รีเซต

'ธปท.' ชี้โควิด-19 ระลอกใหม่ ฉุดเศรษฐกิจไม่แรงเท่ารอบแรก แต่กระทบแรงงานกว่า 4.7 ล้านคน

'ธปท.' ชี้โควิด-19 ระลอกใหม่ ฉุดเศรษฐกิจไม่แรงเท่ารอบแรก แต่กระทบแรงงานกว่า 4.7 ล้านคน
มติชน
15 มกราคม 2564 ( 14:58 )
80

นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในไทย ที่แม้จะกระจายเป็นวงกว้างและเร็วกว่าการระบาดระลอกแรก แต่พบว่าความรุนแรงของโรคน้อยกว่า ขณะที่ความพร้อมด้านสาธารณสุขมีมากขึ้น รวมทั้งพัฒนาการของวัคซีนและแผนการได้รับวัคซีนของไทยเริ่มมีความชัดเจน ทำให้ ธปท. คาดการณ์ผลกระทบจากของการระบาดของโควิด-19 รอบนี้ต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะไม่รุนแรงเท่าการระบาดระลอกแรก สะท้อนจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ลดลงน้อยกว่า รวมถึงภาครัฐมีมาตรควบคุมการแพร่ระบาดในครั้งนี้เข้มงวดน้อยกว่า และภาคการส่งออกสินค้าที่ยังขยายตัวได้ตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า

 

นางสาวชญาวดี กล่าวว่า การฟื้นตัวในระยะต่อไปจะแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่ กลุ่มธุรกิจ และกลุ่มแรงงาน โดยพื้นที่ที่อยู่ภายใต้มาตรการควบคุมเข้มงวด 28 จังหวัด ซึ่งครอบคลุมสัดส่วนกิจกรรมทางเศรษฐกิจสูงเกินครึ่งของประเทศ จะได้รับผลกระทบมากที่สุด ขณะที่ด้านกลุ่มธุรกิจจะมีกลุ่มที่เปราะบางเพิ่มเติมจากรายได้ที่ลดลงในช่วงนี้ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจภาคบริการ นอกจากนี้ บางกลุ่มที่มีฐานะการเงินอ่อนแออยู่ก่อนแล้ว อาทิ ธุรกิจในภาคการท่องเที่ยว จะได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่นี้เพิ่มเติม

 

 

ส่วนผลกระทบด้านแรงงาน คาดว่ากลุ่มแรงงานในพื้นที่สีแดงที่มีมาตรการการควบคุมเข้มงวด มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบประมาณ 4.7 ล้านคน โดยในกลุ่มนี้ ประมาณ 1.2 ล้านคน อาจกลายเป็นผู้เสมือนว่างงาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกจ้างรายวันและผู้มีอาชีพอิสระ ที่จะมีชั่วโมงการทำงานลดลงและมีรายได้ลดลงมาก แม้ปัจจุบันจะยังไม่เห็นการเลิกจ้างมากนัก โดยแบ่งเป็นแรงงานที่เป็นลูกจ้างรายวันนอกภาคเกษตร ทั้งหมด 51 ล้านคน อยู่ในพื้นที่สีแดง 2.8 ล้านคน คาดว่าจะมีแรงงานที่ได้รับผลกระทบกลายเป็นผู้เสมือนว่างงาน 5 แสนคน และมีรายได้ลดลงรุนแรง 5 แสนคน อาชีพอิสระนอกภาคเกษตร ทั้งหมด 8.2 ล้านคน อยู่ในพื้นที่สีแดง 4.2 ล้านคน กลายเป็นผู้เสมือนว่างงาน 6 แสนคน และมีรายได้ลดลงรุนแรง 3 ล้านคน ส่วนลูกจ้างในสาขาโรงแรม มีความเสี่ยงที่จะตกงานเพิ่มขึ้นกว่า 1 แสนคน

 

“แนวโน้มเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนอยู่มาก ขึ้นอยู่กับว่าการแพร่ระบาดโควิด-19 จะเป็นอย่างไร และการกระจายวัคซีนในประเทศจะมาเมื่อใด รวมถึงมาตรการช่วยเหลือจากรัฐบาลที่จะออกมาเพิ่มเติม โดยในปัจจุบันมีหลายภาคธุรกิจและครัวเรือน ที่มีฐานะการเงินที่เปราะบางมากขึ้นจากการระบาดระลอกแรก ทำให้ความสามารถในการรองรับแรงกระแทกทางเศรษฐกิจน้อยลง มาตรการที่จะเข้าไปช่วยเหลือภาคธุรกิจและแรงงานอย่างทันการณ์เป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน และต้องเน้นการเข้าถึงกลุ่มเปราะบางให้ทั่วถึงและตรงจุดมากที่สุด ซึ่งจะต้องพยายามหากลุ่มคนนี้ให้เจอ และช่วยเหลือให้ทัน โดยภาครัฐก็ได้ทยอยออกมาตรการช่วยเหลือ รวมถึงธปท. ที่ได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวแล้ว” นางสาวชญาวดี กล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง