รีเซต

รวมข้อที่พ่อแม่ต้องรู้ไว้! จะได้สอนลูกไม่ให้ถูกล่วงละเมิด

รวมข้อที่พ่อแม่ต้องรู้ไว้! จะได้สอนลูกไม่ให้ถูกล่วงละเมิด
TeaC
27 ตุลาคม 2564 ( 12:10 )
264
รวมข้อที่พ่อแม่ต้องรู้ไว้! จะได้สอนลูกไม่ให้ถูกล่วงละเมิด

อีกหนึ่งประเด็นดราม่าหนึ่ง จักรวาล หลังมีภาพปรากฎบนสื่อสังคมออนไลน์ เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก กระทั่งเจ้าตัวออกมาขอโทษ ซึ่งประเด็นการล่วงละเมิดเด็กในสังคมไทยยังมีให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง แถมนับวันจะเห็นรูปแบบใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น จุดนี้เองที่อาจสร้างบาดแผลเล็ก ๆ ในใจเด็กให้การใช้ชีวิตอยู่อย่างหวาดระแวง เพราะหากวิเคราะห์ข่าวเด็กถูกล่วงละเมิดมักเกิดขึ้นจากฝีมือคนรอบข้าง หรือคนใกล้ชิดที่เด็กให้ความไว้ใจ หรือคนใกล้ชิดเคยชินกับการแสดงออกความรักที่ไม่ได้แยกแยะว่า เราอาจละเมิดสิทธิของเด็กทั้งทางร่างกายและจิตใจอยู่ ดังนั้น พ่อแม่อย่างเรา ๆ ต้องรู้วิธีในการสอนให้ลูกปลอดภัยจากการถูกล่วงละเมิด พร้อมทั้งผู้ใหญ่ต้องรู้ไว้ว่าการแสดงความรักต้องมีการแสดงความรักอย่างมีขอบเขตอย่างไร ไม่ส่งผลต่อลูก

 

ทั้งนี้ สิ่งที่น่ากังวลใจเมื่อเกิดข่าวการล่วงละเมิดสิทธิเด็ก ส่วนใหญ่พบเป็น "ผู้หญิง และเด็กเล็ก" ที่ตกเป็นเหยื่อ ทั้งจากคนใกล้ชิด คนรอบข้างที่สนิทและคุ้นเคย เช่น พ่อ ปู่ ตา ครู เป็นต้น และข้อมูลจากเว็บไซต์สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ระบุถึงร่างรายงานเรื่องสิทธิเด็กฉบับเด็กเป็นการระดมความคิดเห็นจากเวทีสิทธิเด็กทั้งระดับจังหวัด ภูมิภาค และระดับชาติ สรุปสถานการณ์ปัญหาการละเมิดสิทธิเด็กและเยาวชนไว้ว่า ผลกระทบและข้อเสนอแนะในการแก้ไขออกเป็น 10 ปัญหา ประกอบด้วย ปัญหาเรื่องเพศ ปัญหาการใช้ความรุนแรงในครอบครัว ปัญหาการศึกษา ฯลฯ

 

1. ปัญหาเรื่องเพศ พบเด็กมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร โดยมีช่วงอายุที่น้อยลงตั้งแต่เด็ก ม.ต้น การข่มขืนกระทำชำเรา การถ่ายคลิปวิดีโอ การค้าประเวณีมากขึ้น และแอบแฝงในอาชีพหรือสถานที่ต่าง ๆ โดยที่กฎหมายไม่สามารถควบคุมได้

2. ปัญหาการใช้ความรุนแรงในครอบครัว ปฏิเสธไมไ่ด้ว่าเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ทุกครัวเรือนพบเจอ ซึ่งเกิดจากการบริโภคสื่อและการเลียนแบบพฤติกรรมพ่อแม่ที่ใช้ความรุนแร

3. ปัญหาการศึกษา การศึกษาไม่น้อยกว่า 12 ปี โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายไม่สามารถปฏิบัติได้จริง เด็กที่ออกจากสถานพินิจฯ ส่วนใหญ่ถูกปฏิเสธจากสถานศึกษา

4. ปัญหายาเสพติด เด็กมั่วสุมตามสถานที่ต่าง ๆ

5. การใช้แรงงานเด็ก โดยเฉพาะภาคกลางพบเด็กทำงานถึง 6 วัน วันละ 9 ช.ม. และถูกเอาเปรียบค่าแรง

6. การปิดกั้นทางความคิด

7. ปัญหาด้านสื่อทุกรูปแบบ

8. ปัญหาเด็กไร้สัญชาติ โดยเฉพาะภาคเหนือ เด็กไม่มีชื่อในทะเบียนราษฎร ขาดการเข้าถึงสิทธิพื้นฐาน ถูกเลือกปฏิบัติ ไม่ได้รับใบรับรองวุฒิการศึกษา

9. ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ ซึ่งเกิดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ส่งผลกระทบต่อเด็กทั้งการศึกษา การเข้าถึงบริการต่างๆ ทั้งผู้นำศาสนาบางคนบิดเบือนคำสอนเพื่อผลประโยชน์ตนเอง

10. ปัญหาการละเมิดทางวาจา ที่มีการดูหมิ่น ข่มเหง รุนแรง

 

 

13 ข้อที่พ่อแม่ต้องรู้ไว้! จะได้สอนลูกไม่ให้ถูกล่วงละเมิด

 

โดยเรื่องที่พ่อแม่ต้องรู้ไว้เพื่อจะได้สอนลูก ซึ่ง เพจเฟซบุ๊ก เลี้ยงลูกนอกบ้าน ของ ผศ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร หรือ หมอโอ๋ กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น รพ.รามาธิบดีฯ ได้โพสต์ข้อความแนะนำว่า

 

#เส้นบางๆ ระหว่างรักและละเมิด 

 

สังคมกำลังมีประเด็นถกเถียงกัน ถึงการแสดงความรักของพ่อลูก ที่ดูเหมือนอยู่บนเส้นบางๆ ระหว่างการแสดงความรัก กับการละเมิดสิทธิในเนื้อตัวร่างกาย ไปจนถึงดูคล้ายการคุกคามทางเพศ? 

 

ที่น่าตกใจกว่าสิ่งที่เห็น คือคอมเมนท์ที่หลากหลาย…

 

“ลูก 13 ยังจับของลับลูกอยู่เลย อย่างนี้ก็ผิดปกติหรอ”

 

“ใช่ค่ะ ทุกวันนี้ยังจับของลับลูกชายเล่นอยู่เลยค่ะ ทั้งที่ลูกอายุ 14 แล้ว บางครั้งก็แข็งสู้มือด้วย อิอิ เรื่องของแม่ลูก คนอื่นชอบยุ่งจัง” 

 

“ลูกสาว 20 แล้ว ผมยังอาบน้ำกับลูกอยู่เลย” ฯลฯ 

 

เราเติบโตมากับวัฒนธรรม ที่พ่อแม่มักคิดว่าตนเองเป็นเจ้าชีวิต และมีสิทธิเหนือเนื้อตัวร่างกายลูก 

 

เราตี หยิก ด่า ทำร้าย ใช้บุหรี่จี้ … 

 

หรือ แม้แต่การแสดงความรัก เราก็หลงลืมที่จะเคารพ “สิทธิ” “อำนาจในการตัดสินใจ” ไปจนถึง “เคารพพื้นที่ส่วนตัว”

 

“พ่อหอมแค่นี้ ต้องมาสะบัดหนีด้วย”

 

“กอดคุณตาหน่อยสิลูก”

 

“คุณป้าเค้าก็แค่จับจู๋หนู แหย่เล่นๆ แค่นี้เอง” ฯลฯ 

 

ส่วนตัวหมอคิดว่าภาพที่ออกมาดูน่าเป็นห่วงจริงๆ แต่ขออนุญาตไม่วิจารณ์สิ่งที่เกิดขึ้น เพราะเราไม่รู้ถึงเจตนา แต่ขอพูดถึงกรณีทั่วๆไป เผื่อเราจะได้เรียนรู้ร่วมกันนะคะ 

 

1. พ่อแม่ต้องทำให้ลูกเข้าใจ ว่าลูกมีสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของตัวเอง “เสมอ” 

 

2. พ่อแม่ควรเป็นตัวอย่างของการไม่ละเมิดสิทธินั้นเสียเอง เพื่อให้เด็กไม่เกิดความสับสน หรือเข้าใจว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่เราจะปฏิเสธผู้ใหญ่ไม่ได้

 

3. หลายครั้งด้วยความรักและความใกล้ชิด เด็กๆ “ไม่สามารถ” กล้าปฏิเสธ สิ่งที่ทำให้เขารู้สึกอึดอัด และบางครั้งเด็กก็เล็กเกินไป จนแยกไม่ได้ ระหว่างการแสดงความรักกับการถูกล่วงละเมิด

 

4. การล่วงละเมิดและคุกคามทางเพศในเด็ก ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากคนในครอบครัว ดังนั้นผู้ใหญ่ในบ้านต้องช่วยกันสอดส่องดูแล

 

5. สอนลูกเรื่อง "สิทธิในร่างกายตนเอง" ลูกเป็นเจ้าของร่างกายตนเอง มีสิทธิปฏิเสธ ไม่ให้ใครมาวุ่นวาย ไม่ว่าคนเหล่านั้นจะเป็นคนในหรือนอกครอบครัว 

 

6. การแสดงความรัก ควรอยู่ในขอบเขตที่ไม่มากเกินไป และไม่สร้างความอึดอัดใจให้กับผู้รับ 

 

7. การแสดงความรัก การแหย่ การเล่น ไม่ควรลุกล้ำพื้นที่ส่วนตัว เช่น พื้นที่ในร่มผ้า หน้าอก ก้น อวัยวะเพศ และ “ทุกพื้นที่” ที่ลูกดูมีความอึดอัดใจเมื่อเราไปสัมผัส

 

8. แม้เราจะแสดงความรัก แต่เมื่อลูกแสดงอาการปฏิเสธ แข็งขืน หรือดูอึดอัดใจ ให้เคารพความรู้สึกของลูกเสมอ 

 

9. สอนลูก ใช้ประโยคที่เข้าใจง่าย เช่น "มีบางคนเข้ามายุ่งกับร่างกายของเรา โดยที่เราไม่เต็มใจ และไม่อยากให้ทำ เช่น บางคนมาจับหน้าอก มายุ่งกับอวัยวะเพศ มากอด หอม หรือบางทีก็ให้เราไปจับของส่วนตัวเค้าโดยที่เราไม่ยินยอม แบบนี้ถือเป็นเรื่องผิดปกติ และแม่อยากให้ลูกบอกผู้ใหญ่ให้รับรู้เสมอ”

 

10. บอกลูกเสมอ ไม่ว่าจะอย่างไร “การถูกละเมิดไม่ใช่ความผิดของผู้ถูกกระทำ” ไม่ใช่ความผิดเพราะเราเป็นเด็ก เพราะเราแต่งตัวไม่เรียบร้อย ใส่ขาสั้น เมา หรือไม่ดูแลตัวเองให้ดี "ไม่มีใครมีสิทธิที่จะล่วงละเมิดใคร" ไม่ว่าอีกฝ่ายจะเป็นอย่างไรก็ตาม 

 

11. บอกลูกว่าพ่อแม่จะอยู่กับลูกเสมอ ถ้ามีใครมาทำอะไรที่ทำให้เรารู้สึกอึดอัดใจ ให้บอกพ่อแม่ได้ ไม่ว่าคนเหล่านั้นจะเป็นใครก็ตาม

 

12. ข้อนี้ขอกาสามดาว *** ไม่บังคับให้ลูกกอดหอมใคร หรือให้ใครมากอดหอมลูก โดยที่ลูกรู้สึกไม่เต็มใจ ลูกจะสับสนในสิ่งที่เราต้องการจะสื่อ และไม่แน่ใจในสิทธิในเนื้อตัวร่างกายตนเอง 

 

13. การโพสต์อะไรลงใน social ให้คิดไว้เสมอว่าสิ่งนั้นจะอยู่ที่นั่นตลอดไป ถ้าเป็นไปได้ควรไตร่ตรองสิ่งที่จะลงไป และขออนุญาตลูกก่อนลงทุกครั้ง

 

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุด ณ ขณะนี้…

 

ในขณะที่เราคิดว่าการทำให้เรื่องนี้เป็นกระแสสังคม จะนำไปสู่การช่วยเหลือเด็กคนหนึ่ง

 

โปรดอย่าลืมว่า ทุกอย่างจะกลายเป็น digital footprint ที่ทำร้ายเด็กคนหนึ่งและครอบครัวตลอดไป ได้อย่างเจ็บปวดที่สุด

 

เราอาจช่วยเขาได้ ด้วยการไม่สร้างบาดแผลทางใจให้หยั่งรากลึก

 

แนะนำว่าใครเจอกรณีที่สงสัยการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศ ควรแจ้งศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300 หรือ ศูนย์พึ่งได้ OSCC ที่มีในโรงพยาบาลใหญ่แทบทุกที่ ให้ช่วยเข้าไปประเมินถึงความเหมาะสม นี่เป็นสิทธิและหน้าที่ ที่เราทุกคนพึงกระทำได้

 

#หมอโอ๋เพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน

 

ผู้ที่มีนักข่าวโทรมาสัมภาษณ์เริ่องนี้ตอน 4 ทุ่มกว่า ว่าเห็นอย่างไรกับข่าวเด็กสาวเหมือนถูกล่วงละเมิด 

 

ตอบไปว่าขอไม่แสดงความเห็นในตอนนี้ และนึกในใจว่านี่คุณก็กำลังละเมิดเวลานอนของหมอและลูกสาวอยู่ค่ะ 

 

 

เปิดมุมมองจิตแพทย์เด็ก แนะการแสดงความรักในครอบครัว การสัมผัสต้องมีขอบเขต!

 

เมื่อมาดูมุมมองของ พญ.ดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชครินทร์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ให้ความรู้เกี่ยวกับการแสดงความรักในครอบครัวได้ระบุผ่านเว็บไซต์ hfocus.org โดยขอหยิบบางประเด็นมาให้เรียนรู้กัน ดังนี้

 

1. การให้ความรักความอบอุ่นในครอบครัวเป็นเรื่องดีและถูกต้อง แต่การแสดงความรักมีรูปแบบต่างกันในแต่ละครอบครัว

2. คำถามคือ ขอบเขตแบบไหนที่จะไม่เข้าเกณฑ์การละเมิดสิทธิเด็ก ซึ่งตรงนี้คิดยาก แต่ปกติแล้วเด็กจะต้องถูกสอนให้รู้จักขอบเขตร่างกายตัวเอง

3. สิ่งที่ควรสื่อให้ชัด คือ ความรักของพ่อที่มีต่อลูกเป็นสิ่งถูกต้อง แต่วิธีการที่กระทำต่อลูกอาจทำให้ขอบเขตของการรักษาสิทธิเด็กไม่ชัดเจน ซึ่งจะทำให้เด็กสับสนว่า การที่พ่อแม่รักจึงกระทำแบบนี้ หากคนอื่นรักก็ทำแบบนี้ได้เช่นกัน ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง ทั้งนี้ ต่างจากการสัมผัสร่างกายของเด็กในกรณีที่เด็กยังช่วยเหลือตัวเองในชีวิตประจำวันไม่ได้ เช่น การล้างก้น แต่งตัว อาบน้ำ

4. ความรักกับขอบเขตในร่างกายของเด็กต้องมาด้วยกัน ซึ่งต้องเริ่มสอนตั้งแต่เด็กเริ่มพูดรู้เรื่อง หรือ 1 ขวบปีขึ้นไป คำแนะนำสำหรับเด็ก ผู้ปกครองต้องสอนให้เด็กรู้จักขอบเขตของร่างกาย เป็นสิทธิของตัวเองที่จะปฏิเสธไม่ให้คนอื่นมาสัมผัสร่างกาย โดยเฉพาะพื้นที่อ่อนไหว คือ หน้าอก บั้นท้าย อวัยวะเพศ และแก้ม ต้องสอนให้รู้ว่าไม่ใช่จะให้ใครมาจับได้ เพราะจะนำมาสู่การล่วงละเมิดทางเพศได้ มีความเสี่ยงว่าคนที่มาจับในส่วนนี้ไม่มีเจตนาดีกับเด็ก

5. ขณะเดียวกัน การเลี้ยงดูก่อนจะสอนให้เด็กรู้จักป้องกันอวัยวะได้ ต้องสอนให้รู้จักอวัยะก่อน เช่น กิจกรรมที่พ่อแม่เล่นกับลูก สอนให้รู้จักหู ตา จมูก แก้ม แขนขา รวมถึงอวัยะเพศ ซึ่งต้องสอนเด็กว่าส่วนนี้แม่จับได้หรือไม่ หากจับไม่ได้ ก็ต้องป้องกันไม่ให้คนอื่นมาจับเช่นกัน

6. ฯลฯ

 

เด็กถูกทำร้ายทั้งร่างกาย-จิตใจ อย่านิ่งเฉย!

 

ทิ้งท้ายไว้สักนิด ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับเด็ก เช่น หากใครเห็นเด็กถูกทำร้ายทั้งทางร่างกายและจิตใจ อย่านิ่งนอนใจ สงสารเด็ก ช่วยกัน ยกหูกดเบอร์นี้

 

  • โทรสายด่วน 1300
  • โทรสายด่วน 1387
  • โทรสายด่วน 191
  • โทรสายด่วน 1157

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง