คลื่นความร้อนถล่มอินเดีย นิวเดลีอากาศร้อนจัดที่สุดในรอบเกือบ 80 ปี
ฝูงสิงโตพาลูก ๆ ของพวกมัน ไปกินน้ำในสระน้ำเทียม ด้วยความหิวกระหายเมื่อวานนี้ (31 มี.ค.) ภายในอุทยานแห่งชาติ “กีร์” (Gir) ในรัชคุตราตของอินเดีย หลังคลื่นความร้อนกำลังเล่นงานอินเดียอย่างหนัก
เจ้าหน้าที่ในอุทยานแห่งชาติดังกล่าว ต้องสร้างสระน้ำเทียมหรือจุดให้น้ำ มากกว่า 450 จุดทั่วทั้งอุทยาน โดยประยุกต์สารพัดวิธีในการสร้างจุดให้น้ำ ทั้งขุดดินให้เป็นแอ่งใหญ่เป็นเหมือนสระเทียม แล้วใช้ผ้าพลาสติกผืนใหญ่มาปูรองที่ก้นสระเทียม แล้วเติมน้ำลงไป นำภาชนะพลาสติกขนาดใหญ่ต่าง ๆ มาตัดครึ่ง และเติมน้ำลงไป เพื่อให้เหล่าสิงโตน้อยใหญ่ ได้มาดื่มกินบรรเทาความหิวกระหาย หลังจากอุณหภูมิภายในอุทยานร้อนจัด เนื่องจากคลื่นความร้อนกำลังเล่นงานทั่วอินเดีย
มีสิงโตสายพันธุ์เอเชียราว 600 ตัว อาศัยอยู่ในอุทยานแห่งชาติกีร์แห่งนี้ ซึ่งมีพื้นที่ 850 ตารางไมล์ ตั้งอยู่ในรัฐคุชราต ทางตะวันตกของอินเดีย
ด้าน อุตุนิยมวิทยาของอินเดีย รายงานว่า คลื่นความร้อนถล่มอินเดียตั้งแต่ต้นสัปดาห์ ทำให้อุณหภูมิพุ่งสูงทะลุ 40 องศาเซลเซียสทั่วอินเดียมาตั้งแต่วันจันทร์ (29 มี.ค.) โดยในกรุงนิวเดลี เมืองหลวงของอินเดีย อุณหภูมิพุ่งไปแตะระดับ 40.1 องศาเซลเซียส ทำให้วันจันทร์ที่ผ่านมา เป็นวันที่ร้อนจัดที่สุดในเดือนมีนาคมของกรุงนิวเดลี ในรอบ 76 ปี
อินเดียเคยเผชิญกับคลื่นความร้อนที่รุนแรงที่สุดในปี 2015 มีผู้เสียชีวิต 3,500 คนในอินเดียและปากีสถานรวมกัน
ผลการศึกษาของสหภาพธรณีฟิสิกส์อเมริกัน ที่เพิ่งเปิดเผยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เตือนว่า คลื่นความร้อนที่รุนแรงถึงขั้นมีผู้เสียชีวิตในทวีปเอเชียใต้ ซึ่งรวมถึงอินเดียและปากีสถาน มีแนวโน้มจะเกิดมากขึ้นในอนาคต จนเกือบจะกลายเป็นเรื่องปกติ โดยคาดว่าจะเกิดขึ้นมากกว่าเดิมเกือบ 3 เท่า ถ้าหากว่าปัญหาภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลง หรือที่เรียกว่า ปัญหาโลกร้อนยังไม่ได้รับการแก้ไข.