รีเซต

อนามัยโลกเผยโควิด-19 'บี.1.640' ยังไม่ใช่ภัยคุกคาม

อนามัยโลกเผยโควิด-19 'บี.1.640' ยังไม่ใช่ภัยคุกคาม
Xinhua
7 มกราคม 2565 ( 10:49 )
44

เจนีวา, 7 ม.ค. (ซินหัว) -- เมื่อวันพฤหัสบดี (6 ม.ค.) คณะผู้เชี่ยวชาญจากองค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยว่าโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ชนิดกลายพันธุ์ สายพันธุ์ใหม่ "บี.1.640" (B.1.640) ซึ่งองค์การฯ กำลังเฝ้าติดตามนั้น ไม่ได้แพร่ระบาดเป็นวงกว้างในขณะนี้ และปัจจุบันพบไม่ถึงร้อยละ 1 ของตัวอย่างที่จัดลำดับพันธุกรรมในฝรั่งเศส

 

เชื้อไวรัสฯ สายพันธุ์ดังกล่าว มีอีกชื่อเรียกว่า "ไอเอชยู" (IHU) เนื่องจากถูกพบครั้งแรกโดยคณะนักวิชาการจากสถาบันการติดเชื้อเมดิเตอร์เรเนียนไอเอชยู (IHU Mediterranee Infection) ในเมืองมาร์แซย์ของฝรั่งเศส

 

มาเรีย ฟาน เคิร์คโฮฟ หัวหน้าฝ่ายเทคนิคของโครงการภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพขององค์การฯ แถลงข่าวว่าเชื้อไวรัสฯ สายพันธุ์บี.1.640 ถูกพบครั้งแรกในหลายประเทศเมื่อเดือนกันยายน 2021 โดยหลังจากการอภิปรายภายใน องค์การฯ ได้จัดประเภทเชื้อไวรัสฯ ดังกล่าวเป็นสายพันธุ์ที่อยู่ภายใต้การเฝ้าติดตาม (VUM) ในเดือนพฤศจิกายน 2021

 

คำจำกัดความขององค์การฯ ระบุว่าเชื้อไวรัสฯ ที่อยู่ภายใต้การเฝ้าติดตาม คือเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (Sars-CoV-2) ที่มีการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมอันน่าสงสัยว่าจะส่งผลกระทบต่อลักษณะของไวรัส ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงในอนาคต ทว่าหลักฐานของผลกระทบทางลักษณะที่สามารถมองเห็นได้หรือทางระบาดวิทยายังไม่ชัดเจน จึงต้องยกระดับการเฝ้าติดตามและประเมินซ้ำขณะรอหลักฐานใหม่

 

ฟาน เคิร์คโฮฟ อธิบายว่าเนื่องจากเชื้อไวรัสฯ สายพันธุ์บี.1.640 มีการกลายพันธุ์หลายจุด องค์การฯ จึงจัดให้มันเป็นสายพันธุ์ที่อยู่ภายใต้การเฝ้าติดตาม เพื่อเพิ่มความตระหนักของสาธารณชน พร้อมย้ำว่าวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในปัจจุบันสามารถป้องกันเชื้อไวรัสฯ ทุกสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดอยู่ และมีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันอาการรุนแรงและการเสียชีวิต

 

"ฉันคิดว่าการฉีดวัคซีนเป็นสิ่งสำคัญมากที่สาธารณชนจะต้องรู้ เมื่อถึงคิวคุณแล้ว ให้ฉีดวัคซีนเพราะมันสำคัญมาก" เคิร์คโฮฟกล่าว

แคทเธอรีน โอไบรอัน ผู้อำนวยการแผนกภูมิคุ้มกัน วัคซีน และชีววิทยาขององค์การฯ กล่าวว่าเชื้อไวรัสฯ สายพันธุ์บี.1.640 ไม่ใช่สายพันธุ์ที่มีความชุกมากขึ้น แต่เป็นเพียงส่วนน้อยของสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดอยู่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง