รีเซต

ยานโอดิสซิอุส (Odysseus) ของสหรัฐฯ ลงจอดบนดวงจันทร์สำเร็จครั้งแรกในรอบ 52 ปี

ยานโอดิสซิอุส (Odysseus) ของสหรัฐฯ ลงจอดบนดวงจันทร์สำเร็จครั้งแรกในรอบ 52 ปี
TNN ช่อง16
23 กุมภาพันธ์ 2567 ( 07:49 )
57

เช้าตรู่ของวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ตามเวลาในประเทศไทย ยานอวกาศโอดิสซิอุส (Odysseus) ของสหรัฐอเมริกาลงจอดบนดวงจันทร์ได้สำเร็จ นับเป็นการลงจอดบนดวงจันทร์ครั้งแรกของสหรัฐอเมริกาในรอบ 52 ปี นับจากปี ค.ศ. 1972 ในภารกิจอพอลโล-17 (Apollo-17) และเป็นยานอวกาศจากบริษัทเอกชนลำแรกของโลกที่ลงจอดบนดวงจันทร์ได้สำเร็จ


ยานอวกาศโอดิสซิอุส (Odysseus) ในภารกิจไอเอ็ม-วัน (IM-1) หรือ CLPS-2 เดินทางออกจากโลกเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยใช้จรวดฟัลคอน 9 (Falcon 9) ของบริษัท สเปซเอ็กซ์ (SpaceX) ปล่อยออกจากฐานปล่อยจรวดในศูนย์อวกาศเคนเนดี ในรัฐฟลอริดา บริเวณชายฝั่งทางตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐอเมริกา


หลังจากยานอวกาศโอดิสซิอุส (Odysseus) ใช้เวลาเดินทางไปดวงจันทร์ประมาณ 6 วัน ยานได้ลงจอดบนดวงจันทร์บริเวณหลุมอุกกาบาตมาลาเพิร์ต เอ (Malapert A) ห่างจากขั้วใต้ของดวงจันทร์ 300 เมตร โดยใช้แสงเลเซอร์ในการค้นหาตำแหน่งการลงจอดที่เหมาะสม ก่อนติดเครื่องยนต์เพื่อชะลอความเร็วของยานเพื่อการลงจอดที่นุ่มนวล


ภายหลังการลงจอดยานโอดิสซิอุส (Odysseus) ขาดการติดต่อกับโลกในช่วงเวลาสั้น ๆ ประมาณ 15-30 นาที ก่อนที่ยานจะกลับมาสื่อสารกับสถานีบนโลกเพื่อยืนยันการลงจอดสำเร็จ


ยานอวกาศโอดิสซิอุส (Odysseus) พัฒนาโดยบริษัท อินทูอิทีฟ แมชชีนส์ (Intuitive Machines) โครงสร้างของยานมีขนาดเท่ากับตู้โทรศัพท์สาธารณะ ความสูง 4.3 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 1.57 เมตร และมีมวลรวม 675 กิโลกรัม เป็นยานอวกาศแบบไร้นักบินอวกาศบนยาน ติดตั้งอุปกรณ์ทดลองจากนาซา มหาวิทยาลัยและหน่วยงานอื่น ๆ รวม 12 ชิ้น


ตัวอย่างอุปกรณ์ที่ติดตั้งไว้บนยานอวกาศลำนี้ เช่น ระบบการนำทางดอปเปลอร์ ไลดาร์ (Doppler Lidar), กล้องสเตอริโอสำหรับการศึกษาพื้นผิวดวงจันทร์, อุปกรณ์สำรวจจากมหาวิทยาลัยรัฐลุยเซียนา, ดาวเทียมขนาดเล็กจากมหาวิทยาลัยการบินเอ็มบรี-ริดเดิ้ล และอุปกรณ์สังเกตการณ์คลื่นวิทยุที่พื้นผิวดวงจันทร์ ซึ่งนาซาได้พัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยโคโลราโด โบลเดอร์


ยานอวกาศลำนี้ถูกออกแบบให้ปฏิบัติภารกิจหลังจากลงจอดได้ประมาณ 7-14 วัน หรือจนกว่าที่ดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้า ณ จุดลงจอด เนื่องจากมันไม่ได้ถูกออกแบบให้มีพลังงานเพียงพอที่จะทำภารกิจในช่วงที่บริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์ไม่ได้รับแสงจากดวงอาทิตย์


คาดว่าข้อมูลอันล้ำค่าที่ได้จากภารกิจยานอวกาศโอดิสซิอุส (Odysseus) นาซาจะนำไปใช้เพื่อปูทางไปสู่ภารกิจ Artemis 3 การนำมนุษย์อวกาศไปเหยียบบริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์ในปี 2026 และเพื่อการตั้งสถานีสำรวจระยะยาวบนพื้นผิวดวงจันทร์ในอนาคต


สำหรับยานอวกาศโอดิสซิอุส (Odysseus) เป็นส่วนหนึ่งของโครงการคอมเมอร์เชียล ลูนาร์ เพย์โหลด เซอร์วิส (Commercial Lunar Payload Services) หรือ ซีแอลพีเอส (CLPS) ที่นาซาทำร่วมกับบริษัทเอกชน นับเป็นภารกิจที่ 2 ของโครงการนี้หลังจากเดือนมกราคมที่ผ่านมายานเพเรกริน (Peregrine) ในภารกิจ CLPS-1 ลงจอดบนดวงจันทร์ไม่สำเร็จ


ที่มาของข้อมูล

Wikipedia.org, CNN, NBC News, Yahoo 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง