทยไปสู่ตลาดได้โดยตรง ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ก็จะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเหล่าเกษตรกรไทยได้


นอกจากนี้ ข้อมูลต่าง ๆ ยังช่วยให้เกษตรกรไทย ประเมินได้ว่า สินค้าใดเป็นที่ต้องการของตลาดโลก และยังช่วยให้เกษตรกรไทยมีโอกาสเจอกับลูกค้าต่างประเทศได้โดยตรงผ่านแอปพลิเคชันอีกด้วย




ศรัณย์ ทิมสุวรรณ

คณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย

ผู้สมัคร ส.ส. จังหวัดเลย


"ในอดีต พออะไรแพงแล้วก็จะไปปลูกอันนั้นกันหมด ปีนี้อ้อยแพง หลายคนปีนี้ปลูกมันปีหน้าก็จะปลูกอ้อยแล้วมันก็จะเกิดปัญหาปีหน้า เพราะสินค้าเยอะราคาก็จะตก เราชูนโยบายว่าเราต้องการให้ Agriculture Tech เติบโตสิ่งที่ทำได้ต้องมีข้อมูลให้เขาพร้อม ในอนาคตเราสามารถเก็บข้อมูลได้ว่าดินในประเทศเราเหมาะจะปลูกอะไร แต่ละจุดแต่ละพื้นที่เหมาะที่จะปลูกอะไร 


อย่างแรกเราได้สินค้าที่มีคุณภาพสูงขึ้น  มันจะทำให้ประชาชนสามารถรู้ได้ว่าในที่ดินของเราพอที่จะปลูกอะไร เพื่อให้คุณภาพเพิ่มขึ้นและสามารถเปิดตลาดได้มากขึ้นเพราะฉะนั้น Agriculture Tech พื้นฐานมันต้องเริ่มมาจากข้อมูลก่อน  ส่วน Smart Farming ต่าง ๆ เดี๋ยวเราจะค่อยทำมา แล้วก็จะมีคนที่พอเห็นข้อมูลแล้วสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ให้เกิด Smart Farming หรือสมาร์ตเทคต่างๆ ที่ช่วยในการทำเกษตรได้มากขึ้น


เรามองว่าเทคโนโลยีสามารถเปิดตลาดให้กับประชาชน อย่างญี่ปุ่นทุกจังหวัดจะมีสินค้าที่เขาชูว่า นี่คือของ ๆ จังหวัดอย่างเช่นเมล่อน นอกจากทำให้มันเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นจุดเด่นของจังหวัดแล้วการที่ทำให้ผู้ซื้อในต่างประเทศกับผู้ผลิตมีช่องทางที่ติดต่อตรงกันมันเป็นช่องทางหนึ่งที่สำคัญมากในการเพิ่มรายได้ให้กับพ่อแม่พี่น้องเกษตรกร 


อย่างญี่ปุ่นคือเนื้อวัว การที่ร้านจากต่างประเทศซื้อเนื้อวัวคุณสามารถคุยกับเกษตรกรคนเลี้ยงวัวโดยตรงได้มีใบรับรองวัวตัวนี้ใครเลี้ยงมา กินอะไรมาบ้าง นี่คือช่องทางที่เราบอกว่าเกษตรกรกับเทคโนโลยีสามารถไปด้วยกันได้ คุณสามารถสั่งซื้อข้าวจากเกษตรกรกลุ่มนี้ได้ตั้งแต่ปีที่แล้ว แล้วปีนี้คุณได้ของ ของที่คุณมั่นใจว่า นี่คือสินค้าปลอดสารพิษ 100% ต่างประเทศเขาทำมานานแล้ว"



"พรรครวมไทยสร้างชาติ"


พรรครวมไทยสร้างชาติเลือกเจาะกลุ่มเป้าหมายไปยังกลุ่มคนที่ไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ให้สามารถเชื่อมต่อโลกได้ ผ่าน "ศูนย์ดิจิทัลชุมชน" เพื่อสร้างโอกาสและรายได้ให้กับประชาชน แนวคิดศูนย์ดิจิทัลชุมชนคือการเพิ่มพื้นที่เพื่อเสริมทักษะดิจิทัลให้กับคนในชุมชน เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้อินเทอร์เน็ตมาสร้างรายได้ให้กับตัวเอง ผ่านแพลตฟอร์มค้าขายออนไลน์


ส่วนในภาคอุตสาหกรรม พรรครวมไทยสร้างชาติ จะขยายโมเดลเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC ไปสู่ภาคอื่น ๆ ของประเทศด้วยเช่นกัน




เนวินธุ์ ช่อชัยทิพฐ์ 

พรรครวมไทยสร้างชาติ

อดีตผู้ช่วย รมว.ดิจิทัลฯ


"ศูนย์ดิจิทัลชุมชนจะเป็นคล้าย ๆ Co- Working Space ที่มีพี่น้องเข้ามาใช้ประชุมได้ด้วย และมีคอมพิวเตอร์ มีเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์คอยให้คำแนะนำเรื่องของการเรียน การรู้เท่าทันเรื่องออนไลน์ แล้วก็จะมีจุดจากอ๊อฟไลน์เป็นออนไลน์คือ มีจุดถ่ายรูป มีกล้องถ่ายรูป ซึ่งสามารถที่จะนำผลิตภัณฑ์ในชุมชนมาที่ศูนย์ แล้วจัดให้สวยงาม แล้วก็ถ่ายรูป และเข้าสู่ระบบค้าขายออนไลน์ได้ 


หลังจากนั้นก็มี ศูนย์นี้ทำงานร่วมกับไปรษณีย์ไทย จะมารับของที่ศูนย์และนำส่งต่อให้ประชาชน เราเอาระบบเทคโนโลยีแพลตฟอร์มในการบริหารจัดการเรื่องการค้าขาย พ่อค้าแม่ค้าสามารถจะเข้าระบบเพื่อจะบันทึกบัญชีรายรับรายจ่าย บริหารคงคลัง บริหารสินค้าในมือได้ ทำให้เขารู้ว่าต้องสต๊อกของไหม เราขายกำไรต่อวันได้เท่าไหร่ เขาจะรู้ว่าวันหนึ่งเขาต้องสั่งของเป็นยังไง นี่คือระบบที่เราลงถึงตลาดพ่อค้าแม่ค้าในตลาดเลย 


เพราะฉะนั้นพ่อค้าแม่ค้าก็จะรู้หลักในการไลฟ์ รู้การใช้แอปปลิเคชัน รู้ระบบอีอาร์พีและรู้วิธีการขายของ สกิลต่างๆ ที่ต้องเพิ่มขึ้น ก็มีหลักสูตรต่างๆ ที่ทำให้เขาสามารถที่จะอัพเดต อัพเทรนด์ของเขาได้ตลอด"


"พื้นที่ด้านตะวันออกเป็นเรื่องอุตสาหกรรม แต่ถ้าลงไปภาคใต้จะมีบริบทอีกรูปแบบหนึ่ง ภาคเหนือก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง ฉะนั้นอีอีซีแต่ละที่จะมีบริบทการสนับสนุนอุตสาหกรรมคนละประเภทกัน ภาคใต้มีสองเรื่อง เรื่องเกษตรกรรม เรื่องยาง เทคโนโลยีเยอะแยะเลย มันมีบล็อกเชนในการทำเรื่องยางได้ เรื่องท่องเที่ยวก็สุดยอด 


เพราะฉะนั้นมันมีอุตสาหกรรมท่องเที่ยวหลายอย่างที่มาขับเคลื่อนได้อีก มีพื้นที่ทำให้ดาต้าเซ็นเตอร์มาลง มีพื้นที่แซนบล็อกให้กลุ่มสตาร์ตอัปมาทดลอง ซึ่งมาสนับสนุนในเรื่องของกฎหมายบางอย่างที่เขาทำไม่ได้ในเรื่องนี้ก็จะเปิดให้เขาทำการทดลองว่าเวิร์คหรือไม่ เรามีสมาร์ทวีซ่าให้บริษัทเทคสตาร์ทอัพใหญ่ ๆ เขาเข้ามาลงทุน แล้วมาแลกเปลี่ยนความรู้กับคนไทย เราก็มีการส่งเสริมให้สตาร์ตอัปไทยส่งออกไปตลาดต่างประเทศ ซึ่งเราไปเยอะมากแล้ว"



"พรรคชาติไทยพัฒนา"


พรรคชาติไทยพัฒนา เป็นอีกหนึ่งพรรคที่มุ่งเน้นไปยังกลุ่มเกษตรกรไทย โดยใช้แนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs ที่ย่อมาจาก Sustainable Development Goals เพื่อสร้างรายได้ให้เกษตรกรไทยผ่านการขายคาร์บอนเครดิต สถานีตรวจวัดก๊าซเรือนกระจก หรือ  Flux Tower จะช่วยให้เราทราบปริมาณของการแลกเปลี่ยนของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในหนึ่งพื้นที่ โดยตัวสถานีจะมีเสาที่ใช้วัดคาร์บอนฟุตปริ้นท์ 


ซึ่งพรรคชาติไทยพัฒนามองว่า ถ้าสามารถสร้าง Flux tower ได้ทั่วประเทศเพื่อใช้วัดค่าการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ ประกอบกับข้อมูลจากดาวเทียมที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว ในงบประมาณหนึ่งหมื่นล้านบาทนั้นถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เมื่อเทียบกับรายได้ที่จะเข้ามาในประเทศไม่ต่ำกว่าปีละหนึ่งแสนล้านบาทในไตรมาสแรก




ปรเมศวร์  กุมารบุญ

โฆษกพรรคชาติไทยพัฒนา


"เรามีโครงการเรียกว่า CCC เป็น คาร์บอนเครดิตเซ็นเตอร์ เราเป็นผู้นำระดับโลกในการแก้ปัญหา Climate Change เราเป็นประเทศคู่แรกของโลกไทย-สวิตเซอร์แลนด์ ที่ลงนามซื้อขายคาร์บอนระหว่างประเทศจริงจัง การที่จะมีกลไกในการซื้อขายคาร์บอนข้ามประเทศได้อย่างรวดเร็วมันก็คือโทเค็น โดยบล็อกเชน เขียนอัลกอริทึมไว้ โปร่งใสแก้ไขไม่ได้ และเป็นกลไกที่ส่งผ่านได้ทั่วโลก 


เริ่มจากรัฐก่อน รัฐไทยพอได้รับการยอมรับ ก็ต้องหาพาร์ทเนอร์ในเอเชียแปซิฟิกในอาเซียนของเรามาลองเทรด นอกจากลดคาร์บอนไดออกไซด์ อาจจะลดพีเอ็มได้อีก การที่เราจะต่อรองระหว่างประเทศแบบนั้นได้ เราต้องมีกลไกที่ต่างชาติยอมรับก่อน คือตอนนี้เทียร์ 1 ก็คือ ใช้เจ้าหน้าที่มาประเมินว่า ไร่หนึ่งปล่อยได้กี่ตัน ลดได้กี่ตันต่อปี แต่ระดับเทียร์ 3 ระดับล้ำหน้า ทีมเศรษฐกิจพรรคชาติไทยพัฒนาก็ศึกษาไปพอสมควร เราต้องมี  Flux tower ใช้งานคู่กับดาวเทียม


ลงทุน 10,000 ล้านบาท จะนำรายได้เข้าประเทศไม่ต่ำกว่าปีละหนึ่งแสนล้านบาท นี่คือเม็ดเงินที่จะทำให้เกษตรกรรวยขึ้นแล้วอย่างแรก ไม่ใช่ทางเลือก เป็นทางรอดเดียวที่เราจะหนี เป็นโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจใหม่เกษตรกรรวยจากการใช้เทคโนโลยี 


อย่างที่เราทำสำเร็จมาแล้ว ก็มีโครงการร่วมกับเยอรมัน ไทย ประมาณ 6 จังหวัดในภาคกลาง ที่เห็นชัด ๆ ที่สุพรรณบุรีและอีกหลายจังหวัด เริ่มมีรายได้ 500 บาทต่อไร่ต่อปี แต่นี่ยังเป็นการซื้อขายคาร์บอนในไทย เราปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ประมาณ 280,000,000 ตันต่อปี ทีนี้ไทยแก้ปัญหาโดยการลดคาร์บอน โลกจะจ่ายเงินคืนนี่ที่จะรวย"


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง