หุ้นสหรัฐฯเสี่ยงขาลงมากขึ้น จับตา FED เข้มงวดดบ.- ทรัมป์ 2.0
#หุ้นต่างประเทศ #ทันหุ้น – บทวิเคราะห์ โดย บล.เอเซียพลัส
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ร่วงหนักในวันศุกร์ หลังรายงานการจ้างงานเดือน ธ.ค. ที่สูงกว่าคาด ส่งผลให้ ตลาดกังวลว่า Fed อาจลดดอกเบี้ยช้าลงเพื่อควบคุมเงินเฟ้อและยังมีโอกาสกลับมาขึ้นดอกเบี้ย หากเงินเฟ้อไม่ลดลงตามเป้า โดยดัชนี S&P500 -1.5%, Dow Jones -1.6% และ Nasdaq 1.6% ตามลำดับ
ทั้งนี้ ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาดัชนี S&P500 -1.9%, Dow Jones -1.9% และ Nasdaq -2.3% เป็นการปิดลบต่อเนื่องสองสัปดาห์ติดต่อกันนับตั้งแต่ต้นปี 2568
กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ รายงานว่า จำนวนการจ้างงานนอกภาคเกษตร (Nonfarm Payrolls) เพิ่มขึ้น 2.56 แสนตำแหน่งในเดือน ธ.ค. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ 1.65 แสนตำแหน่ง และ เดือนก่อนที่ 2.12 แสนตำแหน่ง แสดงถึงความแข็งแกร่งของตลาดแรงงานสหรัฐฯ และส่งผลให้ ตลาดกังวลว่า Fed อาจมีความจำเป็นลดลงที่จะดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นจาก ในปัจจุบัน โดยล่าสุดตลาดกลับมาให้น้ำหนักถึง 97% ที่ Fed จะมีการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ในการประชุมวันที่ 28-29 ม.ค. นี้
ทั้งนี้ ในวันพุธที่จะถึงนี้ (15 ม.ค.) ตลาดยังคงจับตามองถึงการประกาศตัวเลข CPI เดือน ธ.ค. ที่อาจส่งผลอย่างมีนัยยะต่อการตัดสินใจกำหนดทิศทางนโยบาย การเงินของ Fed โดยเบื้องต้น ตลาดคาด CPI จะขยายตัว 2.9% YoY จากเดือนก่อนที่ 2.7%
Delta Air Lines รายงานกำไรสุทธิต่อหุ้นในไตรมาส 4/2567 ที่ $1.85 สูงกว่าตลาดคาดที่ 5.11% และผู้บริหารให้คาดการณ์กำไรสุทธิต่อหุ้นในปี 2568 จะเกิน $7.35 ซึ่งถือเป็นระดับสูงสุด ในประวัติศาสตร์บริษัท แม้ต่ำกว่านักวิเคราะห์คาดการณ์เล็กน้อย
ทั้งนี้ การเติบโตสำคัญมาจากความต้องการตั๋วพรีเมียมที่เพิ่มขึ้นเร็วกว่าตั๋วชั้นประหยัดถึง 600 bps โดย Delta ตั้งเป้ารายได้ จากตั๋วพรีเมียมจะแซงหน้ารายได้จากชั้นประหยัดทั้งหมดภายในปี 2570 CEO Ed Bastian ชี้ว่า อุตสาหกรรมการบินกำลังฟื้นตัวทางการเงินอย่างแข็งแกร่ง อีกทั้งการเดินทางข้ามแอตแลนติก และค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่ายังสนับสนุนให้นักท่องเที่ยวชาวอเมริกันเดินทางต่างประเทศมากขึ้น ในปีนี้
โดยนักวิเคราะห์จาก Citi มองว่าแนวโน้มของ Delta ในปี 2568 ถือเป็นสัญญาณเชิงบวกสำคัญ Delta ยังคงได้เปรียบในตลาดการเดินทางพรีเมียมและการตั้งราคาที่เหมาะสม ขณะที่ อุตสาหกรรมการบินโดยรวมกำลังฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง
ทางฝ่ายกลยุทธ์ฯ ยังคงมีมุมมองเป็น บวกต่อหุ้นในกลุ่มสายการบินสหรัฐฯจากแนวโน้มการฟื้นตัวที่แข็งแกร่งโดยเฉพาะในส่วนของรายได้จากตั๋วพรีเมียมที่เติบโตได้รวดเร็วกว่าชั้นประหยัด พร้อมกับความสามารถในการทำไรที่ แสดงให้เห็นถึงการบริหารต้นทุนและกลยุทธ์ในการตั้งราคาที่มีประสิทธิภาพ โดยเราชอบหุ้น Delta Air lines และ United Airlines
TSMC รายงานรายได้ไตรมาส 4/2567 ที่ NT$8.69 แสนล้าน ($2.63 หมื่นล้าน) เพิ่มขึ้น 39% YoY สูงกว่าคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ โดยได้แรงหนุนจากความต้องการชิป AI และการพัฒนา ศูนย์ข้อมูลจากลูกค้าใหญ่ เช่น Microsoft, Nvidia และ Apple
รายได้ทั้งปี 2567 เติบโต 34% YoY สูงกว่าเป้าหมายเดิม ขณะที่บริษัทมีแผนลงทุนกว่า $3 หมื่นล้านในปี 2568 เพื่อขยายโครงการในยุโรป ญี่ปุ่น เยอรมนี และสหรัฐฯ แม้ต้องเผชิญความท้าทายจากการอิ่มตัวของตลาด AI และความไม่แน่นอนด้านภูมิรัฐศาสตร์ แต่นักวิเคราะห์เชื่อว่า TSMC จะสามารถรักษาการเติบโตอย่างมั่นคงในปีหน้า จากตำแหน่งผู้นำในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์
ฝ่ายกลยุทธ์ฯ ยังคงมีมุมมองที่ดีต่อ TSMC โดยได้รับแรงหนุนจากการเติบโตของตลาด AI และ ความต้องการชิปสำหรับศูนย์ข้อมูลส่งผลให้รายได้ในไตรมาสสุดท้ายปี 2567 แข็งแกร่งกว่าคาด และทำให้รายได้ทั้งปีเติบโต 34% YoY ขณะที่การลงทุนระหว่างประเทศมูลค่ากว่า $3 หมื่นล้านใน ปี 2568 คาดว่าจะช่วยขยายฐานการผลิตและลดความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ อย่างไรก็ตาม นักลงทุนควรติดตามความเสี่ยงจากการอิ่มตัวของตลาด AI และข้อจำกัดการส่งออกชิปที่อาจส่งผลกระทบในระยะสั้น
กลยุทธ์แนะนำคือการเข้าซื้อเก็งกำไรในช่วงที่ราคามีการย่อตัว โดยมองเป้าหมายการเติบโตระยะยาวที่ยังสดใสจากการขยายตลาดและความต้องการชิปขั้นสูงที่เพิ่มขึ้น
ติดตามบริษัทในกลุ่มสถาบันการเงินที่จะเริ่มประกาศผลประกอบการในสัปดาห์นี้ ซึ่งอาจมีแรงเก็งกำไรในหุ้นที่ตลาดคาดว่ากำไรจะเติบโตดี อาทิ วันพุธ (15 ม.ค.) Citigroup (ตลาดคาด EPS +45% YoY), JPMorgan Chase (คาด EPS +3%) และ Well Fargo (คาด EPS +4%) วันพฤหัสบดี (16 ม.ค.) Bank of America (คาด EPS +11%) และ PNC Financial Services Group (คาด EPS +5%) วันศุกร์ (17 ม.ค.) Truist Financial Corp (คาด EPS +9%) และ Huntington Bancshares (คาด EPS +16%)
นอกจากนี้ ติดตามความคืบหน้าการเจรจาการเกี่ยวกับประเด็นเพดานหนี้ในสหรัฐฯซึ่งก่อน หน้านี้ ทาง Janet Yellen รมว. คลัง ได้ส่งเอกสารถึงสมาชิกสภาคองเกรสเมื่อวันที่ 27 ธ.ค. ว่า อาจต้องใช้มาตรการพิเศษ (Extraordinary measures) อย่างเร็วที่สุดในวันที่ 14 ม.ค. 2568 เพื่อป้องกันไม่ให้สหรัฐฯ เผชิญกับการผิดนัดชำระหนี้ เนื่องจากการระงับใช้เพดานหนี้ (Debt limit suspension) จะสิ้นสุดลงในคืนวันที่ 1 ม.ค. 2568
ทั้งนี้ Yellen ระบุว่า หนี้สาธารณะน่าจะแตะระดับเพดานหนี้ใหม่ระหว่างวันที่ 14-23 ม.ค. ซึ่งในช่วงนั้นทางกระทรวงการคลังจำเป็นต้องเริ่มใช้มาตรการพิเศษ เช่น การหยุดการลงทุนใหม่ในบัญชีเงินบำนาญหรือกองทุนอื่นๆ เพื่อให้มีเงินสดมากขึ้นสำหรับการดำเนินการชำระหนี้ปัจจุบัน หรือการเลื่อนการลงทุนในบัญชีเงินบำนาญของพนักงานรัฐบาลหรือการเงินของกองทุนประกันสังคม เพื่อใช้เงินสดที่มีอยู่ในการชำระหนี้อื่นๆ ก่อน เป็นต้น ซึ่งประเด็นดังกล่าวนับเป็นปัจจัยลบกดดัน Sentiment ของตลาดในช่วงนี้
ทีมกลยุทธ์ฯ มองตลาดหุ้นในระยะข้างหน้ามีความเสี่ยงขาลงมากขึ้นหลังตลาดเริ่ม Sentiment ที่อ่อนตัวลงประกอบกับมีมุมมองกลับมาให้น้ำหนักการดำเนินนโยบายเข้มงวดทางการเงินมากขึ้น ซึ่งจะเพิ่มโอกาสให้ตลาดหุุ้นอาจมีการปรับฐานในระยะถัดไป โดยตลาดหุ้นก่อนหน้านี้มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะใน 2 ปีที่ผ่านมา ดัชนี S&P500 ปรับตัวมากที่สุด (+24%ในปี 2566 และ +23% ในปี 2567) นับตั้งแต่ปี 2471 (ซึ่งเป็นปีก่อนเกิด Great Depression) แม้การปรับตัวเพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งมาจากการเติบโตของกำไรบริษัทจดทะเบียน
อย่างไรก็ตาม ดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงกว่าการเติบโตของกำไรสะท้อนความคาดหวังของนักลงทุนต่อกำไรในอนาคตของบริษัทจดทะเบียนที่สูงประกอบกับความไม่แน่นอนด้านนโยบายของ Trump (เข้าพิธีสาบานตน 20 ม.ค.) โดยเฉพาะความรวดเร็วและความเข้มงวดในการปรับขึ้นกำแพงภาษีทั้งกับจีนและประเทศคู่ค้าอื่นๆ รวมทั้งความเสี่ยงที่แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของ Fed อาจไม่มีการผ่อนคลายเพิ่มเติมหรืออาจมีการกลับมาเข้มงวดมากขึ้น ซึ่งถ้อยแถลงในการประชุมครั้งถัดไปของ Fed มีความสำคัญ (28-29 ม.ค.)
ดังนั้น เฝ้าระวังความผันผวนต่อตลาดหุ้นที่จะมากขึ้นในช่วงที่บริษัทได้เริ่มทยอยประกาศผลประกอบการไตรมาสล่าสุด