รีเซต

ดีเดย์ 1 พ.ย.ห้ามมัคคุเทศก์น้อย ประแป้ง เทินหม้อ บนสะพานมอญ อ้าง รบกวนนักท่องเที่ยว

ดีเดย์ 1 พ.ย.ห้ามมัคคุเทศก์น้อย ประแป้ง เทินหม้อ บนสะพานมอญ อ้าง รบกวนนักท่องเที่ยว
มติชน
31 ตุลาคม 2565 ( 14:50 )
35

วันนี้ 31 ต.ค.65 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีมีผู้ใช้เฟซบุ๊คชื่อ ‘อนันต์ ส่งเสริม’ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า “เด็กๆ เรียกลุงถ่ายรูปพวกหนูหน่อยต่อไปพวกหนูเขาไม่ให้ยืนบนสะพานแล้วนะ เราจะเชื่อเด็กหรือผู้ใหญ่ดีนะ วันที่ 1 พ.ย. นี้เด็กๆ ที่ให้นักท่องเที่ยวถ่ายรูปต่อไปนี้จะไม่เห็นเด็กอยู่บนสะพานแล้ว” พร้อมนำภาพถ่ายของเด็กๆ บนสะพานอุตตมานุสรณ์ หรือสะพานมอญ สถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังของ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี มาโพสต์ไว้ด้วย

 

ซึ่งเด็กๆ ดังกล่าวต่างสวมชุดพื้นเมืองของชาวมอญ และบางรายโชว์เทินหม้อบนศีรษะ ซึ่งถือเป็นสีสันของที่นี่

 

 

โดยหลังจากที่โพสต์ดังกล่าวได้โพสต์ออกไป ได้มีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก ซึ่งพบว่าส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการห้ามเด็กๆ ทำกิจกรรม เพราะถือเป็นสีสันและสัญลักษณ์ของที่นี่

 

 

ทั้งนี้ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 27 ต.ค.ที่ผ่านมา เทศบาลตำบลวังกะ ได้ประชุมคณะอนุกรรมการจัดระเบียบบริเวณโดยรอบสะพานอุตตมานุสรณ์ และจัดระเบียบชุมชน โดยเชิญหลายฝ่ายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจัดระเบียบมัคคุเทศก์น้อยบนสะพานอุตตมานุสรณ์

 

 

ภายหลังจากมีข้อห่วงใยถึงสวัสดิภาพ ความปลอดภัย การนำเด็กมาเป็นเครื่องมือในการทำมาหากิน จากองค์กรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเด็ก รวมทั้งมีนักท่องเที่ยวบางส่วนร้องเรียนถึงปัญหาเด็กมัคคุเทศก์น้อยบนสะพานฯ ที่ไปรบกวนนักท่องเที่ยว โดยในที่ประชุมมีมติห้ามเด็กมัคคุเทศก์น้อยทำกิจกรรมบนสะพานฯ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.นี้ เป็นต้นไป

 

ล่าสุดผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่สะพานมอญ พบว่า บรรยากาศเช้าวันนี้เด็กๆ ส่วนใหญ่ยังเดินทางมาทำกิจกรรมการเป็นมัคคุเทศก์น้อย คอยเล่าประวัติสะพานฯ บริการปะแป้งทานาคา ขายดอกไม้ รวมทั้งแสดงการเทินหม้อบนศีรษะ และให้นักท่องเที่ยวถ่ายรูป จากการพูดคุยกับเด็กส่วนใหญ่ทราบดีว่าวันนี้เป็นวันสุดท้ายที่จะสามารถมาหารายได้บนสะพานแห่งนี้

 

 

สำหรับมัคคุเทศก์น้อยบนสะพานมอญมีที่มาตั้งแต่ปี 2558 หลังจากได้มีการเปิดสะพานมอญให้กลับมาใช้งานได้อีกครั้ง จากเหตุการณ์ที่ถูกน้ำป่าซัดจนสะพานขาดในปี 2556 ซึ่งนักท่องเที่ยวจำนวนมากเดินทางมาท่องเที่ยวอำเภอสังขละบุรี เพื่อมาดูสะพานมอญที่ซ่อมแซมแล้วเสร็จ ก่อนที่จะมีเด็กกลุ่มหนึ่งมากระโดดน้ำบนสะพานให้นักท่องเที่ยวดู แลกกับเงินตอบแทนที่ได้รับ ก่อนจะพัฒนามาเป็นการเล่าประวัติสะพานมอญ การปะแป้ง การขายดอกไม้ การเทินหม้อบนศีรษะ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ถ่ายรูปเพื่อสร้างรายได้ จนกลายเป็นส่วนหนึ่งที่อยู่คู่กับสะพานมอญแห่งนี้ ที่นักท่องเที่ยวส่วนหนึ่งที่มาเที่ยวสังขละบุรีอยากเห็น จนเรียกได้ว่าความน่ารักของเด็กๆ บนสะพานมอญ เป็นส่วนหนึ่งที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวอำเภอสังขละบุรี

 

 

ปัจจุบันมีเด็กกว่า 40 คน ที่เลือกใช้เวลาว่างก่อนและหลังเลิกเรียน มาหารายได้บนสะพานมอญแห่งนี้ เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระครอบครัว ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าการออกคำสั่งของเทศบาลฯ ครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อเด็ก และการท่องเที่ยวของอำเภอสังขละบุรี ไม่มากก็น้อย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง